วิธีสร้างวัฒนธรรมองค์กรสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ยอดเยี่ยม

ยุคนี้ก็ถือว่าหัวหน้าหรือเจ้าของกิจการที่คุณทำงานอยู่ด้วยก็น่าจะมีอายุที่น้อยลง คนรุ่นลุง (ฮา) ที่แก่ๆ หัวร้อน น่าจะเปลี่ยนเป็นผู้บริหารหนุ่มใหญ่วัยกลางคนอายุประมาณ 40-50 ปี กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมตอนนี้หลายๆ องค์กรยังมี “แนวร่วมสำคัญ” ก็คือเหล่าผู้บริหารหนุ่มระดับผู้จัดการไปจนถึง C-Level ที่มีอายุแค่ 30-40 ปี กันเรียบร้อยแล้ว

หมายความว่าแนวโน้มเรื่องอายุขององค์กรในยุคนี้จะมีอายุที่น้อยลง และเมื่อคนอายุ 30 สามารถเป็นผู้จัดการได้ ลูกน้องของพวกเขาก็จะต้องเป็นเด็กรุ่นใหม่ “Gen-Z” ที่เป็นเหล่าเด็กจบใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 22-25 ซึ่งถือว่าอายุห่างจากเหล่า Gen-Y (27-39) กับ Gen-X (40-50) ร่วมสิบๆ ปี อารมณ์ประมาณเด็กม.6 คุมเด็ก ม.1 ยังไงยังงั้น

เด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับเหล่าอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีมีแนวโน้มว่าจะเก่งกว่าพวกเรามาก เพราะสมัยพวกเขาเรียนก็สามารถใช้กูเกิ้ลหาคำตอบทำการบ้านกันได้แล้ว เผลอๆ เก่งกว่าคุณครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยเลยด้วยซ้ำ พวกเขาจึงรู้ดีว่าสังคมการทำงานแบบเก่าๆ มันซ้ำซากและน่าเบื่อ

ทั้งๆ ที่ตัวของพวกเขามี “ต้นทุน” ที่ดีและเป็นวัตถุดิบที่ถ้าคุณเจียระไนให้กลายเป็นเพชรที่ทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างมหาศาล แต่การมีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่พร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่นี่แหละที่อาจหล่อหลอมให้พวกเขาจากเพชรกลายเป็นถ่านได้เลย

ผมจึงมีวิธีสร้างวัฒนธรรมองค์กรสำหรับเด็กรุ่นใหม่จากบริษัทของผมที่เต็มไปด้วยเหล่าผู้มีพรสวรรค์ (แบบ X-Men) และสามารถรวบรวมให้พวกเขาเป็นปึกแผ่น ไล่ล่ายอดขายได้อย่างไม่มีหยุดกันเลยครับ

1. เริ่มจากทัศนคติต่อพวกเขาก่อน

เหล่าผู้บริหารและคนทำงานในองค์กรจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ที่ดีร่วมกันก่อนเสมอ การกำหนดแนวทางปฎิบัติที่ส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่ได้รับโอกาสอย่างเหมาะสมและมีโปรแกรมฝึกอบรมที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่จะเป็นสิ่งดีๆ ที่ทำให้วัฒนธรรมองค์กรของคุณเริ่มต้นได้อย่างถูกวิธี จงมอบโอกาสในการทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จจากการทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย มีพี่เลี้ยงหรือโค้ชในองค์กรที่เข้าใจและเอาใจใส่คนรุ่นใหม่อย่างทั่วถึง มีบรรยากาศการทำงานแบบพี่ๆ น้องๆ ไปจนถึง “เป็นเพื่อน” กับพวกเขาได้ในเวลาเดียวกัน แค่นี้ก็ถือว่าเริ่มต้นได้ดีแล้ว

2. สถานที่ทำงานต้องมีความทันสมัยและสร้างสรรค์

สถานที่ที่ดีย่อมทำให้ผู้คนเกิดอารมณ์ดีๆ ในการทำสิ่งต่างๆ เช่น ร้านกาแฟสตาร์บั้คส์ที่จัดร้านได้อย่างน่านั่ง มีเอกลักษณ์และลงตัว หรือ Co-Working Space บางแห่งที่มีบรรยากาศน่าทำงานสไตล์สำนักงานสมัยใหม่ ที่สำคัญคือออฟฟิศแนวๆ Co-Working Space นี่แหละ (อยากรู้ลองกูเกิ้ลว่า Hubba Co-Working Space) ที่เป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ซึ่งถอดแบบมาจากสำนักงานของบริษัท Google ที่มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าคนรุ่นใหม่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบแบบสมัยเก่า ทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม ผ่อนคลาย น่าทำงาน ที่สำคัญคือเรื่องนี้สามารถดึงดูดเด็กเทพให้อยากทำงานกับคุณมากขึ้น แถมยังรักษาคนเก่าให้ทำงานได้นานขึ้นอีกด้วย

3. จงรับพนักงานใหม่ที่มี “ศีลเสมอกัน” กับคนรุ่นใหม่

การรับคนรุ่นใหม่ไม่ควรรับมาเพียงแค่ไม่กี่คนท่ามกลางคนรุ่นเก่าที่มีเยอะกว่ามาก เช่น ทีมขายของคุณอายุเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป แต่กลับรับเด็กจบใหม่เพียงแค่คนเดียว เป็นต้น เนื่องจากการที่พวกเขาขาดเพื่อนร่วมงานที่เป็นรุ่นเดียวกันจึงทำให้พวกเขาไม่ได้รับความรู้สึกในแบบเพื่อน มีแต่คำว่ารุ่นพี่ จึงทำให้พวกเขารู้สึกเหินห่างกับทีมอยู่ดี การรับเด็กใหม่โดยเฉพาะเด็กจบใหม่จึงควรรับมาเป็นชุด เช่น 2-4 คนต่อรุ่น ที่สำคัญคือต้องมี “ศีลเสมอกัน” เช่น วุฒิการศึกษาพอๆ กัน รสนิยม ทัศนคติที่ดี เป้าหมาย ที่คล้ายๆ กัน บางองค์กรถึงกับคัดเด็กใหม่ที่มีพื้นฐานทางบ้านเหมือนๆ กัน สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่มีเพื่อนที่สามารถก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน อารมณ์แบบเดียวกับคลาส ป.โท เลย

4. เน้นกิจกรรมที่ทำให้เด็กใหม่ “ได้รับการยอมรับ” อย่างทั่วถึง

เชื่อหรือไม่ว่าเด็กรุ่นใหม่หลายๆ คนนอกจากจะอยากได้เงินเดือนเยอะๆ แล้ว พวกเขายังอยากได้รับการยอมรับ (Recognition) จากคนในองค์กรมากที่สุด การจัดกิจกรรมที่เน้นการแข่งขันอย่างยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรจัดการแข่งขันให้ครอบคลุมกับทุกแผนกในองค์กรด้วย เช่น ฝ่ายขายมีรางวัล MVP ยอดเยี่ยมทุกเดือน ฝ่ายสนับสนุนก็มีรางวัล MVP ด้วยเช่นเดียวกัน เป็นต้น การจัดงานมอบรางวัลควรเพิ่มความคิดสร้างสรรค์หรือเกมสนุกๆ ให้เด็กเกิดความท้าทายและสนุกไปกับกิจกรรมที่คุณจัด ผลพลอยได้ก็คือพวกเขารู้สึกเกิดการแข่งขันเชิงบวกและทำผลงานให้กับองค์กรของคุณดีขึ้น เชื่อเถอะว่าเงินที่คุณให้ไปนั้นส่งผลต่อพวกเขาอย่างมหาศาลแน่

5. มีระบบโค้ชชิ่งและระบบพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ

พี่เลี้ยงหรือโค้ชที่ดีควรเป็น “คน Gen-Y” ที่ถือว่าเป็นลูกพี่พวกเขาได้แบบที่อายุไม่ห่างกันเกินไป เหล่า Gen-Y ถือว่าผ่านช่วงแห่งความรุ่งโรจน์ของเทคโนโลยียุคเริ่มต้นมาก่อนจึงทำให้เข้าใจเหล่า Gen-Z ได้มากกว่า Gen-X (ที่ตอนนี้มีลูกมีเมียหมดแล้ว ฮา) จงกำหนดบทบาทให้พวกเขาได้ดูแลเด็กใหม่อย่างใกล้ชิดแบบพี่น้อง ช่องว่างที่ไม่ห่างกันจนเกินไปจะทำให้รุ่นพี่และรุ่นน้องมีความรู้สึกที่ผูกพันธ์กับเนื้องานและองค์กรมากยิ่งขึ้น เพราะคน Gen-Y ส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกเอาแต่สั่งและด่าลูกน้องไปวันๆ เหมือน Baby-Boomer ยุคเก่าๆ แน่นอน

6. ลงไปทำงานกับพวกเขาและกล้าที่จะมอบโอกาสเสี่ยงๆ ให้พวกเขาลงมือทำ

ดีที่สุดของการมอบความไว้วางใจซึ่งกันและกันและลดช่องว่างระหว่างลูกน้องกับเจ้านายก็คือการ “ลงไปคลุกฝุ่น” ทำงานกับลูกน้องด้วยกันเพื่อให้พวกเขาเห็นฝีมือและช่วยพวกเขาในการสอนงานกับแก้ปัญหาไปในตัว การมอบโอกาสเสี่ยงๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตได้เร็วโดยที่คุณคอยประคองอย่างใกล้ชิดก็เป็นสิ่งที่ควรทำ จงอย่ากลัวหรือคิดว่าลูกน้องทำพลาดแล้วทุกอย่างจะพังเพราะปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้เสมอ ถ้ามีข้อผิดพลาดจริงๆ คุณควรกางปีกปกป้องพร้อมกับทำการแก้ไขให้เป็นตัวอย่างเพื่อไม่ให้ลูกน้องนั้นพลาดอีก

7. รับฟังพวกเขาอย่างเต็มใจและกล้าที่จะดันพวกเขาไปสู่ความสำเร็จเร็วๆ 

การเปิดอกคุยกันแบบตัวต่อตัวโดยเริ่มจากลูกน้องที่อายุงานน้อยที่สุดก่อนจะเป็นสิ่งที่ดีเพื่อรับฟังสิ่งที่พวกเขาอยากพูดต่อตัวคุณและองค์กรทั้งด้านบวกและด้านลบแบบเต็มใจจะทำให้พวกเขามอบความไว้วางใจให้กับองค์กรได้มากยิ่งขึ้น อย่ามองข้ามเรื่องการคุยแบบตัวต่อตัวทีละคนทุกคนเป็นอันขาด เด็กรุ่นใหม่ต้องการการยอมรับความคิดเห็นของตนเองเป็นอย่างมาก และจงกล้าให้โอกาสพวกเขาเมื่อผลงานดีด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานหรือผลตอบแทนที่สูงขึ้นพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้นโดยไม่เกี่ยงเรื่องของอายุจะเป็นสิ่งที่ดีมาก

นี่คือวิธีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรรุ่นใหม่จากผมครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น