สิ่งที่คุณไม่ควรทำสำหรับการเล่นโซเชี่ยลมีเดีย

การใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดีย โดยเฉพาะ “เฟซบุ้ค” นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคนแล้ว ไม่ว่าใครต่อใครก็จะใช้มันในเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนตัวและคนรอบข้าง รวมถึงการแสวงหาข้อมูล ความรู้ เรื่องที่น่าสนใจได้แค่ปลายนิ้ว

ข้อดีของโซเชี่ยลมีเดียนั้นยาวเป็นกิโลจนแทบจะนับไม่ไหว แต่ “ข้อเสีย” ของการใช้โซเชี่ยลมีเดียแบบผิดวิธีก็นำมาซึ่ง “ภัยคุกคาม” ที่บางครั้งก็เลยเถิดไปถึงเรื่องการงาน ทรัพย์สิน หรือชีวิตกันเลยทีเดียว

ผมเองก็เห็นดราม่าของบุคคลผู้มีชื่อเสียงมาก็มากมาย ซึ่งหลายๆ ครั้งมาจากความผิดพลาดง่ายๆ เช่น การเล่นโซเชี่ยลมีเดียแบบผิดวิธี ใช้อารมณ์ในการสื่อสาร การเหน็บแนมหรือแค่การ “แซะ” แบบลอยๆ ก็นำมาซึ่งความคัดแย้งฉาวโฉ่ระดับประเทศเลยก็มี

ดังนั้นจึงอยากจะขอเตือนชาวเน็ตทุกคนนะครับสำหรับข้อควรระวังในการใช้โซเชี่ยลมีเดียแบบผิดๆ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเลวร้ายขึ้นมาอีกกันครับ

1. หลีกเลี่ยงการ “แซะ” แบบลอยๆ เพื่อเหน็บคนที่คุณไม่ชอบขี้หน้า

คุณอาจจะงงๆ กับคำว่าแซะว่ามีความหมายอะไร การแซะก็คือ การโพสต์ลอยๆ แบบเหมารวมซึ่งลึกๆ แล้วมีเจตนา “เหน็บ” คนที่คุณไม่ชอบขี้หน้าในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว หรืออะไรก็ตามแต่ เพื่อให้คนที่คุณไม่ชอบขี้หน้าเข้ามาเห็นหรืออ่าน เพียงแต่คุณไม่ได้พูดถึงชื่อใครแบบจำเพาะเจาะจงเป็นพิเศษ การแซะมีหลายหลายเรื่องราวโดยเฉพาะสังคมชาวออฟฟิศ เช่น แซะเจ้านาย (ฮา) แซะเพื่อนร่วมงานบางคนที่คุณไม่ชอบขี้หน้า เป็นต้น

คุณอาจจะคิดว่าทำไปเพื่อความสะใจหรือระบายความแค้นโดยมี “กองเชียร์” ที่เป็นผู้หวังดี เช่น เพื่อน แฟน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ เข้ามากดไลค์หรือแสดงความเห็นเชิงสะใจ สนับสนุนคุณ คุณจึงรู้สึกพึงพอใจ ขอบอกเลยนะครับว่า “จงหยุด” การแซะเดี๋ยวนี้เลย เพราะการแซะในเฟซบุ้คเป็นการส่อเจตนาถึง “ความคิดลบๆ” และตื้นเขินในหัวคุณ ทุกสิ่งทุกอย่างในหัวจะถูกกลั่นออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรหลังจากที่คุณกด “Enter” ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อใดที่คนที่คุณเกลียดขี้หน้าเค้ารับรู้ว่าคุณด่าหรือเหน็บเค้าขึ้นมา เมื่อนั้นก็ถึงเวลาโบกมือบ๊ายบายมิตรภาพที่มีต่อกันได้เลยครับ และจะเกิดเป็น “ความเกลียดชัง” ที่จริงๆ แล้วคุณเก็บเรื่องนี้เอาไว้ “นินทา” กับคนใกล้ชิดก็พอแล้ว

2. หลีกเลี่ยงการแซะอะไรก็ตามที่คุณไม่ชอบใจหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดคนอื่น

เรื่องนี้อันตรายมากสำหรับบุคคลที่เริ่มมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคม เป็นบล๊อกเกอร์ เป็นกูรู หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่กำลังทำเพจหรือทำธุรกิจอยู่ เพราะเวลาที่คุณกำลังเข้าใกล้ความสำเร็จไปเรื่อยๆ มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้น เป็นไปได้ว่าคุณกำลังมี “อีโก้” ที่สูงขึ้น อีโก้ที่ว่านี่คือความรู้สึกที่ตัวเองเริ่ม “เหนือกว่า” ผู้อื่น เมื่อเห็นความคิดหรือการกระทำของคนอื่นที่ไม่เข้าท่า เช่น เริ่มดูถูกว่าความคิดของผู้อื่นนั้นไม่ดี เป็นต้น จึงเริ่มโพสต์ลงเฟซบุ้คเชิงบรรยายและเริ่ม “แซะ” แถมยังคิดว่าความคิดของตัวเองนั้นถูก ยิ่งมีกองเชียร์เข้ามาสนับสนุนยิ่งไปกันใหญ่

การโพสต์เชิงดูถูกหรือพาดพิงการกระทำเชิงธุรกิจ ความคิด ของผู้อื่นจะทำให้คุณค่าของตัวคุณ “ดูลบ” ไปเรื่อยๆ ในสายตาของคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับคุณ เพียงแต่กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยจะไม่เสียเวลาไปคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นให้คุณดูเรื่อยๆ ตราบใดที่คุณยังมี “กองเชียร์” คอยสนับสนุนอยู่ แต่เมื่อใดที่คุณเริ่มมีปัญหากับคนที่คุณแซะ โดยเริ่มทำสงครามผ่านโซเชี่ยลมีเดีย เมื่อนั้นคุณเตรียมเสียความนิยมไปได้เลย สิ่งดีๆ ที่คุณทำมาทั้งหมดจะกลายเป็นผลลบทันที ที่สำคัญคือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ถึงแม้สิ่งที่คุณโพสต์นั้นจะถูก เพราะแก่นแท้ของการโพสต์มาจากความคิดที่ “ดูถูก” ผู้อื่นนำขึ้นมาก่อนนั่นเอง

3. งดโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา การเมือง ความขัดแย้งต่างๆ โดยเด็ดขาด

เรื่องของศาสนา การเมืองเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วทำให้เกิดปรากฎการณ์ “Unfriend” กันมาเยอะแล้ว แม้แต่เป็นครอบครัวเดียวกันก็ตาม ยิ่งเพื่อนร่วมงานกันไม่ต้องพูดถึง ถ้าอยู่คนละสี คุณมีแนวโน้มเกลียดขี้หน้ากันเยอะเลย การโพสต์เรื่องการเมือง ศาสนาแบบหัวรุนแรงจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งกับสีตรงข้าม ที่สำคัญคือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เงินเดือนไม่ได้เพิ่มขึ้น ชีวิตไม่ได้สุขสบายขี้น มีแต่เกลียดขี้หน้ากันปล่าวๆ ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรโพสต์เรื่องนี้ตลอดชีวิตก็ดีครับ มีอะไรในใจอยากระบายให้เอาไปพูดกับคนใกล้ตัวด้วยวาจาก็พอแล้ว

4. งดแชร์เรื่องราวที่ไม่ชัวร์ เรื่องงมงาย ไร้สาระ ไม่มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ

เมื่อปีที่แล้วจะมีเว็ปไซท์ประเภท “คลิกเบต” (Click bate) ซึ่งแปลตรงๆ ก็คือเว็ปไซท์ที่ล่อให้คุณกดเข้าไปอ่านนั่นแหละครับ ส่วนใหญ่จะมีหัวเรื่องขึ้นต้นด้วยคำว่า “ตะลึง” “อึ้ง” “คาดไม่ถึง” ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วเนื้อเรื่องกับหัวเรื่องอาจจะไม่มีเนื้อหาตรงกันเลยก็ได้ เว็ปไซท์ทำนองนี้จะไม่มีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือแน่นอน เมื่อคุณกดแชร์ เช่น เรื่องราวมหัศจรรย์บางอย่างเกี่ยวกับสูตรอาหารรักษามะเร็ง (ซึ่งโม้และไม่จริง) ไปให้ชาวบ้านชาวช่องได้รับรู้เพราะ “หวังดี” กลับกลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณถูกมองว่าขาดวิจารณญานในการเล่นอินเทอร์เน็ต บางเรื่องถึงกับทำให้คุณถูกมองว่าเป็น “ไอ้โง่” ที่ไม่รู้จักเช็คและไม่รู้เรื่องรู้ราว เลวร้ายที่สุดคือทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้เลย

5. งดขายของบนเฟซบุ้คแบบฮาร์ดเซลล์และโชว์รวยจนเกินงาม

ยุคนี้เป็นยุคขายของออนไลน์แบบเต็มขั้น ก่อนหน้านี้ก็มีแบรนด์อาหารเสริมยี่ห้อดังที่ถูกจับไปเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงนั้นแม้แต่เพื่อนผมก็เป็นนักขายสินค้าผิดกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งโพสต์ทุกวันจนน่ารำคาญและถึงขั้นต้อง “Unfollow” ไปเลยล่ะครับ การขายของเป็นเรื่องดีแต่ต้องขายสิ่งที่ถูกกฎหมายและอย่าโพสต์มากเกินไป ควรสลับเรื่องราวชีวิตของตัวเองบ้างเพื่อไม่ให้คนอื่นมองว่าคุณ “หน้าเงิน” มีแต่เรื่องขายของอยู่ในหัวอย่างเดียว

การโพสต์อีกอย่างหนึ่งที่ทำมากๆ แล้วจะดูไม่ดี (ถึงแม้จะได้ยอดไลค์ก็ตาม) นั่นก็คือการโชว์รวย “อวดรวย” ซึ่งมีหลายรูปแบบ ที่ง่ายๆ ก็อย่างเช่น โชว์เงินสด โชว์รถที่ขับ โชว์ผลงานว่าไปทำธุรกิจอะไรสำเร็จมาบ้าง ฯลฯ โดยมีการโพสต์ถี่ๆ มากกว่า 1 เรื่องต่อวัน ถ้าปริมาณมากขนาดนี้ คุณมีแนวโน้มว่ากำลังทำธุรกิจบางอย่างที่ต้องการ “คนอื่น” เข้ามาชื่นชมยินดี ทักทาย และเริ่มเข้าหาคุณเพื่อทำให้คุณ “แสวงหา” ผลประโยชน์จากพวกเขาได้ การกระทำทำนองนี้จะทำให้คุณมีมิตรภาพกับคนที่คุณมีผลประโยชน์ด้วยเท่านั้น ส่วนเพื่อนอื่นๆ จะเริ่มหายและรำคาญ

มาช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับโลกออนไลน์ด้วยกันนะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น