วิธีรับมือกับเด็กรุ่นใหม่ในช่วงเริ่มต้นทำงาน

ช่วงนี้ผมเจอกระทู้พันทิปมากมายเกี่ยวกับการย้ายงานและการคุมพนักงานใหม่ โดยเฉพาะเหล่าเด็กจบใหม่ที่มักจะโดนคนรุ่นเก่า “ตราหน้า” ว่าเป็นพวกเหยียบขึ้ไก่ไม่ฝ่อ หรือเป็นพวกจับจด ทำงานไม่ทน ไม่ได้เก่งอย่างที่นำเสนอเป็นประจำ

นับว่าเป็นปัญหา “โลกแตก” ที่ผมเองก็เคยได้ยินตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กจบใหม่ (10 ปีที่แล้ว ทายอายุดู) แล้วล่ะครับ รุ่นพี่มักจะพูดว่ารุ่นผมทำงานไม่ค่อยทน คิดว่าตัวเองเก่ง เซล์ฟจัด บลาๆๆ ทั้งๆ ที่เชื่อมั้ยครับว่าลูกพี่ผมที่เป็นพวกคน Gen-X (อายุเกิน 40) ก็โดนคนรุ่น Baby Boomer (อายุกำลังเกษียณ) บอกว่าพวกเขาก็เหมือนผมเลย (ฮา)

ตอนนี้ผมเองก็ควบคุมทีมงานที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ Gen-Z (อายุเฉลี่ย 25) แทบทั้งหมดในบริษัท ที่ในกระทู้พันทิปมักบอกว่าเด็กสมัยนี้เซล์ฟจัดยิ่งกว่า เกิดมาพร้อมยุคเทคโนโลยีพร้อมกับการเรียนรู้ที่น่าจะทันสมัยกว่าคนรุ่นผม ทำให้เกิด “การเหมารวม” (Stereotype) ซึ่งผมเองก็คิดว่าถ้าคนรุ่น Gen-Z ขึ้นมาเป็นผู้จัดการซะเอง พวกเขาก็คงบอกว่าคนรุ่นถัดไป Gen-Alpha นั้นห่วยกว่าคนยุคเขาแน่นอน (ฮา) ส่งต่อไปเป็นทอดๆ 

สำหรับผมแล้ว คิดว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่เลยล่ะครับ ทุกอย่างเกิดขึ้นจาก “ความเข้าใจ” และการมอบหมายงานที่เหมาะสมกับศักยภาพของพวกเขาต่างหาก การทำงานถึงจะราบรื่น ผมจึงขอแชร์วิธีรับมือการดูแลพนักงานเด็กจบใหม่ที่มากกว่า 200 ชีวิตกันเลยครับ 

1. ให้เกียรติและยกย่องศักยภาพของพวกเขาก่อนเสมอ

เชื่อเถอะครับว่ายังไงส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่มัก “เก่งกว่า” คนรุ่นเก่าเสมอ ธุรกิจระดับโลกสมัยใหม่คือเหตุผลที่ดี เช่น Facebook, AirBnB, Twitter, TikTok, เถ้าแก่น้อย, etc. ซึ่งก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ยุคผมแทบทั้งนั้นก็สามารถเข้าไปยืนหนึ่งในบรรดาธุรกิจระดับโลกได้ดี ที่สำคัญคือคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเด็กที่จบจากมหาลัยชั้นนำ ยุคของพวกเขานั้นเรียนไปด้วยและมีอินเทอร์เน็ต เช่น ยูทูป กูเกิ้ล วิกิพีเดีย ฯลฯ เป็นผู้ช่วยตั้งแต่เด็ก ทำให้พวกเขาสามารถค้นหาคำตอบหรือหาโซลูชั่นที่ช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่าคนยุคเราอย่างแน่นอน (ในกรณีที่พวกเขาใฝ่รู้น่ะนะ)

2. ก่อนรับเข้าทำงานควรสัมภาษณ์และอธิบายสโคปงานให้พวกเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้

เมื่อสัมภาษณ์งานและตัดสินใจรับพวกเขาเข้าทำงาน ตอนสัมภาษณ์ควรอธิบายสโคปงานทั้งหมดและถามพวกเขาว่าถ้าสโคปงานตามนี้ พวกเขาสามารถทำได้หรือไม่ ที่สำคัญคือเมื่อตัดสินใจรับมาแล้ว จงอย่ามอบหมายงานที่นอกเหนือจากสโคปงานตามที่ได้คุยเป็นอันขาด อย่าลืมว่าพวกเขาอาจจะไม่พอใจและที่สำคัญคือมีเว็บไซต์ที่ปรึกษาอย่างพันทิป ซึ่งเนื้อหาภายในนั้นคงทำให้พวกเขาไม่โอเคแน่ๆ การมอบหมายงานที่ทำให้พวกเขาผิดหวังคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พวกเขาอยู่ได้ไม่นานและไม่มีใจให้แก่องค์กรครับ

3. การสอนงานควรมุ่งเน้นวิธีการทำให้ได้ผลจริง

คนรุ่นใหม่มักมองคนรุ่นเก่าในบางมุมว่าไม่ได้มีความเก่งกาจเหมือนที่พวกเขาเรียนรู้ตามตำรามา หัวหน้างานที่ไม่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่คือหัวหน้าที่ “สั่งงานด้วยปาก” แต่ไม่เคยลงมือทำให้ลูกน้องเห็นจริงๆ อารมณ์ประมาณหัวหน้าทีมขายที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยเห็นวิธีการขายต่อหน้าลูกค้าที่ถูกต้อง มัวแต่สั่งลูกน้องให้ออกไปขายกับไล่บี้ยอดขายและไม่มีวิธีการที่ทำได้จริงให้พวกเขาเห็น พวกเขาย่อมไม่มีความสุขและมองคุณลบแน่นอน แต่ถ้าคุณสามารถสอนงานจากของจริงและได้ผลลัพธ์ที่ดีแก่พวกเขาได้ รับรองว่าพวกเขาจะศรัทธาคุณอย่างมากเลยล่ะครับ

4. สร้างวัฒนธรรมองค์กรสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เหมาะสม

วัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุดเลยก็ว่าได้สำหรับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะรุ่นใดก็ตามตอนทำงานใหม่ๆ มักมีภาพจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับองค์กรในมุมมองของพวกเขาคือองค์กรโบราณที่ให้พนักงานทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน เจ้านายหน้าเลือด ใจยักษ์ เอาเปรียบพนักงาน บลาๆ ซึ่งหลายๆ องค์กรก็เป็นแบบนั้นจริงๆ  ทำให้พวกเขายังให้ใจกับองค์กรไม่เต็มร้อย คุณจึงต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การรับพนักงานใหม่ที่เป็นคนรุ่นเดียวกันในหลายๆ แผนก เพื่อให้เขามีเพื่อน การปรับปรุงออฟฟิศให้มีความทันสมัย กิจกรรมปาร์ตี้กระชับมิตรและให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออก การใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารให้มีความเหมาะสม เป็นต้น

5. ท้าทายพวกเขาด้วยการให้โอกาสตามความสามารถที่แท้จริง

คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคนที่เก่งย่อมชอบความท้าทาย พวกเขามาพร้อมด้วยความมั่นใจ ถ้าคุณเห็นว่าพวกเขาทำงานได้ดี เฉียบคม ฉับไว ตามที่คุณสั่งสอน การโปรโมตงานไม่ใช่สิ่งที่ยากหรือต้องรอเลย เด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถย่อมต้องการได้รับโอกาสหรือความท้าทายที่มากกว่า พวกเขามาพร้อมกับความมั่นใจ คุณจึงสามารถให้พวกเขาเล่นเกมเพื่อพิสูจน์ตัวตนกับพัฒนาตัวเองเกินขีดจำกัดได้ไม่ยากด้วยการให้โอกาส โอกาสคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ที่เก่งต้องการ จงตอบสนองพวกเขาเพื่อทำประโยชน์ให้กับองค์กรซะ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น