วิธีเขียน Business Plan เพื่อเป้าหมายธุรกิจปีหน้าอย่างง่าย

แผนธุรกิจ ถือว่าเป็นหลักการตามตำรา MBA ที่เหล่าผู้ประกอบการ SME หรือบรรดา Selfmade ที่คิดว่าตัวเอง “รวยแล้ว” ไม่ค่อยใส่ใจกันมากนัก คงเป็นเพราะว่ามันดูเข้าถึงยากและจับต้องไม่ค่อยได้ เอาจริงๆ พวกคุณไม่ใส่ใจที่จะทำและปิดใจว่ามันยากเสียมากกว่า ผมบอกเลยนะครับว่าเรื่องนี้โคตรสำคัญเพราะการเขียนแผนด้วยกระดาษแผ่นเดียว สามารถกำหนดทิศทางธุรกิจของคุณว่าจะเข้าเป้าหรือมั่วนิ่ม ล้มเหลว ไม่ก็ฟลุ้กได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถ้าเขียนไม่เป็นไม่ต้องตกใจ มาเรียนรู้จากผมตรงนี้กันเลยครับ

1. Executive Summary สรุปภาพรวมธุรกิจในปีนี้ให้หน่อย

คงไม่ยากนักถ้าจะเขียนภาพรวมธุรกิจ “ด้วยภาษาคนที่เข้าใจง่าย” ดังนี้

– แนะนำธุรกิจของคุณว่าทำอะไรแบบง่ายๆ เช่น ธุรกิจคุณเกี่ยวกับระบบไอที วิศวะ การตลาด อะไรก็ว่ากันไปแบบภาษาคนเข้าใจง่ายอ่ะครับ

– ประกาศวิชั่นและมิชชั่นของธุรกิจคุณให้ชัดเจน มีตัวอย่างง่ายๆ สำหรับวิชั่นคือ “ความฝัน” ของธุรกิจคุณว่ามันจะก้าวไปถึงตรงไหนแบบไม่เพ้อฝัน เช่น อยากได้ 100 ล้านภายในสามปีเพราะตอนนี้ได้ 30 ล้านแล้ว หรือเข้าตลาดหุ้นภายใน 5 ปี เพราะตอนนี้โต 100 ล้านแล้ว เป็นต้น ส่วนมิชชั่นคือภารกิจที่ทำให้บรรลุความฝัน เช่น จะทำยอดขายให้โต 150% ต่อเนื่อง 5 ปี เพื่อเข้าตลาดหุ้นให้ได้ มีสินค้าและโซลูชั่นใหม่ที่ทำให้ผลลัพธ์นั้นเป็นจริง เป็นต้น

– บอกให้ชัดว่าจุดเด่นของธุรกิจคุณมีคุณค่าอะไรสูงสุด เช่น มีทีมติดตั้งหรือคิดค้นสินค้าที่ยอดเยี่ยม มีบริการหลังขายที่ได้มาตรฐานระดับโลก ได้รับรางวัลระดับชาติการันตี เป็นต้น ยิ่งมีผลงานประกอบก็ยิ่งน่าเชื่อถือ

– แนบข้อมูลประกอบเกี่ยวกับผลงานด้านงบการเงินเข้าไปด้วย เช่น ยอดขาย กำไร จำนวนลูกค้า ฯลฯ

2. Business Description อธิบายความเป็นมาของธุรกิจ

เรื่องนี้ก็ไม่ยากเพื่อให้คนอื่นหรือตัวคุณเองเข้าใจธุรกิจตนเองมากขึ้น ดังนี้

– อธิบายประวัติความเป็นมาของธุรกิจคุณและปัจจุบันเป็นอย่างไร

– อธิบายกลุ่มอุตสาหกรรมที่คุณเข้าไปดำเนินงานในส่วนของภาพรวมแบบเข้าใจง่าย เช่น ราชการ การเงิน โรงงาน ฯลฯ เป็นยังไง

– กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของคุณเป็นหลัก

3. Product and Service สรุปสินค้าและบริการในขณะนี้

– เอาสินค้าและบริการทั้งหมดมาเขียนและดูว่ามีอะไรบ้าง

– ต้องเขียนให้ได้ว่าสินค้าและบริการแต่ละตัวนั้นมีจุดขายและจุดเด่นอย่างไร เอาง่ายๆ คือโม้ลูกค้ายังไงแล้วลูกค้ายอมซื้ออย่างนั้น

4. Market Analysis ต้องวิเคราะห์ภาพรวมตลาดของธุรกิจคุณให้ออก

ภาษาชาวบ้านคือวิเคราะห์คนที่คุณไปเอาเงินเขา ดังนี้

– ต้องอธิบายได้ว่ากระแสของตลาด (เทรนด์) ภาษาชาวบ้านคือลูกค้าฮิตอะไรในขณะนี้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณขาย และตามมาด้วยโอกาสที่สินค้าและบริการคุณจะเติบโต เช่น คุณขายสินค้าเป็นเสื้อพลังใบ คุณบอกว่าตลาดยังไปได้ดีเพราะวัยรุ่นพลังใบและติ๊กต่อกชอบใส่เสื้อสไตล์นี้ ปีหน้าก็คิดว่าขายได้อีกตราบใดที่ใบกระท่อมกับกัญชายังถูกกฎหมาย เป็นต้น

– ต้องอธิบายการแข่งขันในตลาดว่าภาพรวมเป็นยังไง เช่น ตลาดขายยากเพราะคู่แข่งดั้มราคา หรือตลาดยังสดใสเพราะคู่แข่งเลียนแบบคุณยาก เป็นต้น

– ต้องอธิบายแผนการตลาด ซึ่งถ้าคุณไม่ได้จบ MBA เมืองนอกมาก็ไม่ต้องตกใจครับ แผนการตลาดอยู่รอบตัวคุณนี่แหละ เช่น จะทำราคาให้ถูกลง ทำสินค้าและบริการให้เจ๋งขึ้น หาลูกค้าใหม่ให้มากขึ้น อันนี้ก็คือแผนการตลาดแล้วครับผม

5. Marketing and Sales Strategy คือแผนการตลาดกับกลยุทธการขาย

เรื่องนี้ต้องสั่งสมประสบการณ์จากการขายและการทำแผนการตลาด บวกกับการเรียนรู้ ศึกษา แม้แต่ก๊อปปี้คนที่เก่งกว่าก็ได้ ดังนี้

– เขียนก่อนว่าแผนการตลาดกับการขายของคุณเป็นยังไง การตลาดคือกิจกรรมในการหาลูกค้าให้วิ่งมาหาคุณ คิดอะไรไม่ออกก็บอกแผนโฆษณาของคุณก็ได้ครับ จะใช้เว็ปไซต์ เฟซบุ้ค ออนไลน์ ออฟไลน์ก็ว่ากันไป ส่วนแผนการขายคือกิจกรรมตอนอยู่ต่อหน้าลูกค้าว่าจะปิดการขายอย่างไร เอาง่ายๆ ก็คือจะมีทีมนักขายที่มีประสบการณ์ในการเจอลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่อย่างไร ใช้เทคนิคหรือวิธีการอะไรในการปิดการขาย หรือนักขายมีจุดเด่น มีสินค้าที่ดีกว่า หรือกลยุทธด้านราคา โปรโมชั่น เพื่อปิดการขายง่ายขึ้น

– อธิบายว่าคุณจะทำให้ลูกค้าติดต่อคุณได้อย่างไร ก็ขยายความจากกิจกรรมด้านการตลาดและการขายด้านบน

– เขียนกลยุทธด้านการตั้งราคาด้วย เช่น ตั้งราคาสูงเพราะมุ่งหวังให้ลูกค้าโฟกัสที่คุณภาพ หรือตั้งราคาต่ำเพราะสินค้าไม่โดดเด่นจึงใช้ราคาเป็นตัวนำ เป็นต้น

6. Operation and Management งานปฎิบัติการและการจัดการ

เป็นส่วนของการดูว่าองค์กรของคุณมีทีมงานอะไรบ้างที่สนับสนุนเป้าหมายให้เป็นจริง ดังนี้

– อธิบายโครงสร้างองค์กรของคุณ แบ่งออกเป็น แผนก ฝ่าย และมีใครบ้างในนั้น

– ไฮไลท์คนที่เป็นคีย์แมนเป็นหลัก และหน้าที่ของพวกเขา เช่น ท็อปเซลล์ของฝ่ายขาย มือติดตั้งระบบระดับเทพ หัวหน้าระดับผู้บริหาร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ฯลฯ

– อธิบายสถานที่ตั้ง สิ่งอำนวยความสะดวก อาคาร โรงงาน ฯลฯ และที่สำคัญคือซัพพลายเออร์คนสำคัญที่ส่งของมาให้คุณ

7. Financial Projection การประมาณรายได้ในอนาคต

เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนมักไม่ค่อยทำกัน ลองทำดูแล้วจะทำให้คุณรู้ว่าความฝันของคุณเป็นจริงได้มากแค่ไหน หรือต้องการทรัพยากรอะไรมาช่วยเสริม ดังนี้

– ลองประมาณรายได้หรือทำนายเล่นๆ ว่าปีหน้า อีก 2-3 ปี น่าจะมีรายรับประมาณเท่าไหร่

– มีรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น รายรับ รายจ่าย ผลกำไร ฯลฯ

– เงินกู้หรือเงินทุนที่ต้องการ (ถ้าจำเป็นต้องมี)

8. Funding Request กู้เงินหรือเงินทุนที่ต้องการ

เป็นไปได้ว่าคุณต้องได้การสนับสนุนด้านการเงินจากการกู้ธนาคารหรือหาหุ้นส่วน นายทุน ดังนี้

– เขียนให้ชัดว่าต้องการเงินกู้เท่าไหร่ กู้ไปทำอะไร

– อธิบายว่าจะไปขอเงินกู้ได้อย่างไร

– กู้แบบไหน เช่น ใช้ OD แบ้ง กู้แบ้ง SME ดอกเบี้ยเป็นยังไง เงื่อนไข ฯลฯ

9. Conclusion บทสรุป

– สรุปจุดแข็งและโอกาสที่ซ่อนอยู่ของธุรกิจคุณ

– มุ่งเน้นว่าทำไมคนอ่าน เช่น เจ้านาย ธนาคารปล่อยเงินกู้ หุ้นส่วนใหม่ ฯลฯ ถึงต้องเชื่อมั่นและลงทุนกับคุณ

– ตอบตัวเองได้ว่าต้องการอะไรและเห็นโอกาสหรือภัยคุกคามของธุรกิจคุณได้อย่างไร

10. Appendices ภาคผนวก

– สรุปสั้นๆ เชิงอรรถ เช่น เรซูเม่ของทีมงาน ข้อมูลวิจัยด้านการตลาด รายละเอียดโบรชัวร์สินค้าและบริการ เป็นต้น

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts