สิ่งที่เจ้าของกิจการควรทำในช่วงก่อตั้งธุรกิจ

การเป็นเจ้าของกิจการ ถือว่าเป็นความฝันของใครหลายๆ คนที่อยากเป็นเศรษฐี โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย หรือว่าบ้านรวยอยู่แล้วแต่ก็อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง

คนรุ่นใหม่จึงมีแนวโน้มที่อยากเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็ก “Gen-Z” (อายุตั้งแต่ 25 ปีลงมา) พวกเขามีความกระหายมากกว่า “คน Gen-Y” อย่างพวกผมอีกครับ

คุณจึงเห็นธุรกิจหลากหลายรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคออนไลน์แบบนี้ เช่น แม่ค้าออนไลน์ เน็ตไอดอล ยูทูเบอร์ (Youtuber) บล็อกเกอร์ (Blogger) นอกจากนี้ก็ยังเห็นธุรกิจทั่วไปที่ใส่ไอเดียซึ่งสามารถสร้างกระแสบนโซเชี่ยลมีเดีย ดังเพียงชั่วข้ามคืนอีกด้วย เช่น ร้านขายหอยที่เอาคนแต่งตัวเป็นเพศที่สามมาเต้น ร้านขายบะหมี่ที่ใช้นางแบบสุดเซ็กซี่มายืนลวกเส้นให้คุณ จนเกิดกระแสบนโลกออนไลน์ เป็นต้น

ธุรกิจแบบองค์กร (B2B) เองก็เช่นเดียวกัน อาจจะดูเงียบๆ ในโลกออนไลน์ แต่ไอเดียใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องกู้เงินเป็นร้อยล้านมาสร้างโรงงานแบบคนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว นวัตกรรมดีๆ ที่ใช้ต้นทุนน้อยแต่ใช้กำลังสมองเยอะ เช่น ธุรกิจซอฟท์แวร์ สตาร์ทอัพแบบ B2B เทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งบางธุรกิจสามารถระดมทุนได้หลักพันล้านบาทเลยทีเดียว (แต่ไม่มากหรอกครับ อย่างพึ่งตกใจ ฮา)

แน่นอนว่ากระแสของคนรุ่นใหม่แห่กันทำธุรกิจส่วนตัวมากขนาดนี้ อัตราการล้มเหลวหรือ “เจ๊ง” ก็ต้องสูงขึ้นตามเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่แปลกเพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อน เสี่ยงน้อย ผมจึงขอแชร์สิ่งที่พวกคุณควรทำในช่วงเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตนเองเพื่อให้คุณเติบโตได้อย่างยั่งยืนครับ

1. เน้นไปที่การขายให้ได้เงินก่อนเป็นอันดับแรก

เมื่อเริ่มต้นธุรกิจเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านขายของ ร้านอาหาร บริษัท ออนไลน์ ฯลฯ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “กิจกรรมการหาเงิน” เป็นอันดับแรกสุด ทำอะไรก็ได้ที่ได้เงินแบบถูกกฎหมาย ถ้าคุณทำ B2B ก็ต้องออกตลาดไปหาลูกค้าทันที ไปด้วยตนเองนี่แหละครับ ส่วนธุรกิจ B2C ก็ต้องใช้การชักชวนคนรู้จักก่อนเป็นอันดับแรก (เพราะคุณไม่มีเงินทำโฆษณาอยู่) ชวนกันมาซื้อหรือมากินเยอะๆ และทำให้เหล่าคนรู้จักบอกต่อให้ได้ ระยะแรกนี้ก็จะได้เงินมาประทังชีวิตและธุรกิจในระดับหนึ่ง ส่วนงานหลังบ้านเช่น งานหลังการขายต่างๆ ของแถม ระบบไอที ฯลฯ ก็เอาไว้ทำทีหลังก็ได้ เพราะงานหลังบ้านมักจะไม่ได้ทำให้คุณได้เงินในช่วงตั้งไข่นั่นเอง

2. ลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด อะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดออก

ต้นทุนของธุรกิจจะถูกคิดเป็นตัวเลขหมดทุกอย่าง ไล่ตั้งแต่ค่าเช่า ค่าของ เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ค่าโฆษณา ภาษีป้าย ฯลฯ ถือว่าเป็นต้นทุนแทบทั้งหมด ดังนั้นคุณต้องรู้ว่าอะไรก็ตามที่ไม่จำเป็นกับการหาเงินในช่วงแรก คุณก็ไม่ควรเพิ่มภาระในเรื่องนี้ เช่น การจ้างพนักงานมากเกินจำเป็นในช่วงแรก การตกแต่งร้านหรือระบบที่เผาเงินมากเกินไป เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือพอธุรกิจโตขึ้นมาแล้วก็ค่อยๆ ทำก็ได้ นอกจากนี้ งานอะไรก็ตามที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เช่น ร้านกาแฟ คุณทำกาแฟเป็น คุณก็ไม่ต้องเสียเงินจ้างพนักงานทำกาแฟ หรืองานบัญชี ช่วงแรกๆ คงไม่ได้ปวดหัวขนาดนั้น จงลงมือทำเองทั้งหมดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

3. ใส่ใจกับกิจกรรมที่ได้เงินอย่างการตลาด

สำหรับธุรกิจแบบทั่วไป (B2C) เมื่อคุณใช้โควต้าคนรู้จักหมดแล้ว คงหนีไม่พ้นการทำ “กิจกรรมทางการตลาด” (Marketing Activities) นั่นก็คือการทำโฆษณานั่นเอง ยังไงก็หนีไม่พ้นกับเรื่องนี้ เพราะสิ่งนี้คือสิ่งเดียวที่ “ใช้เงินแล้วได้เงิน” ก็คือจ่ายไปก่อนแล้วรอเงินทีหลังนั่นเอง เพียงแต่ให้ทำตามกำลังที่มี งานโฆษณานั้นก็มีหลากหลายตามเครื่องมือในยุคสมัยนี้ เช่น โฆษณาลงเฟซบุ้ค ยูทูป ป้ายหน้าร้าน จัดบูทตามห้าง ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งนั้น เพียงแต่โลกออนไลน์จะได้เปรียบหน่อยก็คือคุณสามารถทำสื่อโฆษณาได้ด้วยตนเองถ้ามีทักษะ เช่น งานตัดต่อวีดีโอจากมือถือ เขียนบทความโฆษณา ลงรูปรีวิว ทำคลิปลงยูทูปโปรโมต ฯลฯ ทำให้ประหยัดเงินได้

4. ลงมือขายของด้วยตนเองสำหรับธุรกิจแบบองค์กร (B2B)

การขายแบบองค์กรในช่วงแรกนั้นไม่จำเป็นต้องเสียเงินให้กับกิจกรรมทางการตลาดเลยแม้แต่บาทเดียว จงใส่ใจกิจกรรมการขายแบบเซลล์ที่ต้องออกตลาดเจอลูกค้าต่อหน้า เพราะลีดของคุณย่อมมีจำกัด ถ้าคุณเป็นเจ้าของ คุณจะต้องออกไปขายด้วยตนเองโดยไม่มีข้อแม้ หรือจะไปกับหุ้นส่วนก็ได้ไม่ว่ากัน งานขายเป็นงานลงแรงล้วนๆ คุณจะเสียเงินแค่ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ และค่าโทรศัพท์เท่านั้น ทุกอย่างที่ทำก็เพื่อเซฟค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานขาย และผมไม่แนะนำให้คุณจ้างพนักงานขายในช่วงแรกครับ เพราะถ้าคุณจ้างแต่ตัวคุณไม่เข้าใจงานขาย ขายไม่เป็น ลูกน้องมีแววว่าจะอยู่ไม่ทนสูงมาก เพราะหัวหน้ามันไม่ได้เรื่องยังไงล่ะครับ จะจ้างตัวเทพก็ยาก เพราะไม่มีตังจ้าง

5. ดูแลลูกค้าด้วยงานบริการหลังการขายด้วยตนเอง

ไม่ใช่ว่าการใส่ใจแต่งานขายและการตลาด แต่ละเลยงานบริการหลังการขายนั้นจะถูกยอมรับได้โดยลูกค้า คุณสามารถลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่ต้องจ้างคนหรือสร้างระบบล้ำเลิศอะไรทั้งนั้น เพียงแต่คุณจะเหนื่อยมากในช่วงแรกเท่านั้น เช่น การโทรหรือเข้าเยี่ยมลูกค้าเพื่อสอบถามความพึงพอใจด้วยตนเอง นอกจากจะได้ใจลูกค้าแล้ว คุณเองในฐานะเจ้าของธุรกิจย่อมมองเห็นมุมมองของลูกค้าที่มีต่อคุณโดยตรง แถมยังได้ความน่าเชื่อถือจากลูกค้าในระยะยาวด้วย ทำให้พวกเขายอมซื้อซ้ำจนคุณมีตัวเลขเข้ากระเป๋าแบบไม่ต้องเหนื่อยมากในภายหลัง

นีคือคำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจในช่วงแรกจากผมครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น