อุปนิสัยของผู้ที่มี ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ผู้อื่นที่คุณควรทำตาม

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Emphathetic) ถือว่าเป็นอุปนิสัยที่เหล่านักขายหรือคนที่ต้องการเป็นที่รักของผู้อื่นต้องมี พูดง่ายๆ ก็คือนิสัย “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “To put yourself in someone’s shoes” (ลองเอาเท้าคุณไปสวมรองเท้าของผู้อื่น) 

มันคือทักษะทางจิตวิทยาที่คุณสามารถฝึกฝนได้ทันที (แต่หลายคนก็มักจะมองข้ามกัน) และเป็นทักษะที่สำคัญที่ทำให้คุณ “เอาชนะใจ” คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว แฟน เพื่อน ฯลฯ 

ถ้าคุณอยากเป็นคนที่ดีขึ้น ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น ขอบอกเลยว่าการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่เยี่ยมยอดเลยก็ว่าได้ 

คุณจึงควรอ่านและฝึกฝนอุปนิสัยที่ดีในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นกันเดี๋ยวนี้เลยครับ

1. เป็นผู้ที่ให้ความสนใจคู่สนทนาอย่าเต็มที่

คนที่มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่นจะให้ความสำคัญกับคนที่เขาคุยอยู่ตรงหน้า ชื่นชอบการคุยต่อหน้าตัวเป็นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่พึ่งรู้จักกันไม่นาน หรือแม้แต่คนที่รู้จักกันมานาน เขาจะปฎิบัติกับคู่สนทนาราวกับตรงจุดที่เขาคุยนั้นมีแค่คู่สนทนาเพียงคนเดียวในห้อง เขาจะให้ความสนใจ มีปฎิสัมพันธ์อย่างจริงใจพร้อมกับแฝงไปด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งนับวันก็น่าจะหาคนนิสัยแบบนี้ได้ยากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่วันๆ เอาแต่สนใจโลกโซเชี่ยลกับมือถือนั่นเอง (ฮา)

2. เป็นผู้ที่เป็นนักฟังผู้อื่นที่ยอดเยี่ยม

คนที่คิดจะสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้อื่น ก่อนที่จะทำเช่นนั้นได้ คุณจะต้องมีความเข้าใจผู้อื่นก่อนเป็นอันดับแรก ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะทำให้คุณใช้เวลาในการทำความเข้าใจคู่ตรงข้ามจากหลายๆ ปัจจัย เช่น เหตุผล อารมณ์ แรงจูงใจ เป็นต้น และจะไม่ใช้ “ความรู้สึก” ในการตัดสินใครก่อนเป็นอันขาด พวกเขาจะถามคำถามเพิ่มเติมและฟังจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แน่ชัด การจับใจความจากการฟังที่ดีจะทำให้ข้อสรุปหลังจากการฟัง เช่น ข้อเสนอแนะ คำแนะนำ การช่วยเหลือ ฯลฯ สามารถช่วยเหลือคู่ตรงข้ามได้อย่างตรงประเด็น

3. เป็นผู้ที่มีการแสดงออกด้วยสีหน้าและแววตาที่ดี

บางทีบุคลิกภาพหรือการวางตัวอาจส่งผลต่อคู่ตรงข้ามมากกว่าวาจาเสียอีก บางคนเป็นคนพูดดีก็จริง แต่สีหน้าและแววตากลับไม่แสดงออกแบบนั้น กลายเป็นคนที่ดูเสแสร้ง เฟคๆ ตอแหล อะไรทำนองนั้น ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนอกจากจะมีการฟังที่ดีแล้ว สีหน้าและแววตาจะแฝงไปด้วยความจริงใจ สนใจ สอดคล้องกับสถานการณ์นั้น เช่น ถ้าเขาฟังเรื่องที่มีความสุข สีหน้าแววตาจะดูแจ่มใส แฝงไปด้วยรอยยิ้ม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ซีเรียส สีหน้าและแววตาจะแสดงความรู้สึกตามอารมณ์ของเรื่องราวนั้นๆ เช่น เคร่งเครียด ครุ่นคิด ตามคู่สนทนา เป็นต้น

4. เป็นผู้ที่ไม่พูดแทรกการสนทนาของผู้อื่น

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำยากมากๆ ขนาดผมเองก็ยังเผลอฟอร์มหลุดบ้างเหมือนกันครับ (ฮา) พูดง่ายๆ ก็คือการควบคุมตัวเองให้ฟังคู่สนทนาพูดให้จบ ไม่พูดแทรกหรือขัดจังหวะระหว่างที่เขากำลังพูดอยู่ ซึ่งคนที่เป็นประเภท “Extrovert” หรือพวกที่ช่างพูดช่างคุยจะมีปัญหาอย่างมากในเรื่องนี้ จงฝึกฝนตัวเองให้อย่าแทรกการสนทนาให้ได้นะครับ การพูดแทรกระหว่างที่คนอื่นกำลังพูดอยู่เป็นสิ่งที่น่ารำคาญมากทีเดียว เผลอๆ ถูกเกลียดขี้หน้าด้วยซ้ำ

5. เป็นผู้ที่เก่งเรื่องการถามคำถามให้ละเอียดก่อนที่จะแนะนำอะไรออกไป

นี่คือทักษะขั้นสูงสำหรับคนที่ชอบแนะนำหรือสอนผู้อื่น เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้ละเอียดถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น ก่อนที่คุณจะเริ่มแนะนำหรือสอนใครก็ตาม เพียงแค่เพิ่มคำถามบางอย่างที่ทำให้คุณสามารถเข้าใจคู่สนทนาได้มากขึ้น เช่น

“คุณรู้สึกยังไงบ้างในตอนนี้”

“รบกวนคุณอธิบายเพิ่มได้มั้ยครับ”

“ในส่วนนี้หมายความว่ายังไงนะครับ” เป็นต้น

6. เป็นผู้ที่ใช้คำเรา “เรา” มากกว่าคำว่า “ฉัน”

ทักษะการเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม สังเกตง่ายๆ คือเวลาที่จะสั่งการใครก็ตาม แค่เปลี่ยนจากคำว่า “กู” “ผม” “ฉัน” เป็นคำว่า “เรา” เพียงแค่นี้ก็ทำให้คู่สนทนาเกิดความรู้สึกที่ดีร่วมกัน เหมือนกับว่ามีความเห็นอกเห็นใจกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันมากกว่า ตัวอย่างเช่น

เจตนา – “ฉันอยากให้เธอไปทำนัดลูกค้าเพิ่มหน่อยนะ หมู่นี้ไม่ค่อยมีนัดเลย”

ใช้ความเห็นอกเห็นใจ – “เราไปช่วยกันทำนัดลูกค้ากันดีไหม พวกเราจะได้มีนัดลูกค้ามากขึ้น”

เห็นไหมครับว่าเจตนาเดียวกัน ผู้ฟังอย่างลูกน้องของคุณกลับได้รับความรู้สึกร่วมที่ดีกว่าจากการใช้คำว่าเราแทนคำว่าฉัน นี่คือทักษะการเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมจากการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นว่าไม่มีใครชอบโดนสั่งการแบบคนรุ่นเก่าที่เอาแต่ชี้นิ้วสั่งแนวทหารกันหรอกครับ

7. เป็นผู้ที่คิดเสมอว่าคู่ตรงข้ามจะรู้สึกอย่างไร

ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะมีความระมัดระวังในการใช้คำพูดที่ล่อแหลมมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคำพูดอะไรก็ตามที่เป็นเชิงลบ เช่น การล้อเลียน ล้อเล่น พูดส่อเสียด ล่อแหลม เป็นต้น โดยเฉพาะการล้อเล่นที่จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องเล็กๆ และคู่ตรงข้ามไม่น่าจะคิดอะไรมาก เพราะคุณเองยังไม่ได้คิดว่ามันจะร้ายแรงขนาดนั้น แต่คนที่ไม่ระวังในเรื่องนี้อาจพูดอะไรแล้วกระทบความรู้สึกกับคู่สนทนาได้ กลายเป็นการผิดใจกันเปล่าๆ ผู้ที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะคิดเสมอว่าพูดอะไรออกไปแล้ว คู่สนทนาจะมีความรู้สึกอย่างไร ทำให้มีความเข้าใจคู่ตรงข้ามได้เป็นอย่างดี

นี่คือหนึ่งในอุปนิสัยของคนที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะคนที่ทำงานการขายหรือทำธุรกิจกันเลยล่ะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น