ลูกน้องมี Mindset ที่ไม่ดี ต้องทำอย่างไร

มีคำถามจากทางบ้านที่กำลังปวดหัวเกี่ยวกับการบริหารลูกน้อง เพราะเขาคิดว่าลูกน้องทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ผลการทำงานแย่ลงทั้งๆ ที่สอนงานได้เป็นอย่างดีแล้ว เลยสรุปว่าน่าจะเป็นที่ Mindset หรือความคิดและทัศนคติที่ไม่ดีมากกว่า ซึ่งก็ต้องบอกว่าจริงครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ยากมากๆ อีกต่างหาก อีกทั้งถ้าคุณไม่ค่อยได้ใกล้ชิดลูกน้องเท่าไหร่ คุณอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า Mindset ของพวกเขาเริ่มไม่ดีแล้ว มาดูวิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้จากผมกันเลยครับ

1. แก้ที่สาเหตุว่าทำไม Mindset ถึงไม่ดีด้วยการคุยแบบ One-on-One

วิธีนี้ดีที่สุดแล้วในการเข้าถึงทัศนคติและความคิดของลูกน้องว่าตอนนี้คิดอะไรอยู่ แล้วค่อยประมวลผลว่าพวกเขามีความคิดที่ไม่ดีจริงๆ อย่าพึ่งรีบตัดสินใจทันที จงคำนึงถึงทักษะ Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของลูกน้องจริงๆ วิธีการเปิดใจคุยแบบ One-on-one มีดังนี้

– ทำการนัดหมายลูกน้องและหาสถานที่ เช่น ห้องประชุมและต้องคุยกันแบบตัวต่อตัวเท่านั้น
– บอกลูกน้องและสัญญาว่าจะรักษาความลับในการคุยให้จบที่ห้องประชุมเท่านั้น
– เริ่มจากการถามคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับความคิดและทัศนคติเรื่องงาน และจงเป็นผู้ฟังที่ดี
– ถามคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งหมด
– ถามเกี่ยวกับเป้าหมายเรื่องการทำงานหรือเป้าหมายชีวิต
– ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว (ที่พอจะเล่าได้) ที่ประสบอยู่

นี่คือคำถามคร่าวๆ ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจพวกเขาได้มากขึ้นครับ เพราะบางทีทัศนคติที่ไม่ดีอาจเกิดจากเรื่องส่วนตัวของพวกเขา เช่น มีปัญหากับทางบ้าน มีปัญหาด้านการเงิน ปัญหาสุขภาพ ฯลฯ คุณจะได้ช่วยพวกเขาแก้ปัญหาและเห็นอกเห็นใจเขาได้อย่างตรงจุด

2. ปลูกฝัง Mindset เชิงบวกให้กับลูกน้อง

เรื่องนี้จำเป็นมากๆ ที่คุณต้องมีความน่าเชื่อถือในสายตาของลูกน้องเป็นทุนเดิม ที่สำคัญคือตำแหน่ง ฝีมือการทำงาน การยอมรับจากคนส่วนใหญ่ จะต้องเป็นด้านบวกด้วยถึงจะปลูกฝัง Mindset ใหม่ให้กับลูกน้องได้ วิธีการปลูกฝังให้พวกเขา มีดังนี้

– พูดคุยเกี่ยวกับทัศนคติว่าถ้าคิดบวก มีความทะเยอทะยาน หรือรักความก้าวหน้าจะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นกว่าในปัจจุบันได้
– ลองท้าทายพวกเขาด้วยการให้โจทย์หรืองานใหม่ๆ และรับปากว่าถ้าทำได้ดีก็จะมีรางวัลตอบแทนให้ เช่น ค่าคอมมิชชั่น ค่า Incentive หรือแม้แต่การปรับตำแหน่งใหม่ๆ ให้
– ชี้ให้พวกเขาเห็นถึงความสำเร็จขององค์กรและเป้าหมายทางธุรกิจในอนาคตว่าถ้าพวกเขาร่วมมือกับคุณอย่างเต็มใจ พวกเขามีสิทธิ์ที่จะเป็นใหญ่เป็นโตและอยู่ในองค์กรที่มั่นคงได้

3. ถ้าขุนยังไงก็ไม่ขึ้น มองหาพนักงานใหม่มาแทนที่จะดีกว่า

มีครับสำหรับคนที่เข็นยังไงก็ไม่ขึ้น ถ้าคุณมั่นใจว่าส่วนใหญ่ทำงานได้ดีและวิธีการทำงานก็ไม่ได้มีอะไรผิดพลาด คุณเองก็เป็นคนที่มีความเป็นผู้นำสูง ลูกน้องส่วนใหญ่ยอมรับ จงระวังลูกน้องที่เข็นไม่ขึ้นเพราะพวกเขาจะก่อมลพิษการทำงานที่เป็นพิษ (Toxic Person) และจะทำให้บรรยากาศโดยรวมเสียไป ลองหาคนมาแทนที่หรือปรับตำแหน่งให้เขาไปทำอย่างอื่น แรงกว่านั้นก็เชิญออกก็สามารถทำได้เพื่อรักษาบรรยากาศในทีมเอาไว้ครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts