วิธีการเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้น

การเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้างานเพราะถูกแต่งตั้งมา หรือถูกจ้างให้รับตำแหน่ง “ผู้จัดการ” (Manager) ขึ้นไป คงทราบดีอยู่แล้วว่าการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น จะต้องมี “ความเป็นผู้นำ” (Leadership) เปรียบได้กับหัวหน้าหมู่ที่นำกองกำลังรบ หรือโค้ชฟุตบอลที่นอกจากวางแผนการเล่นให้กับทีม ยังต้องกระตุ้นทีมให้มีใจสู้ ไม่ยอมแพ้จนตัวตาย (ว่าไปโน่นเลย ฮา)

คุณคงเคยเห็นบทความที่พูดถึงความแตกต่างของการเป็นแค่ “หัวหน้า” (Boss) กับ “ผู้นำ” (Leader) ซึ่งลักษณะงานเหมือนกัน แต่ตั้งอยู่บนทัศนคติที่แตกต่างกัน ผมจึงหยิบยกรูปตัวอย่างมาฝากตามด้านล่างครับ

ที่มา: https://www.linkedin.com/pulse/why-boss-vs-leader-comparison-wrong-jeremy-francis/

จากภาพที่เห็นคงอธิบายแนวคิดของการเป้นผู้นำที่ดี ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพการทำงานยุคใหม่มากกว่า ส่วนการประพฤติปฎิบัติแบบหัวหน้างานยุคเก่า ที่เอาแต่สั่งๆ ใช้อำนาจเกินพอดี จะส่งผลให้คุณเป็นหัวหน้างานที่ล้มเหลวมากกว่า แถมยังคุมเด็กยุคใหม่ไม่ได้อีกด้วย

ผมจึงขอแชร์แนวคิดจากตัวผมเองที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากทัศนคติการเป็นผู้นำที่ดี เป็นการพัฒนาทักษะความคิดในตัวคุณล้วนๆ เพื่อให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้น ตามนี้เลยครับ

1. ทำความเข้าใจเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของทีมงานแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง

ตั้งแต่เริ่มทำงานด้วยกันมา คุณเคยซักครั้งไหมครับที่เข้าไปถามลูกน้องของคุณเกี่ยวกับเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาว่าอยากมีอะไร อยากทำอะไร อยากประสบความสำเร็จมากแค่ไหน คำถามนี้สำคัญมากนะครับ เพราะผมมั่นใจว่าลูกทีมแต่ละคนย่อมตอบคำถามที่ไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าอยากได้ค่าคอมฯ เยอะๆ บางคนอยากก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหาร บางคนต้องการทำงานอย่างมั่นคง บางคนอยากออกไปเปิดกิจการเป็นของต้นเอง ฯลฯ ผมเชื่อว่าหัวหน้างานหลายคนมักไม่เคยถามลูกน้องของคุณแน่ๆ

สาเหตุที่ต้องถามแบบนี้ เป็นเพราะว่าคุณจะได้รับรู้เป้าหมายของพวกเขาที่ชัดเจน จากนั้นคุณจะเข้าใจและปรับการฝึกฝนหรือโค้ชชิ่งให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด บางคนต้องการเป้าหมายระยะสั้น เช่น อยากได้ค่าคอมฯ 100% ภายใน 3 เดือน คุณก็จะได้ให้โปรแกรมกิจกรรมการขายที่ทำให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายได้ หรือคนที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการในอนาคต คุณจะได้ให้โปรแกรมในการฝึกเป็นผู้นำ สร้างทีม และควบคุมทีมให้เป็นได้ก่อนที่พวกเขาจะออกไปทำกิจการ เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณยังจะสามารถมองเห็นทัศนคติ จุดเด่น จุดด้อย ที่คุณสามารถหาสิ่งใหม่ๆ มาพัฒนาทักษะการทำงานของพวกเขาให้บรรลุความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกน้องเคารพนับถือคุณมากขึ้น มีความไว้วางใจแก่กันและกันมากยิ่งขึ้น ให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกับคุณได้ดีขึ้น

2. รู้ตัวว่าตนเองนั้นรู้อะไรและไม่รู้อะไร

แน่นอนว่าถึงตรงนี้คุณได้เป็นหัวหน้างานเรียบร้อยแล้ว แต่การเป็นหัวหน้างานนั้นไม่ได้หมายความว่า “คุณจะต้องรู้ไปซะทุกเรือง” ทำตัวเสมือนว่ารู้ไปหมด (ทั้งๆ ที่ไม่รู้) เพราะกลัวเสียฟอร์มต่อหน้าลูกค้า ทั้งๆ ที่การปิดบังเรื่องที่ตัวเองไม่รู้นี่แหละจะทำให้คุณ “ปล่อยไก่” และเสียเครดิตจากลูกน้องไปซะงั้น สิ่งที่คุณควรทำคือเข้าใจว่าตัวเองไม่รู้เรื่องอะไร ยอมรับว่าตัวเองทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ลูกน้องเข้ามาถามคุณ แต่คุณตอบไม่ได้ ไม่ผิดที่คุณจะบอกว่าไม่รู้ ดีกว่าการแถและพูดมั่วๆ ว่าคุณรู้ไปหมด เป็นต้น

การรู้ตัวว่าตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรจะทำให้คุณสามารถเปิดใจในการถามลูกน้องที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ได้ อย่าคิดมากว่าตัวเองจะเสียฟอร์มต่อหน้าลูกน้อง กลัวโดนคนอื่นหาว่าโง่ ไม่ได้เรื่อง แต่การถามลูกน้องในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้นี่แหละ กลายเป็นผลบวกในการส่งเสริมให้ลูกน้องมีความมั่นใจและกล้าแสดงออกมากขึ้น ในระยะยาวจะส่งผลให้พวกเขาอยากที่จะช่วยคุณมากยิ่งขึ้น เพราะคุณให้เกียรติพวกเขาอย่างเท่าเทียมกันด้วยคำถามที่คุณไม่รู้นั่นเอง

3. จ้างคนที่เก่งกว่าคุณซะ

เป็นวิธีการที่คาดไม่ถึงและยอดเยี่ยม คุณไม่มีทางอยู่ค้ำฟ้า เก่งคงกระพันไปตลอด การรู้ตัวเองว่ามีจุดอ่อนในด้านไหน หรือเหนื่อยล้าจากการเป็นนักขายมานานแสนนาน การจ้างคนที่คุณมองเห็นว่ามีอะไรที่เหนือของคุณจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณทำงานได้สบายขึ้น เปรียบเสมือน “เล่าปี่” ที่ไม่จำเป็นต้องรบเก่งแต่ก็มากด้วยบารมี มีนักรบฝีมือฉกาจพร้อมที่จะสู้เพื่อเขาจนตัวตาย การจ้างคนที่เก่งกว่าคุณโดยที่คุณเป็นหัวหน้างานที่ให้โอกาสเขาโชว์ฟอร์มอย่างเต็มที่ จะส่งผลเชิงบวกโดยเฉพาะการเติบโตด้านธุรกิจหรือยอดขายอย่างที่คุณคาดไม่ถึงเลยล่ะครับ

4. เพิ่มอิสระในการทำงานกับลูกน้องของคุณ

การเป็นเจ้านายยุคเก่าทีจู้จี้หรือเข้าไปแทรกแซงการทำงานของลูกน้องมากเกินไป (Micromanagement) เพิ่มขั้นตอนการทำงานให้มีความยุ่งยากมากขึ้น เช่น ทำอะไรก็ต้องส่งให้คุณดูก่อน คุณต้องเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายทุกเรื่อง การสร้างระบบหยุมหยิม ฯลฯ จะทำให้ลูกน้องทำงานอย่างไม่มีความสุข จงให้อิสระและอำนาจแก่พวกเขาตามสมควร ลองให้เขาฝึกตัดสินใจด้วยตนเอง ถ้ามีข้อผิดพลาดก็ไม่ต้องกังวลเพราะคุณจะช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหาได้ตามสมควร สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกน้องมีความสุขและเชื่อมั่นคุณมากยิ่งขึ้น

ผมขอฝากแนวคิดที่สามารถปฎิบัติตามได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ซึ่งเหมาะสำหรับหัวหน้างานหรือผู้นำทุกคนครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น