วิธีสัมภาษณ์งานที่ใครๆ ก็ต้องการตัว

ชั่วโมงนี้หรือชั่วโมงไหนก็ตาม ทุกธุรกิจยกเว้นการบิน โรงแรม ฯลฯ ก็ยังมีการรับพนักงานใหม่อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะโควิดหรือไม่โควิดก็ช่าง คนที่เหมาะสมกับบริษัทคือคนที่ใครๆ ก็ต้องการตัวอยู่ดีครับ 

ตอนนี้ขอบอกเลยว่าการหางานในชั่วโมงนี้นั้นยากจริงๆ โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ ถ้าโปรไฟล์ไม่เจ๋งจริงหรือการสัมภาษณ์งานไม่ทำให้ผู้ว่าจ้างประทับใจ ขอบอกเลยว่าแทบจะปิดประตูแพ้ทันที

ผมจึงขอแชร์โพยสัมภาษณ์งานจากประสบการณ์ของนักขายขั้นเทพที่ขายตัวเองก็ได้ ขายสินค้าระดับ 10 ล้าน 100 ล้านก็ไม่หวั่น ที่ทำให้คุณไร้พ่าย สร้างความประทับใจแก่ผู้สัมภาษณ์จนทำให้ผู้สัมภาษณ์หนักใจว่าจะเลือกคนไหนดี (ฮา) พูดง่ายๆ คือทำให้คุณมีดีกรีมากพอจนพวกเขาต้องเลือกคุณในที่สุดครับ

1. เรซูเม่ต้องเทพและน่าเชื่อถือ

สั้นๆ คือใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด โปรไฟล์ทุกอย่างต้องมีข้อมูลใน LinkedIn เพื่อให้ Head Hunter เข้ามาเจอ บรรยายสรรพคุณที่ดีที่ตัวเองมี และอย่าลงอะไรที่มันทำให้คุณดูอ่อนหัด วิธีที่ง่ายที่สุดคือการ “Copy” แนวทางการเขียนเรซูเม่จากคนที่ทำงานบริษัทระดับโลก โดยคุณสามารถเข้าไปส่อง LinkedIn ว่าเขาเขียนเรื่อง Experiences หรือ Summary อย่างไร เช่น คนทำงาน Google, Facebook, Amazon, etc ที่เป็นคนไทยและโปรไฟล์ดี รับรองว่าเรซูเม่คุณจะดูเป็นมืออาชีพได้อย่างแน่นอน

2. ควรเขียน Cover Letter หรือ Executive Summary ในเรซูเม่เพื่อเย้ายวนบริษัทต่างๆ 

ถ้าคุณโปรไฟล์ไม่ได้เทพจนโม้ได้อย่างการจบมอดังหรือเกรดเฉลี่ยระดับเกียรตินิยม มีอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้คัดเลือกโดยเฉพาะฝ่าย HR ให้ความสนใจกับคุณระดับเดียวกับเด็กมอดังก็คือการเขียนเกี่ยวกับ “Passion” ว่าคุณมีเป้าหมายอย่างไรและทำไมคุณถึงอยากทำงานกับบริษัทนี้ รายละเอียดที่ควรมีคือ

– การแนะนำตัวว่าคุณเป็นใคร จุดเด่นคืออะไร ทำงานอะไรมาก่อน

– ทำไมคุณถึงปรารถนากับงานนี้และคุณมีความสามารถอะไรที่ตอบโจทย์

– ความกระหายและความทะเยอทะยานในชีวิต

– ความสามารถในการเรียนรู้ที่รวดเร็วและใฝรู้

– ความเคารพคนโปรไฟล์ดีและอยากเรียนรู้จากคนเก่งถึงแม้ว่าคุณจะโปรไฟล์ไม่ดีมาก่อน

รับรองว่าตอนส่งไฟล์นี้แนบเรซูเม่ ฝ่าย HR หรือ Line Manager ที่จะหาคนใหม่ย่อมสนใจในตัวคุณครับ

3. เมื่อได้รับการสัมภาษณ์งาน จงทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งก่อนเสมอ

ทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทผู้สัมภาษณ์ ไปจนถึงผู้สัมภาษณ์ถ้าคุณรู้ข้อมูลว่าต้องสัมภาษณ์กับใครบ้างให้ละเอียด ด้วยการสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซท์ ข่าวสาร เฟซบุ้คส่วนตัวของผู้สัมภาษณ์ ฯลฯ เพื่อให้ทราบสิ่งหลักๆ ว่าบริษัทที่คุณคุยนั้นทำอะไร ขายอะไร ขายใคร เป้าหมายของบริษัทคืออะไร สิ่งนี้ยังไงคุณมีแนวโน้มถูกถามแน่ๆ ครับ ผู้สัมภาษณ์ย่อมประทับใจและเชื่อไหมว่าผู้สมัครส่วนใหญ่ที่เป็นคู่แข่งคุณมักไม่ทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทต้นสังกัดเท่าไหร่ครับ โดยเฉพาะเหล่าเด็กจบใหม่ที่ยังอ่อนอยู่ คุณจึงได้เปรียบในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

4. โพยคำถามสัมภาษณ์งาน มีคร่าวๆ ดังนี้ 

“่ช่วยเล่าเรื่องของคุณให้ผมฟังหน่อย”

เป็นคำถามเปิดหัวเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ได้เล่าการทำงานและตัวตนที่ผ่านมา ผู้จัดการที่ดีจะต้องเล่าวิธีการทำงาน ความสำเร็จ ความท้าทายในเนื้องาน และประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ทักษะการเล่าที่ดีก็ถือว่าคนนี้มีทัศนคติและวิธีการทำงานที่ไม่เลวครับ 

 “ทำไมคุณถึงเลือกมาทำงานตำแหน่งนี้”

ไม่ได้ถือว่าแปลกถ้าถามคำถามนี้กับคุณ เพราะคำตอบที่พวกเขาบอกจะแสดงตัวตนว่าทำไมถึงคิดที่จะไปต่อให้ไกลขึ้นในสายงาน ถ้าพวกเขาตอบว่าเพราะมันเป็นงานที่สนุก มีทักษะคล้ายๆ กับการเป็นเจ้าของกิจการ ต้องการประสบความสำเร็จและทำมากได้มาก เป็นคำตอบเชิงบวก อะไรทำนองนี้จะเป็นคำตอบที่ดี

“คุณคิดอย่างไรกับงานที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูล”

นี่คือคำถามที่เอาไว้แยกแยะมือสมัครเล่นกับมืออาชีพได้เลย ข้อมูลที่เหล่าผู้จัดการเอาไว้ใช้วิเคราะห์ขั้นพื้นฐานที่สุดก็คือ “รายงานการขาย” นั่นเอง เช่น ผู้สัมภาษณ์บอกว่าการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานการขายนั้นมีประโยชน์มาก อย่างการดูรายงานการขายของลูกน้องบางคนที่ตัวเลขไม่ค่อยมีและมองเห็นว่าปัญหามาจากการขาดกิจกรรมการทำนัดกับติดตามงาน จึงนำข้อมูลนี้มาบอกเหล่าพนักงานขายให้ปรับปรุงกิจกรรมการทำงานให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น หรือใช้วิเคราะห์ว่ารายชื่อสินค้าและบริการที่ขายมากที่สุดคืออะไร ใครคือลูกค้าดีเด่น

“คุณคิดว่าอะไรคือทักษะและความสามารถที่ประสบความสำเร็จ”

คุณต้องการคำตอบนี้เพื่อให้พวกเขาได้พูดว่าคนทำงานที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติและความสามารถอย่างไร เพื่อให้พวกเขาทำหน้าที่แทนคุณในการคัดลูกทีมที่เก่งกาจเข้ามาล่าเงินในหน่วยของพวกเขา ทักษะที่สำคัญไม่ใช่แค่เรื่องหน้าตา พูดเก่ง มนุษยสัมพันธ์ดี อะไรทำนองนั้น แต่มันต้องเป็นทักษะมืออาชีพ เช่น วินัย กิจกรรม การติดตามงาน การเป็นที่ปรึกษา ความเชี่ยวชาญ ฯลฯ ต่างหาก 

“กระบวนการทำงานที่ประสบความสำเร็จในหัวคุณเป็นอย่างไร”

คำถามนี้จะแยกคนที่เข้าใจระบบกับไม่เข้าใจระบบการทำงาน กระบวนการทำงาน ที่ดีจะต้องเป็นการทำงานในรูปแบบที่วัดผลได้ทั้งหมด

5. อย่าขี้โม้หรือพูดอะไรที่มันทำไม่ได้จริง 

โม้เกินไปได้งานก็ทำไม่ได้ หรือเผลอๆ โดนจับได้ว่าขี้โม้จนน่าหมั่นใส้ก็ไม่เวิร์ก อย่าพูดเยอะเกินไป พูดเนื้อๆ ก็พอ และอะไรที่ทำไม่ได้เมื่อถูกถามก็บอกไปเลยว่าทำไม่ได้จะดูมีความจริงใจมากกว่าครับ พยายามตอบอะไรที่ทำให้ธุรกิจของผู้สัมภาษณ์ได้ประโยชน์และคุณทำได้จริงจนเห็นภาพครับ

6. ผลงานที่ผ่านมากับบริษัทเก่าคือสิ่งที่จับต้องได้และน่าเชื่อถือสูงสุด

ถ้าคุณมีประสบการณ์มาก่อน คุณจัดเต็มกับผลงานอันยอดเยี่ยมซึ่งคุณกล้าพอที่จะให้พวกเขาเช็คข้อมูลจากต้นสังกัดหรือนำโปรเจคที่เคยทำมากางให้ผู้สัมภาษณ์ดูได้เลยว่าคุณเจ๋งแค่ไหน สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้คุณโม้ได้สูงสุด ใครๆ ก็เชื่อถือเพราะมันคือเรื่องจริง นี่คือทักษะการขายตัวเองขั้นสูงซึ่งถ้ามีแหล่งข้อมูลอ้างอิงและเป็นผลงานชั้นเยี่ยม มูลค่าสูง มีความยากและสลับซับซ้อน เผลอๆ คุณแทบไม่ต้องพูดเยอะเลยล่ะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น