ตัวต่อตัวกันไปเลย

แมนๆ เตะบอล ใครเก๋าเข้ามา “ตัวตัว” กับกูเลย แล้วกับเจ้านาย ถ้าไม่พอใจก็นัดเคลียร์กันตัวต่อตัวเลย ผมล้อเล่นน่ะครับ วันนี้ผมไม่ได้ให้คุณไปท้าตีท้าต่อยกับเจ้านายแต่อย่างใดนะครับ สำหรับคนที่เป็นนายเองก็เช่นกัน เวลามีปัญหาไม่ว่าจะเป็นพวกเขาทำงานไม่ได้เรื่องหรือยังไม่เข้าตา จัดให้ลูกน้องซักทีครับสำหรับการวัดกันแบบตัวต่อตัวหรือ “One-on-one” นั่นเอง

กิจกรรม one-on-one ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง คือหนึ่งในสุดยอดกิจกรรมที่ทำให้ทีมงานทำงานได้ดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว สังคมการทำงานแบบ “ไทยๆ” ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนักเพราะว่าคนไทยด้วยกันมักชอบ “หยวนๆ” หรือติดลูก “เกรงใจ” เลยไม่ค่อยทำกิจกรรมแบบนี้มากนัก มาดูกันว่าทำไมคุณถึงต้องเริ่มกิจกรรมนี้เพื่อการทำงานที่ดีขึ้น

1. วันออนวัน คือกิจกรรมเปิดใจที่มีคุณแค่สองคนอย่างแท้จริง

กิจกรรมวันออนวันมีจุดประสงค์ในการพูดคุยเพื่อเปิดใจกันทั้งสองฝ่าย ควรจัดให้อยู่ในห้องประชุมที่ค่อนข้างส่วนตัว ไม่มีผู้อื่นรบกวน การเปิดใจไม่จำเป็นต้องมีแต่เรื่องงานอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องที่สามารถเปิดใจกันได้มากกว่าเรื่องงาน อาทิ เช่น เรื่องส่วนตัว ความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบ การเปิดเผยความลับบางอย่าง หรือแม้กระทั่งเรื่องไร้สาระ ตลกขบขัน ก็สามารถวันออนวันได้ กิจกรรมนี้ทำได้ทั้งสองฝ่ายว่าใครจะเริ่มก่อน แต่ผมขอเน้นเป็นพิเศษนะครับว่าคนที่เป็นเจ้านายควรเป็นผู้เริ่มต้นก่อนเสมอ

2. แก่นแท้ของเรื่องนี้คือการ Feedback ที่เต็มใจรับทั้งคำชมและคำติ

ถ้าคุณเป็นผู้จัดการและต้องการชี้ให้ลูกน้องของคุณทำงานได้ดีขึ้น ชี้ให้พวกเขาเห็นจุดบกพร่องต่างๆ หรือรีวิวผลการทำงานที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เราจะเรียกวิธีนี้ว่า Feedback คุณควรแจ้งลูกน้องก่อนว่าการ Feedback ทั้งด้านบวกและด้านลบเป็นเพราะคุณจริงใจและหวังดีกับพวกเขาจริงๆ

แนะนำว่าให้เลือกใช้คำพูดที่ไม่พยาบคาย ไม่ทำร้ายจิตใจกันเกินไป ไม่ใช้คำพูดแดกดัน ประชดประชัน หรือคำพูดแย่ๆ ที่ขาดความเป็นมืออาชีพ และจุดสำคัญของเรื่องนี้คือควรให้ลูกน้อง Feedback การทำงานของคุณด้วย ห้ามรู้สึกว่าต่อต้านหรือเสียหน้าเป็นอันขาด เคารพในฐานะความเป็นมนุษย์เหมือนกันแล้วลูกน้องจะรักกับเชื่อมั่นในตัวคุณมากขึ้นจริงๆ ครับ

3. หลีกเลี่ยงกลไกปกป้องตัวเองระหวังที่รับฟัง Feedback

เชื่อเถอะว่าคนส่วนใหญ่ไม่ชอบการถูกวิพากวิจารณ์หรือโดน Negative Feedback กันหรอกครับ นอกจากจะต้องเปิดใจฟังด้วยความเต็มใจแล้ว สิ่งที่คุณควรต้องควบคุมให้ได้ก็คือกลไกการปกป้องตัวเองโดยเฉพาะการรับแรงกระแทกจากคำวิจารณ์ สิ่งที่ผิดพลาด พยายามห้ามใจตัวเองไม่ให้รีบพูดเถียงหรือหาเหตุผลเพื่อให้ตัวเองถูก คนแบบนี้มีเยอะมากในสังคม สิ่งที่ตามมาก็คือไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดและสุดท้ายก็ไม่พัฒนา จงน้อมรับคำวิจารณ์และฟังแบบจับใจความว่าคุณต้องปรับปรุงจริงหรือไม่ เชื่อเถอะว่าไม่มีใครไม่หวังดีหรอก พวกเขาถึงพูดกับคุณตรง เก็บมาคิดและพัฒนา รับรองว่าเติบโตได้ไกลเลยครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts