ทักษะการพูด ถือว่าเป็นทักษะชีวิตที่คุณต้องใช้ทุกวัน มีบทบาทสำคัญในการเข้าสังคมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการงาน การสื่อสาร การเรียน ฯลฯ ใครที่ล้มเหลวเรื่องการพูด ย่อมยากเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขหรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทักษะการพูดที่ยอดเยี่ยมสามารถทำให้คนทั้งประเทศหรือทั้งโลกเชื่อมั่นและประทับใจได้เลย

คงจะดีแน่ๆ ถ้าคุณเป็นคนที่พูดเก่ง แต่พูดเก่งอย่างเดียวคงไม่พอ คุณจำเป็นต้อง “พูดเป็น” อีกด้วย แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนหลายๆ คนทุกวันนี้แทบไม่คิดที่จะพัฒนาทักษะการพูดให้ดีขึ้นของตัวเองเลย ทั้งๆ ที่การพูดนี่แหละที่ทำให้คุณก้าวหน้าในการทำงานได้ บางคนก็คิดไปเองว่าตัวเองพูดไม่เก่ง จึงไม่ใส่ใจและปล่อยไปตามตัวตนไปซะอย่างนั้น

ผมจึงขอแชร์วิธีที่จะทำให้คุณเป็นนักพูดที่เก่งและพูดเป็น เพื่อให้คุณสามารถใช้ชีวิตประจำวันและมีผลต่อหน้าที่การงานที่ดีขึ้นดังนี้ครับ


  1. นิยามของคำว่าพูดเก่งและพูดเป็น

คนที่พูดเก่งคือคนที่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง มีไหวพริบในการโต้ตอบที่ยอดเยี่ยม สามารถหยิบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสนทนามาพูดให้มีความต่อเนื่องได้อย่างลื่นไหล เป็นคนที่มีความพยายามไม่ให้วงสนทนาเกิดความเงียบ แต่พูดเก่งอย่างเดียวไม่พออยู่แล้ว เพราะจุดอ่อนของคนพูดเก่งคือมักควบคุมการสนทนาให้ตนเองเป็นศูนย์กลาง มีซีนพูดมากที่สุด ทำให้คู่สนทนาไม่ได้เป็นฝ่ายพูดบ้าง และยังเป็นนักฟังที่แย่แถมยังพูดชอบพูดแทรกบ่อยๆ จนคู่สนทนาอาจเกิดความรู้สึกไม่โอเคโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว

ส่วนคนที่พูดเป็นคือคนที่รู้จักสถานการณ์ในการพูดได้อย่างถูก “กาละเทศะ” มักรับรู้ว่าสัดส่วนการสนทนาควรมีความกลมกล่อม คือเป็นทั้งคนพูดและคนฟัง ที่สำคัญคือรู้จักเลือกคำพูดที่จะพูดและยังนึกถึงความรู้สึกของคนฟังเสมอว่าถ้าพูดออกไปแล้ว คนฟังจะรู้สึกอย่างไร พูดเป็นภาษาชาวบ้านได้ง่ายๆ ว่าเป็นคนที่ “คิดก่อนพูด” นั่นเองครับ ถ้าคุณมีทั้งสองทักษะนี้มาผสมผสานกัน รับรองว่าเป็นนักพูดขั้นเทพได้อย่างแน่นอน

2. บอกตัวเองทุกวันเสมอว่าวันนี้จะฝึกการพูดให้ดีขึ้น

เป็นวิธีที่ผมใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน ตอนเช้าแต่งตัวส่องกระจก ผมจะพูดกับตัวเองว่าวันนี้จะพัฒนาการพูดให้ดีขึ้น อะไรที่เคยผ่านมาและพูดได้แย่ ผมจะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก นี่เป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำให้ทัศนคติของคุณพร้อมและตื่นตัวเสมอก่อนเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่

3. พยายามจดจำการสนทนาของคนที่คุณคิดว่าดีและลองเอามาใช้

เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ง่ายและลองปรับใช้ได้เรื่อยๆ เช่น เจอมุกตลกที่น่าจะเอาไปเล่าต่อให้เพื่อนฟังได้ เจอคำคมจากในหนังและอยากลองเอาไปพูดตามสถานการณ์ เป็นต้น วิธีฮาร์ดคอร์ที่ผมใช้สมัยเด็กๆ คือการจดลงในสมุดเพื่อไม่ให้ลืมและลองเปิดอ่านซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม จงพยายามลองใช้คำพูดแจ๋วๆ นั้นดู รับรองว่าเกิดเสียงฮาหรือทำให้คนรอบข้างประทับใจได้แน่นอนครับ

4. พูดไปและจงฟังแบบจับใจความให้ดีด้วย

เวลาพูดมีกุญแจที่ทำให้คู่สนทนาอยากที่จะคุยกับคุณมากขึ้นเรื่องๆ ก็คือ การเป็นผู้ฟังที่ดี วิธีฟังที่ดีคือการฟังแบบจับใจความและลองเอาความคิดของตัวเองไปใส่ว่าถ้าคุณพูดแบบนั้นบ้าง คุณน่าจะรู้สึกอย่างไร หรือเรียกอีกอย่างว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทักษะนี้ต้องใช้การฝึกฝนและมีความอดทนเป็นอย่างมากสำหรับคนที่ชอบพูดหรือพูดเก่งจนกลายเป็นพูดมาก (ฮา) แต่รับรองว่าคู่สนทนาจะรู้สึกดีกับคุณเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่รู้จักกันเป็นครั้งแรกอย่างแน่นอน

5. การถามคำถามคือกุญแจแห่งการเป็นนักคุยที่ดี

เวลาคุยและตอนเป็นผู้ฟังแบบจับใจความ นี่คือนาทีทองที่จะทำให้คุณคิดถึงคำถามที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนทนาและทำให้คู่สนทนารู้สึกอยากพูดเพิ่มขึ้นด้วย จำไว้นะครับว่าคนส่วนใหญ่มักชอบที่จะเป็นฝ่ายพูดเสมอ การถามคำถามจึงเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ คำถามที่ฉลาดคือคำถามที่เกิดจากการสนทนานั้น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น คุณกำลังฟังคู่สนทนาพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น ฟังไปฟังมาจึงถามคำถามว่าตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นมีที่เที่ยวอะไรที่น่าสนใจบ้าง อะไรทำนองนี้ คู่สนทนาย่อมเล่าเรื่องขยายความจากการไปเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้นแน่นนอนครับ

6. สีหน้าและแววตาที่ดี

จงคิดในใจเสมอว่าคุณตั้งใจฟังคู่สนทนาจริงๆ เจตนาจะออกมาจากภายในและแสดงออกทางสีหน้ากับแววตาเอง แต่ยังไงคุณก็ต้องรู้จักรักษาสีหน้าที่ดีในการสนทนาด้วย เช่น คุยเรื่องสนุกก็ต้องมาสีหน้ายิ้มแย้มจริงใจ คุยเรื่องซีเรียสก็ต้องมีสีหน้าที่เคร่งขรึมจริงใจ เป็นต้น ส่วนแววตามีสูตรง่ายๆ คือมองไปทีระหว่างคิ้วสลับกับแววตาของผู้พูดอยู่เสมอ และจงกระพริบตาเป็นระยะๆ เวลาที่รู้สึกเริ่มมองคู่สนทนานานเกินไป อย่าจ้องตาแบบไม่กระพริบเลยเพราะมันดูไม่จริงใจและดูเฟคนั่นเองครับ

7. เป็นฝ่ายเงียบดูบ้าง

ความเงียบหมายถึงความนิ่งที่สยบความเคลื่อนไหว เป็นทักษะชั้นสูงเพื่อดึงดูดให้ผู้ฟังอยากที่จะฟังคุณมากกว่าเดิม คนพูดเป็นผสานกับคนพูดเก่งจะรู้ดีว่าต่อให้พูดเก่งแค่ไหนก็ไม่ควรพูดเหมือนแร็ปแบบไม่มีพักเลย เคล็ดลับก็คือเวลาคุณพูดเล่าเรื่องอย่างออกรส รับรู้ว่าผู้ฟังกำลังตั้งใจจากสีหน้าท่าทางที่พวกเขาแสดงออกมา เมื่อคุณพูดจบประโยค ลองหยุดนิ่งและไม่พูดซัก 2-3 วินาที ผู้ฟังจะรู้สึกแปลกใจและสงสัยว่าคุณจะพูดอะไรอีก นี่แหละครับคือทักษะชั้นสูงเพื่อดึงให้คนฟังอยากที่จะฟังคุณมากขึ้นไปอีก