เทคนิคการต่อรองเงินเดือนให้ได้ดั่งใจจากเทพแห่งการขาย

ปลายปีช่วงเดือนธันวาคม ช่วงนี้คือฤดูกาลแห่งการเปลี่ยนงานอย่างแท้จริง เป็นช่วงที่เหล่า “แมวมอง” เช่น Head Hunter, Recruiter ฝ่ายบุคคล วิ่งมองหาพนักงานใหม่กันแบบฝุ่นตลบอบอวล

ขนาดผมเองในช่วงนี้ถึงกับมีบริษัทต่างๆ มาจีบผมแบบ “หัวกระไดไม่แห้ง” เลยล่ะครับ ทั้งแบบโทรมาหาหรือส่งข้อความมาจีบผ่านลิ้งก์อิน (LinkedIn) ก็นับว่าสนุกดีครับสำหรับผม จึงค่อนข้างแน่ใจว่าช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่คุณเองอาจจะกำลังสัมภาษณ์งานใหม่และอยู่ในช่วง “ต่อรองเงินเดือน” กันอยู่อย่างแน่นอน

การต่อรองเงินเดือนถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการสัมภาษณ์งาน มันเปรียบได้กับตัวคุณคือสินค้าที่สามารถตั้งราคาตนเองเพื่อให้ลูกค้าซึ่งก็คือนายจ้างคนใหม่เป็นผู้ซื้อ ถือว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการสัมภาษณ์งานเลยก็ว่าได้ แถมยังเป็นช่วง “วัดใจ” ของอนาคตการทำงานคุณเลยด้วยซ้ำ

เพราะเรียกน้อยไปก็ต้องยอมรับสภาพเงินเดือนที่อาจจะไม่พอใจนัก (อย่างน้อยๆ ก็ 1 ปีเลยล่ะ) หรือถ้าเรียกมากไปก็กลัวนายจ้างคนใหม่จะไม่เอาเพราะเป็นบริษัทในฝันและมีผู้สัมภาษณ์คนอื่นๆ เป็นคู่แข่งคุณเลยด้วยซ้ำ

ผมจึงมีเทคนิคการต่อรองเงินเดือนขั้นเทพจากผมเองซึ่งเป็นนักขายมืออาชีพ แถมยังเป็นผู้บริหารระดับสูงที่รู้โครงสร้างการตั้งเงินเดือนอีกต่างหาก เทคนิคที่ผมจะแชร์ให้ฟังจะทำให้คุณเป็นนักเจรจาต่อรองและได้รับผลประโยชน์เรื่องเงินเดือนแบบวิน-วิน ทุกฝ่ายจากผมครับ


1. ประเมินค่าตัวของตนเองก่อนเสมอ

ควรทำการบ้านก่อนไปสัมภาษณ์งานและเข้าสู่ช่วงเรียกเงินเดือนก่อนเสมอด้วยการประเมินค่าตัวของตนเองที่เป็นไปได้จริงแบบไม่เพ้อเจ้อ ดังนี้

– เงินเดือนของที่ทำงานปัจจุบันของคุณ (ค่าตัวปัจจุบัน)

– วุฒิการศึกษา (ยิ่งระดับสูงก็ยิ่งอัพค่าตัวได้เพิ่มขึ้น)

– สถาบันที่จบมา (ยิ่งมหาลัยดังก็ยิ่งเรียกค่าตัวได้ง่ายขึ้น)

– ประสบการณ์ (มีประวัติจากบริษัทชื่อดังมักเรียกค่าตัวเพิ่มง่ายขึ้น)

**ผลงานที่ผ่านมา (ยิ่งมีมากก็ยิ่งอัพค่าตัวได้เหนือข้างบนที่กล่าวมา)

ถ้าคุณเป็นเด็กจบใหม่ สถาบันที่จบมากับวุฒิที่ได้มาจะเป็นตัวกำหนดค่าตัวได้ง่ายที่สุด แต่ก็ไม่ได้สูงมากเวอร์อย่างที่คิด เปรียบได้กับนักฟุตบอลฝึกหัดแต่เป็นดาวรุ่งพรสวรรค์ ส่วนคนที่มีประสบการณ์ ถ้าคุณมีผลงานโดดเด่นกับบริษัทชื่อดังก็ยิ่งเรียกค่าตัวได้มากกว่า เปรียบได้กับนักฟุตบอลที่คว้าถ้วยมาจากทีมชั้นนำมาแล้ว

2. ทำการบ้านเกี่ยวกับองค์กรที่คุณไปสัมภาษณ์งานเพื่อประเมินโครงสร้างเงินเดือน

ปกติแล้วบริษัทที่มีมาตรฐานระดับหนึ่งขึ้นไปจนถึงบริษัทข้ามชาติระดับโลกมักมีโครงสร้างเงินเดือนแบ่งออกเป็นตามตำแหน่งอยู่แล้ว ตำแหน่งที่คุณสมัครงานหรือถูกเรียกให้มาสัมภาษณ์งานจะบ่งบอกเงินเดือนที่คุณจะได้รับคร่าวๆ องค์กรเหล่านี้จะประเมินค่าตัวพนังานทุกระดับตาม “ราคาตลาด” ซึ่งจะมีฐานเงินเดือนกลางที่คุณลองเอามาดูอ้างอิงได้จากลิ้งก์นี้ครับ คลิก: https://adecco.co.th/th/knowledge-center/category/salary-guide ทำให้คุณพอรู้ตัวว่าจะเรียกค่าตัวได้เพิ่มอีกเท่าไหร่

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันคุณทำตำแหน่งระดับโอเปอเรชั่นฝ่ายไอทีและได้ถูกเรียกสัมภาษณ์งานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายไอที ซึ่งจากคู่มือฐานเงินเดือนระดับผู้จัดการมีค่าตัวประมาณ 50,000 โดยปัจจุบันคุณได้รับเงินเดือน 35,000 พร้อมประสบการณ์ 2-3 ปี การเรียกค่าตัว 50,000 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จึงเป็นไปได้เพราะสอดคล้องกับฐานเงินเดือนของตลาดนั่นเอง

3. เมื่อเข้าสู่ช่วงต่อรองเงินเดือน จงเป็นฝ่ายชิงความได้เปรียบการเจรจาก่อนเสมอ

นักขายหรือนักธุรกิจขั้นเทพจะไม่ทำตัวเองให้เสียเปรียบการต่อรอง คุณเองสามารถใช้เทคนิคนี้ได้เมื่อผู้ว่าจ้างหรือฝ่ายบุคคลถามคุณว่าต้องการเงินเดือนเท่าไหร่ จงเป็นฝ่ายถามพวกเขากลับว่าตำแหน่งที่คุณจะได้ทำมีเพดานเงินเดือนประมาณเท่าไหร่ จงฟังสิ่งที่พวกเขาคายข้อมูลออกมาดีๆ บางแห่งบอกชัดเจนว่ามีฐานเท่านั้น เท่านี้ หรือบางคนก็ไม่บอกแล้วกวนตีนคุณกลับ ถ้าพวกเขาคายออกมาเป็นนัยๆ เช่น ให้เป็นช่วงฐานเงินเดือน เช่น 50,000-70,000 แสดงว่าเพดานสูงสุดคือ 70,000 และจงเช็คฐานเงินเดือนในตลาดว่าตำแหน่งนี้ทั่วๆ ไปมีราคา 70,000 หรือสูงกว่านั้น ถ้าพวกเขาพูดจริง คุณจะมีสิทธิ์เรียกได้ถึง 75,000 เพื่อให้ต่อมาที่ 70,000 ไงล่ะ

4. ถ้าเป็นไปได้จงต่อรองเงินเดือนกับหัวหน้าตัวจริงที่มีตำแหน่งใหญ่โตเอาไว้ก่อน

พยายามหลีกเลี่ยงการต่อรองเงินเดือนกับฝ่ายบุคคล องค์กรมาตรฐานจะให้หัวหน้าตัวจริงของคุณ (Hiring Manager) เข้ามาร่วมสัมภาษณ์ด้วย เมื่อพูดคุยเสร็จแล้วถ้าว่าที่นายคุณไม่ได้พูดเรื่องเงิน จงชิงเดินเกมถามพวกเขาก่อนเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือน และจงพยายามจบการเจรจาให้สิ้นสุดต่อหน้า Hiring Manager โดยเฉพาะระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือ CEO ให้ได้ เพราะพวกเขามีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบุคคลนั่นเอง ฝ่ายบุคคลไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดงบประมาณหรือค่าตัวในการจ้างคนเข้าองค์กร และก่อนว่าจ้างใครก็ตาม แผนกในองค์กรจะมีงบประมาณเพิ่มคนกันเองอยู่แล้ว ฝ่ายบุคคลจึงไม่สามารถคัดค้านอะไรได้ถึงแม้ว่าคุณจะเรียกเงินเดือนสูงก็ตาม

5. ถ้าคุณไม่ได้เป็นฝ่ายส่งใบสมัครไปหาพวกเขาก่อน จงเรียกค่าตัว 2-3 เท่าเสมอ

นี่คือวิธีปีนข้ามกำแพงเงินเดือนหลักแสนกันตั้งแต่ไม่ถึง 30 แบบเทพๆ และไม่ใช่วิธีย้ายบริษัทหลายๆ ที่เพื่ออัพค่าตัวแน่นอน ถ้าคุณถูกจีบโดยอีกบริษัทนึงเป็นผู้ติดต่อมาหรือว่ามี Head Hunter, Recruiter ติดต่อให้คุณไปสัมภาษณ์งานกับลูกค้าของพวกเขา เนื่องจากคุณไม่ได้เดือดร้อนอะไรจากที่เก่าหรืออยากเปลี่ยนงาน คุณจึงมีสิทธิ์เรียกค่าตัวให้หนักเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่มีข้อแม้ว่าผลงานในปัจจุบันของคุณต้องเจ๋งมากพอ เช่น คุณเป็นฝ่ายขาย คุณบอกพวกเขาว่าคุณทำยอดขาย 100% ติดต่อกัน 12 เดือน คุณจึงคู่ควรและมั่นใจว่าไปทำที่ไหนก็จะทำให้ได้ 100% ในทุกๆ ที่ เป็น พูดมาขนาดนี้มีหรือใครจะไม่เอาคุณครับ กี่เท่าก็ยอมจ่าย

6. จงรู้ไว้ว่าถ้าพวกเขาอยากได้คุณ วัดใจเรียกค่าเหนื่อยให้แพงไปเลย ยังไงพวกเขาก็ขอต่อราคา

คุณเองคือสินค้า ลูกค้าส่วนใหญ่ถ้าอยากได้สินค้ามากๆ แต่ติดว่าราคาแพงไป พวกเขาจะเป็นฝ่ายขอต่อรองราคา คุณจึงวัดใจพวกเขาได้ว่าเอาคุณแน่นอนหรือไม่ ไม่ต้องกลัวเลยว่าพวกเขาจะเลือกคนที่ค่าตัวถูกกว่า คนมันจะเอา ยังไงก็จะเอาครับ เวลาโดนต่อราคาก็มีวิธีชั้นสูงให้ทุกฝ่ายวิน-วิน ด้วยการดูเงินเดือนที่พวกเขาขอต่อรองลงมา ถ้าขอลดลงไม่มาก เช่น 10-15% ก็แล้วแต่คุณว่ายอมหรือไม่ แต่ถ้ามากกว่า 20% ก็ถือว่าเยอะ จงเป็นฝ่ายต่อราคากลับให้อยู่ในจุด “พบกันครึ่งทาง” เช่น ถูกต่อ 20% จึงต่อกลับที่ 10% หรือถูกต่อ 30% จึงขอต่อที่ 15% แล้วคุณจะได้ผลประโยชน์ที่ดีขึ้นกว่าการไม่ทำอะไรเลยแน่นอน


นี่คือวิธีการต่อรองเงินเดือนขั้นเทพจากเทพแห่งการขายของผมครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น