เคล็ดลับการเป็นหัวหน้าอย่างฉลาดสำหรับ 'คนพูดน้อย' (แต่ต่อยหนัก)

คนพูดน้อย (Introvert) คือคนที่ไม่ชอบพูด ขี้เกียจพูด หรือมักจะรู้สึกเหนื่อยเวลาที่จะพูด และบางทีอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าการพูดนั้นมันได้อะไรขึ้นมา เป็นคนฟังคนอื่นพูดนั้นง่ายและรู้สึกชอบมากกว่า ผมเชื่อว่าเพื่อนในแก๊งของคุณจะต้องมีเพื่อนสไตล์พูดน้อยอยู่ในกลุ่มอย่างน้อย 1 คนอย่างแน่นอน และคุณก็รักเขามากซะด้วย

ซึ่งบุคลิกของคนพูดน้อยมักจะสวนทางกับคนพูดมาก หรือไม่น่าจะเหมาะที่จะทำงานพบปะผู้คนเยอะๆ โดยเฉพาะงานขายหรืองานที่ต้องติดต่อประสานงานกับลูกค้า แต่เชื่อผมมั้ยครับว่าจริงๆ แล้วมีนักขายและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมายที่เป็นคนพูดน้อย

แต่การเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้นำองค์กร คุณมักจะเห็นสไตล์ความเป็นผู้นำจากสื่อต่างๆ เช่น ในหนังสงครามที่ผู้นำต้องสั่งการคนอื่นได้ดี โค้ชฟุตบอลที่ต้องออกมากระตุ้นทีม หรือเจอไลฟ์โค้ชที่ใช้คำพูดลื่นไหล ปลุกใจ เพิ่มพลังชีวิตอะไรทำนองนั้น เป็นต้น คุณเองซึ่งเป็นคนพูดน้อยจึงคิดว่าถ้าให้คุณไปยืนพูดหน้าเวทีแบบนั้นคงไม่เวิร์กแน่

ดังนั้นคุณอาจจะคิดลบกับตัวเองไปด้วยว่าคุณน่าจะเป็นหัวหน้าคนอื่นที่ไม่ดีเท่าคนพูดเก่ง แต่เชื่อผมมั้ยครับว่าจริงๆ แล้วการเป็นคนพูดน้อยนี่แหละที่สามารถเป็นหัวหน้างานที่ดีได้ แถมยังมีจุดแข็งที่คนอื่นไม่มีทางเทียบคุณได้ด้วย มาดูกันเลยครับว่ามีวิธีการอะไรกันอะไรบ้าง

1. จงคิดเสมอว่าการเป็นคนพูดน้อยคือจุดแข็งที่น้อยคนนักจะเทียบได้

จริงๆ แล้วการเป็นคนพูดน้อยนี่แหละที่ทำให้คุณมีความเป็นผู้นำมากยิ่งขึ้น ความนิ่งและสุขุมของคุณจะช่วยให้ลูกน้องมีความเกรงใจและยินดีที่จะทำงานถวายหัวให้มากกว่าเจ้านายที่มีสไตล์พูดมากหรือพูดเก่ง เพราะเจ้านายพูดมากมักเผยจุดอ่อนให้เห็นด้วยการที่ต้องพูดมากเกินไปจนลูกน้องอาจจะเข้าใจผิดในหลายๆ เรื่อง เช่น พูดล้อเล่น พูดเพ้อเจ้อ พูดรับปากแล้วก็ลืม โดยเฉพาะอย่างหลังซึ่งถือว่าเป็นจุดตายของหัวหน้างานสไตล์พูดมากที่ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าเจ้านายแบบนี้มักไม่รักษาคำพูดนั่นเอง การเป็นคนพูดน้อยและเน้นการฟังกับพูดเนื้อๆ จะทำให้การสื่อสารเรื่องงานมีความกระชับและปิดจุดอ่อนของคนพูดมากได้ดีขึ้น

2. มีเวลาให้กับงานและปล่อยของให้ลูกน้องดูได้มากขึ้น

คนพูดน้อยมักจะมีเวลาทำงานมากกว่าคนพูดมาก เพราะคนพูดมากจะใช้เวลาพูดกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้อยโดยที่บางอย่างไม่จำเป็นต้องพูด (ฮา) เช่น การเม้ากับลูกน้อง เป็นต้น ทำให้คุณมีเวลาโฟกัสงานของตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานที่มีความสำคัญ เช่น การเตรียมข้อมูลนำเสนอผู้บริหาร การทำรายงานการขายสรุปภาพรวมของทีม เป็นต้น ทำให้คุณมีเวลาในการวิเคราะห์การทำงานและภาพรวมของทีมได้มากขึ้น เพราะคุณเอาเวลาที่มัวแต่คุยกับคนอื่นด้วยเรื่องไร้สาระมาโฟกัสงานที่หัวหน้าและผู้บริหารต้องทำนั่นเอง

3. ใช้วิธีการคุยกับลูกน้องแบบตัวต่อตัวดีกว่า

การเป็นคนพูดน้อยอาจทำให้คุณไม่ชอบหรือไม่ถนัดในการพูดต่อหน้าลูกน้องเยอะๆ มากนัก คุณจึงไม่ค่อยถนัดในการพูดเชิงปลุกใจหรือสร้างมุกตลกให้ลูกน้องและคุยเรื่องส่วนตัวแบบเปิดใจได้เท่ากับคนพูดมากหรือพูดเก่ง คุณสามารถเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับลูกน้องจากที่ต้องพูดเป็นหมู่คณะมาเป็นพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว (One-on-One) ซึ่งความเป็นคนพูดน้อยและได้คุยกับลูกน้องแบบ 2 ต่อ 2 จะทำให้พวกเขามีความเกรงใจและยินดีที่จะรับฟังคุณมากกว่า คุณเองจะมีอำนาจและบารมีเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก การพูดคุยเพื่อสอบถามความคิดเห็นหรือเสนอแนะเรื่องการทำงานจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

นี่คือเคล็ดลับบางอย่างเมื่อคุณเป็นหัวหน้างานที่พูดน้อยต่อยหนัก

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น