จงถามตัวเองก่อนลาออกจากงาน

ใกล้เข้าสู่ปี 2020 กันแล้วนะครับ อีกประมาณ 1 สัปดาห์ สำหรับสัปดาห์นี้ก็นับว่าเป็นสัปดาห์สุดท้ายแห่งการทำงานเลยก็ว่าได้ เป้าหมายเกี่ยวกับการทำงานที่ได้ประกาศไว้ จงลงมือทำให้หนักแน่นและสม่ำเสมอเลยนะครับ

แต่สำหรับใครที่มีความรู้สึก “อยากเปลี่ยนงาน” หรือว่าคิดมาซักพักแล้ว ต้องขอบอกเลยว่าช่วงนี้เป็นฤดูกาล “ย้ายทีม” ที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็อีกนั่นแหละ การย้ายงานสำหรับใครหลายๆ คน “ไม่ใช่เรื่องง่าย” เลย

อาจเป็นเพราะความมั่นคง ความไม่กล้าเสี่ยง ความผูกพันธ์ระหว่างทีมงานกับบริษัท สภาพแวดล้อมการทำงาน เพื่อนร่วมงาน ความสนุกและท้าทายในเนื้องาน ฯลฯ

สำหรับคนที่หนักแน่นพอและมีเหตุผลรองรับอยู่แล้ว ผมคงไม่แนะนำอะไรมากนะครับ แต่สำหรับคนที่ยังมีความ “ลังเล” ผมขอให้ลอง “ถามตัวเอง” และลองฟังคำแนะนำจากผมดูครับ

1. บ้านคุณรวยอยู่แล้วใช่หรือไม่?

คำถามง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณเห็นความชัดเจนในการลาออก ถ้าคุณบ้านรวย มีทุนทรัพย์อยู่แล้ว คงไม่ต้องคิดอะไรให้มากในการลาออกเพื่อออกมาพักผ่อนหรือพักใจ แต่ถ้าบ้านไม่รวย การลาออกอย่างกะทันหันโดยไม่มีงานรองรับ ไม่คิดหน้าคิดหลัง อาจจะส่งผลเสียอย่างมากถ้าคุณไม่มีเงินเข้ามาในขณะที่ยังไม่ได้งานใหม่ การขาดเงินและอยู่ในสถานะตกงานจะทำให้คุณตกที่นั่งลำบาก จงคิดเยอะๆ ว่ากรณีเลวร้ายที่สุด คุณจะใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีงานทำได้นานแค่ไหน เลี้ยงตัวเองได้อีกกี่เดือน ยังมีเงินผ่อนบ้านผ่อนรถใช่หรือไม่ ถามตัวเองให้เคลียร์ก่อนเสมอ ถ้ายังไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องลาออกนะครับ

2. มีปัญหากับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานใช่รึปล่าว?

เรื่องนี้เป็นเหตุผลสำคัญว่าคุณจะอยู่หรือคุณจะไป ถ้าคุณมีปัญหาอยู่จริง จงวิเคราะห์ให้ดีว่าเป็นเพราะคุณเองที่ทำงานห่วยเองหรือกลายเป็นตัวปัญหาซะเองหรือปล่าว สมมติว่าเป็นที่ตัวคุณ จงปรับปรุงแก้ไขแล้วอย่าพึ่งลาออกซะนะครับ ดีไม่ดีคุณจะถูกไล่ออกเอง แต่ถ้าไม่ การเลิกทำงานกับเจ้านายที่ทำให้ชีวิตคุณมีปัญหา การงานไม่ราบรื่น โดนข่มเหงรังแก ทำงานไม่เป็น ทำให้คุณเสื่อมศรัทธาไม่ว่าจะเป็นเหตุผลอะไรก็ตามจนก่อให้ขาด “ความไว้วางใจ” ซึ่งกันและกัน เรื่องของเจ้านายไม่เท่าไหร่เพราะเขามีอำนาจเหนือคุณ แต่คุณเองนั่นแหละที่ต้องถามจริงๆ ว่าทนอยู่หรือว่าอยู่ทน การมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานก็เช่นกัน มันจะตรงกับคำที่ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” นั่นเองครับ 

3. มีเงินเก็บมากพอระหว่างที่ไม่มีงานทำ?

เพราะเงินเก็บส่วนนี้หมายถึงการคำนวนสภาพคล่องในแต่ละเดือนเมื่อไม่มีรายได้หรือไม่มีงานทำ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่ากินอยู่ ค่าเทอมลูก ค่าเลี้ยงดูครอบครัว ฯลฯ ถ้าคิดว่าไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีงานทำเกิน 3 เดือน ผมคิดว่ายังเสี่ยงเกินไปที่จะลาออกครับ เพราะการหางานใหม่บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กรณีที่คุณไม่เจ๋งจริง ยิ่งอายุคุณสูงขึ้นและตำแหน่งใหญ่โตขึ้น บางทีกระบวนการคัดเลือกพนักงานและสัมภาษณ์งานอาจจะยาวเกินกว่านั้น แต่ถ้าคุณมั่นใจว่ามีเงินเก็บเลี้ยงตัวเองมากพอถึง 3 เดือน คุณสามารถลาออกเพื่อหางานใหม่โดยที่เสี่ยงน้อยได้ครับ

4. อายุยังไม่ถึง 40 ใช่หรือไม่?

สำหรับคน Gen-Y ที่อายุยังไม่เกิน 32 ปีและ Gen-Z ที่พึ่งเรียนจบใหม่ การลาออกเพื่อย้ายงานและหาความต้องการใหม่ๆ ถือว่าเป็นเรื่องปกติมากครับ ถ้าคุณรู้ตัวดีแล้วว่าไม่ชอบงานที่ทำและไม่รู้ว่าจะดันทุรังไปทำไม ผมสนับสนุนให้ “ลาออก” เพื่อลองค้นหาตัวเองดู เพราะคุณยังเสี่ยงได้อีกเยอะ แต่สำหรับ Gen-Y ที่อายุประมาณ 32 ปีขึ้นไป การเปลี่ยนงานหรือลาออกเพื่อค้นหาตัวเองอาจจะเสี่ยงเกินไป เพราะอายุประมาณนี้ ถ้าคุณอยากเป็นลูกจ้างมืออาชีพ คุณจะต้องมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระดับหนึ่งเพื่อขึ้นไปให้ถึงพนักงานระดับสูง จงพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี ส่วนคนที่อายุเกิน 40 ปีไปแล้วและยังไม่มั่นใจว่าการลาออกจะได้งานหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น คุณจะต้องลงสนามสู่ตลาดงานที่มีที่ว่างให้คุณน้อยลง เพราะคุณต้องแข่งกับเด็กรุ่นใหม่ในตลาดด้วย จงคิดถึงเรื่องนี้ดีๆ

5. ได้งานใหม่แล้วหรือยัง?

ถ้าได้งานใหม่ในฝันหรืองานที่ต้องการแล้วก็ต้องขอกล่าวว่า “ยินดีด้วยครับ” จะออกไม่ออกก็เรื่องของคุณแล้วล่ะแต่ถ้ายังไม่ได้งานใหม่ การลาออกด้วยอารมณ์อาจจะเสี่ยงเกินไปตามที่บอกในข้อ 1 และข้อ 3 เพราะคุณจะขาดสภาพคล่อง ในกรณีที่มีหนี้ต้องชำระอยู่ การลาออกโดยที่ยังไม่ได้งานใหม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงและไม่คุ้มมากๆ เลยล่ะครับ ดังนั้นจงสร้างความมั่นใจให้ได้ว่ามีงานใหม่เข้ามาและพร้อมเริ่มงานกับที่ใหม่ก่อนลาออกนะครับ

6. ทำธุรกิจเสริมอยู่หรือไม่?

ธุรกิจเสริมในที่นี้คืองานเสริมระหว่างที่คุณทำงานหลักไปด้วย เช่น ขายประกัน ธุรกิจเครือข่าย ธุรกิจส่วนตัว ฟรีแลนซ์ ธุรกิจออนไลน์ ลงทุนหุ้น ที่ดิน อสังหาฯ เก็บค่าเช่า ฯลฯ ถ้าคุณมีรายได้เสริมจากงานเหล่านี้และได้รับค่าตอบแทนที่ดี การลาออกเพื่อออกมาสร้างตัวด้วยตนเองก็เป็นสิ่งที่น่าเสี่ยง (และคุ้มที่จะเสี่ยงด้วย) นักธุรกิจหลายคนออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเองและประสบความสำเร็จเพราะมีปัญหากับที่ทำงานเก่า จึงออกมาทำธุรกิจด้วยตัวเองก็หลายราย (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ฮา) แต่ถ้าคุณไม่มีงานเสริมเลย การลาออกหรือได้งานใหม่ที่ไม่ได้ดีไปกว่าเดิมเท่าไหร่ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะไม่คุ้มครับ

7. คุณได้รับค่าจ้างที่น่าพอใจหรือไม่?

บางทีคุณอาจจะเป็นคนที่ทำงานดี มีผลงานที่น่าประทับใจ แต่อยู่กับบริษัทที่ให้ผลประโยชน์คุณแบบธรรมดา ไม่มีอะไรหวือหวา คงไม่ผิดอะไรที่คุณเริ่มเห็นเพื่อนรอบตัวมีงานทำที่ดีกว่าคุณ มั่งคั่งมากกว่าคุณ ชีวิตแลดูสุขสบายและมีความสุขมากกว่าคุณ ที่สำคัญคือรายได้โดยเฉพาะเงินเดือนสูงกว่าคุณเยอะ ทั้งๆ ที่คุณก็ทำงานได้ดี สวนทางกับคุณที่รายได้ไม่ค่อยเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายและภาระกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น บ้าน รถ ลูก เมีย ฯลฯ จนคุณเริ่มรู้สึกว่าเงินไม่พอใช้ ไม่สามารถมีเงินมากกว่านี้ได้ การลาออกเพื่อเปลี่ยนงานใหม่ที่ได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่าก็เป็นสิ่งที่คุณจะลองเสี่ยงดูก็ได้ หรือลองคุยกับเจ้านายก่อนว่าคุณอยากได้รายได้มากกว่านี้ อาจจะฟลุ้กได้เงินเดือนขึ้นก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะยากนะ เพราะนายจ้างหาคนมาแทนคุณได้ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ขาดไม่ได้ (ฮา)

8. บริษัทมีความมั่นคงหรือไม่?

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบ้านๆ หรือบริษัทระดับโลก คุณต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าธุรกิจของบริษัทที่คุณทำยังมีสุขภาพดีอยู่หรือเปล่า ตรวจสอบให้ละเอียดโดยเฉพาะข่าวลือที่พูดกันในออฟฟิศหรือตัวเลขทางเศรษฐกิจจากข่าว เว็ป ตลาดหุ้น ว่ายังไปต่อได้มากแค่ไหน แม้แต่ระดับโลกเองก็พลาดได้ เช่น บริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี พอหัวพลาดเป้า ก็เริ่มปลดพนักงานออกอย่างโหดร้าย คุณอาจโดนเชือดโดยไม่รู้ตัวก็ได้ครับ ส่วนบริษัทบ้านๆ ที่ไม่ชัดเจนเรื่องความมั่งคั่งยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าเจ๊งก็ถูกเลิกจ้างแน่นอน เพราะส่วนใหญ่ถ้าธุรกิจของบริษัทเป็นผู้นำตลาด พนักงานมักจะไม่ค่อยลาออก (เพราะรายได้และโบนัสที่ดี) ลองพิจารณาเรื่องนี้ดูดีๆ นะครับ

9. งานที่ทำอยู่ไม่มีทางที่จะทำให้คุณก้าวหน้าแล้วใช่หรือไม่?

ข้อนี้อาจจะฟังดูแรงๆ นะครับ แต่หลายๆ เคสก็พิสูจน์แล้วว่างานบางตำแหน่ง ทำให้ตายคุณก็ไม่มีทางโต คุณค่ามีจำกัด ถ้าคุณพอใจแค่นั้นก็แล้วไป แต่ถ้าคุณไม่พอใจและต้องการแสวงหาความก้าวหน้า การลาออกเพื่อหางานใหม่ที่ท้าทายและมีบันไดการเติบโตที่เป็นไปได้ตามใจฝัน เช่น งานขาย ก็เป็นสิ่งที่คุณควรลองที่จะออกไปเสี่ยงดู แต่ถ้ายังหาตัวเองไม่เจอเลย ไม่รู้ว่าชอบอะไร ถนัดอะไร ทำงานอะไร ทั้งๆ ที่โตแล้ว ผมขอแนะนำว่าอย่าลาออกเลยครับ เอาตัวเองไปเสี่ยงซะปล่าวๆ

10. คุณยังมีความสุขกับงานที่ทำอยู่ใช่หรือไม่?

ข้อสุดท้ายนั้นถือว่า “ตัดสิน” กันเลยว่าคุณควรที่จะอยู่ต่อหรือลาออก ถ้าคุณยังมีความสุขดี ไม่มีปัญหาอะไร ผมไม่แนะนำให้ลาออกเพราะการทำงานด้วยความสุขนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะมันมีความหมายรวมทุกอย่าง เช่น สุขภาพ การเงิน เวลา ความรับผิดชอบ เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ แต่ถ้าคุณไม่มีความสุขแล้วล่ะก็ ให้ลองกลับไปอ่านข้อ 1 ถึงข้อ 9 ว่าคุณตอบว่า “ไม่” กี่ข้อ ถ้ามากกว่า 5 ข้อก็เป็นสัญญานที่คุณควรจะลาออกได้แล้วครับ

ถ้าใครมีมากกว่า 5 ข้อก็ไม่ผิดที่จะเริ่มพิจารณาว่าจะลาออกหรือไม่ลาออกนะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น