พนักงานบางคนกำลังเป็น 'มะเร็งร้าย' ในฐานะผู้จัดการ คุณควรทำอย่างไร

หนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญสำหรับผู้จัดการหรือผู้บริหารฝ่ายขายก็คือ “การดูแลสารทุกข์สุขดิบของทีมงาน” เพราะนักขายของคุณคือคน ไม่ใช่เครื่องยนต์กลไกที่ “ไร้ชีวิตจิตใจ” แต่อย่างใด

แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากทำให้พนักงานทุกคนมีความสุข ผู้จัดการและผู้บริหารก็อยากสร้างสัมคมการทำงานแบบนั้น แต่ถ้าจะพูดถึงโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว คงเป็นอะไรที่ “โลกสวย” มากเกินไปซักหน่อย

เพราะไม่มีทางหรอกครับที่ทุกคนจะพบแต่ความสุขตลอดไป บางช่วงเวลาที่ยากลำบาก คือบททดสอบของคุณและทีมงานให้ผ่านพ้นไปได้มากกว่า เช่น ปัญหาต่างๆ ความยากในการขาย ความล้มเหลว ฯลฯ 

คงพูดได้ยากว่าทุกคนในทีมงานของคุณสามารถรับมือและผ่านมันไปได้พร้อมคุณ หรือพัฒนาตัวเองให้เอาชนะปัญหาด้วยความมุ่งมั่น แต่จะมี “คนบางกลุ่ม” ที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ เพราะประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ต่างกรรมต่างวาระ เมื่อเวลาผ่านไปจนไม่ก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้น บุคคลเจ้าปัญหาจะเริ่มกลายเป็น “มะเร็งร้าย” 

พิษที่เกิดขึ้นคือนอกจากพวกเขาจะทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิมแล้ว พวกเขายังกลายเป็น “เนื้อร้าย” เข้ากัดกินทีมงานคนอื่นๆ ที่ทำงานอย่างตั้งใจ กลายเป็น “มลพิษ” ที่ทำให้บรรยากาศโดยรวมเสียหาย และครอบงำทั้งทีมโดยสิ้นเชิง

ผมจึงมีวิธีการแก้ปัญหากับโรคมะเร็งภายในทีมงานของคุณ ดังนี้ครับ

1. ทำความเข้าใจกับ ‘ระยะฟักตัว’ ของบุคคลเจ้าปัญหา

พนักงานช่วงที่เริ่มมีปัญหากับการทำงาน ส่วนใหญ่จะมาจากความรู้สึกที่ตัวเองทำงานได้ไม่ดี ผลงานยังไม่ปรากฎ ทักษะไม่ถึง ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยอารมณ์ท้อแท้ก่อน ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่คุณต้องใช้ประเมินพวกเขา เช่น ความยากของการขาย จำนวนลูกค้าในตลาด คู่แข่งในตลาด กิจกรรมทางการขายของพวกเขา ฯลฯ ซึ่งต้องใช้การวัดผลอย่างมีเหตุผล แต่ถ้าปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่เซลล์ของคุณไม่ทำงาน ไม่รับผิดชอบ ไม่เคยโทษตัวเอง ทำงานห่วยเอง ไม่ปฎิบัติตามระบบ ฯลฯ หมายความว่าพวกเขากำลังฟักตัวและกลายเป็นมะเร็งร้ายต่อไปแน่นอน

คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้บรรยากาศโดยรวมของทีมเสียหาย เช่น จับกลุ่มนินทาคุณ นินทาเพื่อนร่วมงาน เลียแข้งเลียขาคุณมากจนผิดสังเกต ไม่ทำงานจนคนอื่นในทีมรู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่ยุติธรรม ฯลฯ ถึงแม้ว่าการกระทำไม่ได้มีผลกับคุณโดยตรง แต่เพื่อนร่วมงานของเขาบางคนอาจไม่ชอบบุคคลเจ้าปัญหาเหล่านี้ กลายเป็นว่าคนที่ทำงานได้ดีอยู่แล้วก็เริ่มอึดอัด เสียบรรยากาศในการทำงาน เลวร้ายที่สุดคือขอลาออกไปหาทีมงานใหม่ที่เพื่อนร่วมงานมีทัศนคติดีกว่านี้ มะเร็งร้ายเต็มขั้นของพนักงานที่เป็นมลพิษจะส่งผลโดยรวมกับทั้งทีม

2. ใช้ความพยายามในการ ‘ปรับทัศนคติ’ กับพวกเขา

การโค้ชชิ่งและอบรมพนักงานเจ้าปัญหาก็ถือว่าเป็นหนึ่งในทักษะความเป็นผู้นำของคุณเช่นกัน ถ้าคุณพบว่าพวกเขาเริ่มมีปัญหากับการทำงาน เริ่มตกอยู่ในระยะฟักตัว เริ่มเป็นบุคคลที่กำลังผิดหวัง ท้อแท้ หรือขาดความรับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ จงเรียกเขามาปรับความเข้าใจ เพราะบางทีพวกเขาอาจทำงานแย่ลงจากปัญหาส่วนตัวก็ได้ ซึ่งพวกเขายังสมควรได้รับโอกาสจากคุณ 1 ครั้ง เพื่อความเท่าเทียมกันและให้โอกาสพวกเขาในการปรับปรุงตัว โดยมีการวัดผลที่ดี ส่งเสริม ให้กำลังใจพวกเขาเมื่อทำงานได้ดีขึ้น มะเร็งที่กำลังฟักตัวก็สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องตัดทิ้ง

3. เริ่มใช้ ‘พระเดช’ เมื่อพบว่าการรักษามะเร็งนั้นไม่ได้ผล

เคยได้ยินคำว่า “พระเดชพระคุณ” ไหมครับ พระคุณที่ว่านั้นก็เปรียบกับการเป็น “พ่อพระ” ที่พร้อมให้โอกาสคนและเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะปรับปรุงตัวได้แบบข้อ 2 แต่พระเดชนั้นเป็นอะไรที่ “ตรงกันข้ามเลย” พระเดชคืออำนาจในฐานะผู้จัดการหรือผู้บริหารที่คุณต้องใช้ “ไล่หรือเชิญ” พนักงานที่กลายเป็นมะเร็งเต็มขั้นออกไป ตัดเนื้อร้ายเพื่อรักษาบรรยากาศการทำงานในทีมให้กลับมาดีเหมือนเดิม ถึงตรงนี้คงต้องสวมบทความเป็นมืออาชีพในการไล่พนักงานที่ทำงานได้แย่และไม่ปรับปรุงตัวเมื่อให้โอกาสออกไป ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะ “เลี้ยงให้เสียข้าวสุก” อีกต่อไป เพราะคุณทำธุรกิจ ไม่ได้ทำการกุศล การขอยุติการทำงานของพวกเขาถือว่าเป็นหนทางของมืออาชีพ

ทักษะที่สำคัญของผู้บริหารคือการเลือกตัดสิ่งที่เป็นพิษต่อองค์กรเพื่อรักษาส่วนดีให้ก้าวหน้าต่อไป หนทางของมืออาชีพไม่มีคำว่าใช้อารมณ์ ทุกอย่างคือเหตุและผลจากการประเมินเท่านั้น 

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น