สาเหตุที่ทำให้ลูกน้องหมดไฟในการทำงาน

ปัญหาลูกน้องหมดไฟหรือขาดแรงกระตุ้น ผมเชื่อว่าปัญหานี้ในฐานะหัวหน้างานย่อมเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญไม่ช้าก็เร็วอย่างแน่นอน ไล่ตั้งแต่ระดับผู้จัดการไปจนถึงเจ้าของกิจการเลยล่ะครับ เรียกได้ว่าคุณจะเป็นตำแหน่งไหนก็ปวดหัวไปตามๆ กัน 

เพราะว่าเรื่องลูกน้องหมดไฟ ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม บางทีมันเป็นเรื่องของอารมณ์และจิตใจซึ่ง “วัดไม่ได้” เสียด้วย ครั้งจะไปซี้ซั้วเรียกมาด่า ตัดเงินเดือนหรือไล่ออกสุ่มสี่สุ่มห้าก็คงจะไม่เป็นผลดีซักเท่าไหร่ เผลอๆ ไม่ได้ช่วยอะไรและทำให้สภาพโดยรวมของทีมนั้นแย่ลงไปอีก วิธีนั้นเขาเรียกว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ดังนั้นการวิเคราะห์ที่ต้นเหตุและลงมือแก้ปัญหาในฐานะหัวหน้างานจึงเป็นหนทางที่ดีกว่าการตัดสินอนาคตของพวกเขาโดยไม่ได้พยายามทำอะไร จริงอยู่ที่วิธีการไล่คนเก่าออกแล้วจ้างคนใหม่ที่สดกว่าอาจจะเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุด แต่ไม่ได้การันตีว่าคนใหม่ที่เข้ามาจะทำงานได้ดีเสมอไป เผลอๆ คนที่คุณไล่ออกนั่นแหละครับที่ไปโตที่อื่นแทน

บทพิสูจน์ของการเป็นผู้จัดการและเป็นเจ้าของกิจการที่ยอดเยี่ยมคือการมองเห็นถึงสาเหตุที่ลูกน้องหมดไฟและลงมือแก้ปัญหาจนปลุกพลังนักขายให้กลับมาได้ด้วยตัวคุณเองต่างหากล่ะครับ และนี่คือสาเหตุที่ลูกน้องส่วนใหญ่หมดไฟในการทำงานครับ

1. คุณนั่นแหละที่เป็นสาเหตุ

ตลกร้ายนะครับสำหรับสาเหตุแรกที่ทำให้ลูกน้องหมดไฟในการทำงาน ผมอยากให้คุณลอง “โทษตัวเอง” ก่อน บางทีสาเหตุที่แท้จริงอาจจะมาจากตัวคุณนั่นแหละครับ คุณอาจจะเป็นเจ้านายที่ห่วยแตกในความคิดของพวกเขาโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวก็ได้ (ฮา) จริงๆ แล้วผมอยากให้คุณหันมามองตัวเองว่าลูกน้องของคุณมีอาการหมดไฟทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ขยันทำงาน คุณอาจจะพูดอะไรไม่เข้าหูหรือทำอะไรไม่เข้าตาพวกเขาก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้ลูกน้องของคุณเบื่อหรือเซ็งก็คือ “คำพูด” ของคุณนั่นแหละครับ เช่น ตำหนิ ไม่ให้เกียรติ ไม่ทำตามที่รับปาก นินทาพวกเขาลับหลัง ฯลฯ เป็นต้น ถ้าทราบเหตุผลแล้ว การเรียกคุยและขอโทษจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

2. ขายไม่ดีหรือขายไม่ได้เลย

นี่คือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ลูกน้องคุณหมดไฟหรือเบื่องาน ปกติคนที่ยอดขายไม่ดีก็มักจะมีอาการเบื่องานตามมา มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับลูกน้องที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มียอดขาย พวกเขาย่อมท้อเป็นธรรมดา แต่คุณเองต้องเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาโดยด่วนสำหรับเรื่องนี้และห้ามตัดสินเด็ดขาดว่าพวกเขาทำงานห่วย คุณต้องใช้การวัดผลการทำงานมาเป็นตัวช่วยเพื่อให้พวกเขาทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ยอดขายไม่มาอาจจะมาจากกิจกรรมการทำงานที่ด้อยประสิทธิภาพของตัวเขาเองก็ได้ เช่น หาลีดน้อย ทำนัดต่อวันไม่มาก คุยกับลูกค้าผิดคน ฯลฯ เป็นต้น คุณจึงสามารถลงไปช่วยปรับผลการทำงานให้พวกเขาได้อย่างตรงจุด

3. มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน

ปัญหานี้อาจเป็นสิ่งที่คุณมองไม่เห็นเพราะยามอยู่ต่อหน้า ลูกทีมก็ดูสามัคคีกันดี แต่พอลับหลัง ทีมงานของคุณอาจตั้งกลุ่มแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ซึ่งคุณไม่มีทางรู้ถึงความขัดแย้งก่อนหน้านี้ของลูกทีมคุณอย่างแน่นอน คุณจึงจำเป็นต้องสังเกตลูกน้องคุณให้ดีๆ ว่าคนไหนมีอาการซึมเศร้าหรือขาดกำลังใจผิดปกติทั้งๆ ที่เนื้องานก็พอใช้ได้ ลองสังเกตว่าคนที่มีปัญหามักออกไปกินข้าวคนเดียวตอนเที่ยง ชอบทำงานคนเดียว เลิกงานแล้วรีบกลับบ้าน ไม่ชอบสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน อะไรทำนองนี้ แสดงว่าพวกเขาอาจจะมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน จงเรียกพวกเขามาคุยปรับความเข้าใจถึงสาเหตุความขัดแย้งที่แท้จริง โดยที่คุณต้องตั้งอยู่ในความเป็นกลางและเคลียร์ปัญหานะครับ

4. เนื้องานมีความยากเกินความสามารถของพวกเขา

มีบางครั้งที่คุณดันมอบหมายงานให้ลูกน้อง “ผิดคน” ซึ่งทำไปทำมาปรากฎว่า “มือไม่ถึง” ในเมื่องานไม่เดินก็ไม่แปลกที่จะเริ่มท้อแท้และเสียกำลังใจ ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนเขตให้พวกเขาดูลูกค้าที่ยากมากขึ้น (แต่ก็ดีเหมือนกันเพราะจะได้รู้ว่าพวกเขาเป็นของจริงหรือไม่) ให้ทำโปรเจคที่ยากขึ้น เป็นต้น วิธีการที่ช่วยให้พวกเขาดีขึ้นก็คือการลงเข้าไปช่วยงานร่วมกับพวกเขานั่นเองครับ 

5. เงินเดือนหรือค่าตอบแทน (ค่าคอมมิชชั่น) น้อย

งานก็หนัก เงินก็น้อย ไม่แปลกที่นักขายตัวเทพอาจจะรู้สึกหมดกำลังใจในการทำงานไปเลยก็ได้ สาเหตุก็คือคุณเขียมเกินไป (ฮา) ขี้งก ขี้เหนียว หรือเซ็ตการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้มันยุ่งยากซับซ้อน แลดูไม่ยุติธรรม สาเหตุนี้ทำให้พวกเขาท้อแท้จนหมดอาลัยตายอยากอันดับต้นๆ เลยล่ะครับ แถมนักขายตัวเทพมักจะอยู่กับคุณไม่นานถ้าตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ พวกเขาย่อมอยากย้ายไปอยู่กับบริษัทที่จ่ายผลประโยชน์ได้ดีกว่า วิธีแก้ปัญหาโดยตรงก็คือการลงเข้าไปปรับผลประโยชน์พนักงานขายให้อยู่ในระดับเดียวกับสภาวะตลาดจริง ยุติธรรม โปร่งใส เข้าใจง่าย

6. ทิศทางและนโยบายของบริษัทไม่ชัดเจน

ปัญหานี้เป็นปัญหาระยะสั้นและระยะยาวของภาพรวมพนักงานเลยก็ว่าได้ ส่วนใหญ่ขวัญและกำลังใจของพนักงานมักจะตกลงพร้อมกับข่าวร้ายของบริษัท เช่น สภาวะขาดทุนแบบต่อเนื่อง บริษัทไม่โต ไม่มีอะไรใหม่ หรือแม้แต่ตัวผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการที่ไม่ได้ประกาศอะไรแบบเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้เหล่าพนักงานไม่มีความมั่นคง สูญเสียกำลังใจในการทำงาน คุณจึงจำเป็นต้องแก้สถานการณ์อันคลุมเครือเหล่านี้ให้เกิดความชัดเจนมากที่สุดเพื่อลดอัตราการลาออกของคนในองค์กรและกู้สถานการณ์ให้ทุกอย่างกลับมาดีขึ้น

นี่คือสาเหตุกับวิธีแก้ปัญหาหลักๆ ยามที่พนักงานมีขวัญและกำลังใจที่แย่ลงครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น