ถ้าคุณเป็นเซลล์แบบ B2B Enterprise และขายโซลูชั่นขนาดใหญ่ หรือเป็นงานโปรเจคเกี่ยวกับภาครัฐและเอกชน (มหาชน) คุณคงทราบดีว่ากว่าจะนัดลูกค้าได้ก็ ‘เลือดตาแทบกระเด็น’ ที่สำคัญคือต้องมานั่งลุ้นอีกว่า ‘องค์ประชุม’ ฝั่งลูกค้า มีผู้เกี่ยวข้อง ‘เข้ากันครบ’ หรือไม่ เพราะบางทีการนัดได้ถึงระดับ ‘ผู้มีอำนาจตัดสินใจ’ อย่างเดียวอาจไม่พอ เนื่องจากอิทธิพลฝั่งอื่นๆ โดยเฉพาะ ‘คนทำงาน’ ของลูกค้าก็สำคัญไม่แพ้กัน มาดูกันว่าองค์ประชุมที่ดีและถ้าคุณสามารถบอกลูกค้าให้แต่ละฝ่ายของลูกค้าเข้าร่วมการนำเสนอได้ การประชุมจะมีผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดี มีอะไรให้ทำต่อและเปิดโอกาสไปสู่การปิดการขายได้อย่างแน่นอน ใครกันบ้างที่ควรเข้าร่วมให้ครบองค์ประชุม มีดังนี้ครับ

1. ผู้มีอำนาจตัดสินใจ (Decision Maker)

นี่คือบุคคลที่สำคัญที่สุดในการประชุมเลยก็ว่าได้ พวกเขามักสนใจเกี่ยวกับ ‘ความคุ้มค่าในการลงทุน’ เป็นหลัก มีอำนาจสั่งการให้ลูกน้องที่เป็นฝ่ายต่างๆ เข้ามา ‘รับลูก’ และส่งโจทย์ให้คุณได้ทำ Proposal หรือใบเสนอราคา แต่ก็แน่นอนว่าพวกเขาจำเป็นต้องฟังผู้เข้าร่วมฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะฝ่าย ‘คนทำงาน’ ในการประเมินว่าโซลูชั่นของคุณมีประสิทธิภาพที่ผ่านเกณฑ์หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าบุคคลระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมนั้น ผมแนะนำให้คุณนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการลงทุน (ROI: Return of Investment) เป็นหลักครับ และผลกระทบต่อองค์กรเชิงกลยุทธต่างๆ ตำแหน่งที่สำคัญ เช่น

บทบาทสำคัญ:

– ประเมิน คุณค่าทางธุรกิจ (Business Value) ของโซลูชัน

– พิจารณา ความคุ้มค่าของการลงทุน (ROI) และผลกระทบต่อกำไร/การเติบโต

– ให้การอนุมัติ งบประมาณและทรัพยากร

– เป็นผู้ที่จะ ขับเคลื่อนโครงการจากระดับบน และเป็นผู้กำหนดทิศทาง

ตัวอย่างตำแหน่ง

– Managing Director, General Manager, Chief Executive Officer

– Chief Operating Officer, Chief Financial Officer

– Chief Commercial Officer, Chieft Marketing Director

– Chief Information Technology, Chief Technology Officer

– SVP, EVP, VP, Head of, Director

2. ผู้จัดการ (Manager, Influencer)

ผู้จัดการคือบุคคลสำคัญที่อยู่ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายปฎิบัติการ (คนใช้งานสินค้าคุณจริง) ทำให้พวกเขาสามารถประเมินโซลูชั่นคุณได้ทั้งเรื่อง Technical และ Business ที่สำคัญคือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องรายงานผลงานกับผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจฯ โดยตรง ปกติแล้วถ้ายังไม่ได้เข้าถึงระดับผู้มีอำนาจฯ การนำเสนอของคุณจำเป็นต้องชนะใจลูกค้าได้ทั้งเรื่องงานปฎิบัติการและผลลัพธ์ทางธุรกิจ เช่น

บทบาท:

– เป็นผู้ที่จะช่วย ขับเคลื่อนโครงการ ภายในแผนก

– ยืนยันความถูกต้องของปัญหาที่ผู้ใช้งานนำเสนอ

– ช่วยอธิบาย ผลกระทบของปัญหา ในวงกว้างต่อแผนกหรือองค์กร

– ให้ข้อเสนอแนะด้าน การบูรณาการระบบ (Integration) หรือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการ

– ประเมิน ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้จริง ในระดับแผนก

3. ผู้ใช้งานจริงหรือผู้ที่อยู่ฝ่ายปฎิบัติการ (User, Operation Manager)

ภาษาชาวบ้านก็คือ ‘ลูกน้องคนทำงาน’ ของระดับผู้จัดการและผู้มีอำนาจตัดสินใจ พวกเขาคือผู้ที่เข้าใจปัญหาและกระบวนการทำงานในระดับปฏิบัติการมากที่สุด ทำให้คุณต้องเน้นการนำเสนอเชิงลึกทางเทคนิค วิธีการใช้งาน และประสิทธิภาพของโซลูชั่น ประเด็นเรื่องของการลงทุนอย่างคุ้มค่าหรือการนำเสนอข้อมูลเชิงธุรกิจจึงเป็นเรื่องรองๆ หรืออาจจะไม่สำคัญเลยด้วยซ้ำ คุณจะเจอการยิงคำถามเชิงเทคนิคมากที่สุด การเตรียมผู้เชี่ยวชาญในการตอบคำถามที่ยุ่งยากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

บทบาท:

– ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ ปัญหา (Pain Points) ที่แท้จริง ในส่วนของการทำงานเชิงเทคนิคในปัจจุบัน

– ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ความต้องการทางเทคนิคหรือการใช้งาน ของระบบและผลิตภัณฑ์

– ช่วยให้คุณเข้าใจ Workflow ของพวกเขา เพื่อนำเสนอโซลูชันที่สอดคล้อง

– เป็นผู้ที่จะช่วย “นำร่อง” การใช้งานจริง และเป็น User ที่คุณต้องสอนการใช้งาน เมื่อมีการนำไปใช้จริง

4. ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้คัดค้าน (The Advisor, The Blocker)

กลุ่มคนฝ่ายนี้ผมพึ่งมีประสบการณ์ไม่นานในการดีลงานราชการซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ สังเกตง่ายๆ คือตำแหน่งของพวกเขามักจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องโดยตรงกับฝ่ายที่เรานำเสนอขาย เช่น เราขายงานไอทีโซลูชั่นขนาดใหญ่ซึ่งจะมีแต่บุคลากรไอที แต่กลับมีคนตำแหน่งอื่นเข้าร่วมซึ่งเดี่ยวผมจะบอกครับว่าเขาสามารถคัดค้านหรือสนับสนุนการนำเสนองานของเราได้อย่างไร ดังนี้

บทบาท:

ผู้ที่อาจจะเสียประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลง เช่น คุณขายระบบ ERP ที่ฝ่ายไอทีรับผิดชอบแต่ฝ่าย HR ของลูกค้าต้องใช้งานด้วย ทำให้ฝ่าย HR ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ คุณต้องเข้าใจความกังวลของพวกเขาให้มากๆ เพราะพวกเขาไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ขัดขวางงานของคุณได้

ผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง ที่อาจให้ข้อเสนอแนะสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบ การเงิน หรือคู่เทียบ เช่น ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดซื้อ เป็นต้น

ผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้บริหาร แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการ เช่น ที่ปรึกษาพิเศษ (ที่แม่งชอบพูดง่ายเหมือนปาก แต่ทำยาก ฮา)

ตัวอย่างตำแหน่ง:

– ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Procurement Manager)

– ที่ปรึกษาภายนอก (External Consultants)

– หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย (Legal Counsel) (โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่มีสัญญาซับซ้อน)

– “ผู้จัดการระดับกลาง” ที่อาจจะรู้สึกถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลง เช่น ฝ่าย HR, การเงิน, บัญชี ฯลฯ

การทำความเข้าใจโครงสร้างองค์กรของลูกค้า และระบุผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้คุณนำเสนอได้ตรงจุด คลายข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้น และผลักดันโครงการให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดครับ