เรื่องแย่ๆ ที่คุณต้องเจอสำหรับชีวิตของการเป็นนักขาย

ในเรื่องของการทำงาน “แบบสุจริต” ผมพูดได้เลยว่าทุกสาขาอาชีพล้วนมีคุณค่าและมีบทบาทหน้าที่ที่มีประโยชน์ต่อคนกับธุรกิจในสังคมอย่างแน่นอน จิตสำนึกในหน้าที่ที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบย่อมเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมทั้งนั้น

ไม่ว่าคุณจะเป็นหมอ เป็นนักบิน เป็นวิศวกร เป็นนักบัญชี เป็นนักขาย หรือเป็นคนขับแท็กซี่ คนขับรถส่งของ แคชเชียร์ ฯลฯ คุณย่อมมีคุณค่าในสิ่งที่คุณทำ สิ่งดีๆ ที่ได้จากงานก็คือ “ความเชี่ยวชาญ” โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้คุณไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ทั้งชาติก็เลียนแบบคุณไม่ได้

ค่าตอบแทนที่ได้รับตามทักษะและความสามารถก็จะถูกแปรรูปออกมาเป็นเงิน ซึ่งมากน้อยก็ขึ้นอยู่ว่าอาชีพที่คุณทำมี “ผลประโยชน์” ต่อธุรกิจมากแค่ไหน แน่นอนว่าอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็คงหนีไม่พ้นงานขาย

แต่อีกนั่นแหละครับ “เหรียญย่อมมีสองด้าน” เสมอ ทุกอย่างย่อมมีด้านสว่างและด้านมืด งานทุกงานย่อมมีเรื่องแย่ๆ ที่เป็นบททดสอบชีวิตให้คุณได้ลิ้มลองเสมอ เช่น คุณเป็นหมอก็มีมุมแย่ๆ เกี่ยวกับคนไข้หรือเคสยากๆ คุณเป็นวิศวกรที่มีเรื่องแย่ๆ เรื่องการคุมคนงานหรือความเสี่ยงการสร้างตึก เป็นต้น แน่นอนว่าอาชีพนักขายเองก็มีครับ

ผมจึงขอสรุปเรื่องแย่ๆ ที่คุณจะต้องพบเจอตลอดชีวิตของการเป็นนักขายเพื่อให้คุณได้เตรียมตัวรับมือกับบททดสอบเหล่านี้ ถ้าคุณผ่านมันไปได้ คุณจะวิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จได้เร็วกว่าคนอื่นแน่นอนครับ

1. การโดนปฎิเสธ

การโดนปฎิเสธย่อมทำให้บุคคลที่ไม่เคยลิ้มรสชาติแบบนี้มาก่อนมีความรู้สึก “เจ็บปวด” อย่างแน่นอน บางคนแค่ลูกค้าไม่รับนัดก็อาจถึงขั้นท้อแท้และเลิกเป็นเซลล์เลยด้วยซ้ำ ยิ่งคุณจบสูง เป็นคนที่มีผลการเรียนระดับเทพ พ่อแม่ตามใจ ไม่มีประวัติอันเจ็บปวดหรือผิดหวังมาก่อน คุณย่อมมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการ “รับไม่ได้” ซึ่งกว่าจะทำใจได้นั้นย่อมอยู่ที่พลังใจและการลงมือทำให้บ่อยครั้งจนคุณคุ้นชินกับคำว่าถูกปฎิเสธ ซึ่งตลอดชีวิตของการเป็นนักขายก็จะโดนปฎิเสธตั้งแต่ไม่รับสาย ไม่รับนัด ไม่ซื้อคุณ ไม่สนใจคุณ ด่าคุณ อะไรทำนองนี้แน่นอนครับ

2. การถูกกดดันด้วยยอดขาย

นักขายเกรดธรรมดาหลายๆ คนมักจะเครียดกับเรื่องนี้ เพราะส่วนใหญ่จะคิดว่า “ตอนนี้กูก็ทำเต็มที่อยู่แล้ว ทำไมต้องเพิ่มยอดให้กูอีกวะ” (ฮา) แน่นอนว่าการเพิ่มยอดขายย่อมเพิ่มความเครียดและแรงกดดันแก่ตัวนักขาย ยิ่งบางบริษัทมีการจัดระบบการจ่ายค่าคอมมิชชั่นตามยอดขายขั้นต่ำก็ย่อมทำให้เหล่านักขายที่เคยมียอดขายอยู่แล้วและได้ค่าคอมฯ ระดับที่น่าพอใจ กลับต้องขายให้เพิ่มขึ้นซึ่งบางทีก็ยังได้ค่าคอมเท่าเดิม เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ดีกว่าคือการคิดสวนทางว่าจะทำยังไงถึงจะทำยอดได้มากขึ้นตามที่บริษัทคาดหวังไว้ นี่คือบทพิสูจน์ของนักขายขั้นเทพครับ

3. การถูกทีมอื่นมองว่าคุณทำงานสบาย

งานนักขายมักจะถูกทีมอื่นที่ไม่เข้าใจในงานขายมองว่าคุณทำงานสบาย เจ๊าะแจ๊ะกับลูกค้าไปวันๆ ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ผิดนะครับ (ฮา) โดยเฉพาะสไตล์การทำงานของนักขายระดับธรรมดา ฝีมืองั้นๆ ย่อมมีเวลาว่างมากพอในการคุยเล่นหรือไปออฟฟิศลูกค้าแล้วไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากการซื้อสตาร์บั้คส์หรือขนมไปฝาก อะไรทำนองนี้ นักขายที่เก่งหรือไม่เก่งดูง่ายๆ จากจำนวนนัดลูกค้าต่อหน้าก็รู้แล้วครับ ถ้าคุณมีนัดที่น้อย คนอื่นจะมองว่าคุณทำงานสบาย กินเหล้ากับลูกค้า ตีกอล์ฟไปวันๆ พร้อมกับซี้ซั้วเบิกงบบริษัทไปเอนเตอร์เทนลูกค้าแล้วไม่ค่อยได้เงินกลับมา สิ่งเหล่านี้จึงเป็นภาพที่เหล่านักขายถูก “เหมารวม” นั่นเอง ทางทีดีคือทำงานกับลูกค้าให้หนัก เนื้อๆ จะดีกว่าครับ

4. การถูกต่อว่าและสูญเสียความน่าเชื่อถือจากลูกค้า

การขายของให้สำเร็จว่ายากแล้ว โดยเฉพาะงานโปรเจ็คยักษ์ใหญ่ มูลค่าเป็นล้าน แต่การทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามความคาดหวังของลูกค้าย่อมยากกว่า เพราะงานที่ใหญ่และยากย่อมมี “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทำงานแน่นอนโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่เชื่อดูโครงการสร้างตึก สร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่ดูสิครับ ดราม่าเรื่องเนื้องานมีเยอะเลย คุณจึงมีสิทธิ์ที่จะโดนลูกค้าด่า ต่อว่า ตำหนิ ทำให้ทุกอย่างที่ตั้งใจมาตั้งแต่แรก โดยเฉพาะการสร้างความน่าเชื่อถือและจริงใจกับลูกค้านั้นพังทลายลงได้ นอกจากเครดิตที่มีจะหมดไปแล้ว คุณอาจจะหมดสิทธิ์กลับเข้าไปขายของกับลูกค้ารายเดิมที่ผิดหวังกับสินค้าและบริการของคุณ นี่คือสิ่งที่คุณต้องเจอซักครั้งในชีวิตของการขาย

5. ความท้อแท้ที่ยอดไม่มาซักที

การขายมักมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เกิดการซื้อขายหรือแม้กระทั่งความล้มเหลวที่พยายามอย่างไร ยอดขายก็ไม่มาซักที ผมขอให้คุณลอง “โทษตัวเอง” ก่อนนะครับว่าจริงๆ แล้วสาเหตุมาจากคุณหรือไม่ เช่น ทำงานงั้นๆ ไม่เคยตามงานเลยอ้างไปเรื่อย เป็นต้น แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วจริงๆ ทุกอย่างเป็นมืออาชีพ บางทีปัจจัยภายนอกก็อาจทำให้สภาวะตลาดไม่ดีเท่าที่ควร เช่น ลูกค้าไม่มีเงินจริงๆ สินค้าและบริการไม่ได้ตอบโจทย์หรือตกเทรนด์ไปแล้ว ฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย ล้มเลือกตั้ง (ฮา) เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้คุณตกอยู่ในความท้อแท้พอสมควรครับ

6. คนในองค์กรทำเสียเรื่อง

บางทีคุณดีลกับลูกค้าไว้ดิบดี แต่ก็เป็นคนในบริษัทเองนี่แหละครับที่ทำ “เสียเรื่อง” ต้องตามล้างตามเช็ดกันอีกเฮือก แถมบางครั้งส่งผลร้ายจนดีลหลุดหรือลูกค้ายกเลิกสัญญาด้วยซ้ำ การควบคุมทีมงานให้ทำตามข้อเสนอการซื้อขายของคุณกับลูกค้าย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้งานในมือคุณเยอะขึ้น เพราะคุณคือด่านหน้าที่ต้องรับข้อมูลกับถ่ายข้อมูลให้ลูกค้า การคุมงานจึงเป็นเรื่องที่ถ้าคุณโชคร้ายได้มือทำงานที่ไม่ดี งานไม่ละเอียด มือไม่ถึง สิ่งนี้ย่อมย้อนกลับเข้าตัวคุณในฐานะเซลล์ตอแหลที่ทำไม่ได้อย่างที่พูด เรื่องนี้แหละครับที่ทำให้แผ่นหลังของนักขายเต็มไปด้วยรอยบาทาของลูกค้า

7. เจอเจ้านายห่วยๆ

เจ้านายห่วยเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้พนักงานลาออก ชีวิตของคุณจึงเหมือน “ตกนรก” ถ้าเจอเจ้านายแย่ๆ (จริงๆ ก็แทบทุกวงการ) ไล่ตั้งแต่เจ้านายที่ไม่เข้าใจระบบการขาย ใช้อารมณ์เป็นหลัก ขายไม่เป็น สอนงานไม่ได้ โยนแต่ยอดขายอย่างเดียว คุณย่อมไม่ได้อะไรที่จะทำให้คุณเก่งขึ้น แถมยังตกอยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่อาจโต้แย้งได้ มีทางเดียวก็คือต้องลาออกไปเอง กลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยด้วยซ้ำ เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่คุณอาจจะต้อง “พกดวง” ก่อนเข้าทำงานกับบริษัทใหม่ด้วยครับ (ฮา)

นี่คือเรื่องแย่ๆ ที่ผมรวบรวมมาจากชีวิตนักขายของผมเองและกับคนอื่นๆ หวังว่าทุกคนจะเตรียมรับมือกับเรื่องแย่ๆ เหล่านี้ได้นะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น