มาแก้นิสัยนี้กันเถอะ ถ้าคุณเป็นนักขายประเภท Perfectionist

“Perfectionist” คือคำนิยามของมนุษย์ที่รัก ‘ความสมบูรณ์แบบนั่นเอง พูดง่ายๆ สำหรับคนทำงานที่มีบุคลิกและลักษณะแบบนี้ก็คือ พวกเขาจะทำงานโดยเน้นความสมบูรณ์แบบ เพอร์เฟค ไม่ต้องการความผิดหวังจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เนื้องานต้องแทบจะ “ไร้ที่ติ” ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นบุคลิกการทำงานที่ดีนะครับ

แต่แน่นอนว่า เหรียญย่อมมีสองด้าน โดยเฉพาะในสายงานขายที่ต้องเน้นกิจกรรมการขายกับลูกค้าเป็นหลัก รวมถึงการใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานในการติดต่อประสานงานต่างๆ การเป็นคนประเภท “Perfectionist” ที่ต้องการความสมบูรณ์แบบไรที่ติในการทำงาน อาจจะทำให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกค้ารู้สึก “อึดอัด” ได้

คุณอาจจะแย้งผมนะครับว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น การทำงานให้สมบูรณ์แบบและเพอร์เฟคควรเป็นเรื่องพึงกระทำมิใช่หรือ? ผมมีข่าวร้ายมาบอกคุณครับว่า “ไม่มีใครบนโลกนี้สมบูรณ์แบบ บางคนคิดเพียงแค่ว่าทำอย่างไรให้งานนั้นสำเร็จได้ง่ายที่สุดเสียด้วยซ้ำ” ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนเพอร์เฟค แต่ต้องทำงานร่วมกับคนง่ายๆ สบายๆ ตัวคุณนั่นแหละอาจจะสร้างความอึดอัดให้คนอื่นได้ โดยที่คุณไม่รู้ตัว แถมยังคิดไปเองเสียด้วยสิว่าตนเองนั้นถูกเสมอ

การทำงานในสายงานขายจำเป็นจะต้องมี “EQ” ที่ยอดเยี่ยม มีทักษะการสื่อสารที่ดี มีความเข้าอกเข้าใจและมีความยืดหยุ่นในการทำงานอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าคุณคิดว่าตัวเองเป็นคนสมบูณ์แบบแล้วรู้สึกว่าเคยสร้างความอึดอัดให้ลูกค้ากับเพื่อนร่วมงานมาละก็ ลองอ่านบทความนี้ของผมกันเลยครับ

1. จำไว้เสมอว่าปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือ “ลูกค้า” และ “พาร์ทเนอร์” 

ไม่ว่าคุณจะทำงานได้ดีและสมบูรณ์แบบแค่ไหน ใส่ใจเนื้องานจนละเอียด ‘เกินเหตุ’ อย่างไร ไม่ได้หมายความว่าทำงานให้ละเอียดนั้นไม่ดีนะครับ แต่การที่คุณทำงานเถรตรงเป็นไม้บรรทัด เน้นความสมบูรณ์แบบจนเกินเหตุ จนทำให้ใช้เวลาทำงานมากเกินไป โดยที่ลืมไปว่าปัจจัยที่คุณคุมไม่ได้คือลูกค้ากับพาร์ทเนอร์ พูดง่ายๆ ก็คือต่อให้ทำงานละเอียดแบบสุดๆ สไลด์สวยงาม Proposal สมบูรณ์ แต่ลูกค้าไม่รู้สึกว่ามีประโยชน์หรือคุณคุยผิดคน ลูกค้าก็ไม่ซื้อคุณอยู่ดี สิ่งที่คุณทำก็เลยสูญเปล่าไปซะงั้น…(ฟังดูโหดร้ายสุดๆ) คุณไม่มีทางควบคุมให้พวกเขาซื้อได้เลย

หรือแม้แต่พาร์ทเนอร์ที่เป็นคู่ค้ากับคุณ ต่อให้คุณนำเสนอได้ดี เนื้องานละเอียดมากแค่ไหน แต่ลืมโฟกัสกับคำว่า “ผลประโยชน์” เช่น คู่ค้าของคุณเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟท์แวร์ของบริษัทคุณ คุณทำสไลด์นำเสนอ ทำตาราง ทำการตลาด ทำเดโม่ ทำทุกอย่างที่คิดไปเองว่าพาร์ทเนอร์จะประทับใจและขายของให้คุณ แต่กลับกลายเป็นไร้ประโยชน์เพราะว่าบางทีพวกเขาต้องการแค่ “ลีดลูกค้า” ที่ทำให้พวกเขาขายได้ง่ายขึ้นจากคุณก็เท่านั้น กลายเป็นว่าความสมบูรณ์แบบเพอร์เฟคของเนื้องานเป็นการโฟกัสผิดจุด ไม่ได้มีความรู้สึกที่ทำให้พาร์ทเนอร์อยากขายของคุณมากขึ้นแต่อย่างได้ สรุปก็คือคุณควบคุมพวกเขาให้ขายของให้คุณไม่ได้ก็เท่านั้น

2. อาการนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “ความขัดแย้ง” ภายในองค์กรมากที่สุด

คุณมีอาการเหล่านี้ใช่หรือไม่

– สนใจเรื่องงานและเรื่องต่างๆ ของเพื่อนร่วมงานโดยเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อยในเนื้องานว่าทุกอย่างต้องเนี้ยบ เพอร์เฟค แม้แต่เรื่องส่วนตัวเช่นการแต่งกายหรือทรงผม ถ้าเห็นคนอื่นดูไม่ดีตามมาตรฐานของคุณก็จะรู้สึกหงุดหงิด

– ทุ่มเททำงานมากเกินเหตุ กลับบ้านดึก ขยันทำงานล่วงเวลาทั้งๆ ที่เป็นนักขายจะต้องทำงานกับลูกค้าเป็นหลัก ลูกค้าเลิกงานแล้วก็ยังทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวกับลูกค้าโดยตรงจนขาดเวลาให้ครอบครัว ลูกเมีย เพื่อนฝูง

– ไม่ค่อยยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ใช้ชีวิตประจำวันซ้ำๆ ซากๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

– ลึกๆ มีอีโก้เยอะ เหยียดคนอื่น โดยเฉพาะเรื่อง “สถาบัน” ไม่ค่อยยอมรับความสามารถใครง่ายๆ

– บางทีก็ขี้กลัวเกินเหตุ ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ เพราะกลัวความผิดพลาด กลัวโดนตำหนิ กลัวไปหมด

– เครียดง่าย จริงจังกับชีวิตเกินเหตุจนผู้อื่นรู้สึกอึดอัด

ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้มากกว่า 3 ข้อขึ้นไป นี่คือข้อบ่งชี้ว่าคุณเป็นนักขายที่มีลักษณะต้องการความสมบูรณ์แบบแล้วล่ะครับ ต้องขอบอกข่าวร้ายไปเลยว่าตัวคุณนั่นแหละที่กำลังจะเป็นปัญหาที่ทำให้คนอื่นไม่ชอบคุณ บางทีเลยเถิดไปถึงการกดดันลูกค้า คนอื่นอยู่ด้วยแล้วรู้สึกอึดอัด วิธีแก้คือคุณต้องทำการรักษาโดยการเข้าพบจิตแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้จะรบกวนการใช้ชีวิตของคุณและคนรอบข้าง หากเป็นหนักๆ และพบกับความผิดหวังอยู่บ่อยๆ ตัวคุณจะกลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้

3. ควบคุมความเป็น “Perfectionist” ในตัวด้วยการนำมันมาทำงานให้มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า

มันคงเป็นเรื่องยากที่คุณจะเอาชนะอาการนี้ได้ในเร็ววัน แต่ผมมีวิธีที่จะใช้อาการนี้เพื่อส่งเสริมให้เนื้องานมีประสิทธิภาพได้ โดยเฉพาะสำหรับนักขายอย่างคุณ ดังนี้ครับ

3.1 ใช้ความทุ่มเท รับผิดชอบในงานขายด้วยการเอาเวลา 8 ชั่วโมงในการทำงานไปโฟกัสกับการเข้าพบลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ให้มากที่สุด วันละ 4-5 นัด ยิ่งดี การอยู่กับลูกค้าจะทำให้คุณทำงานได้ดีและไม่ทำให้เพื่อนร่วมงานอึดอัด

3.2 หมั่นอัพเดทรายงานการขาย (Sales Report) อย่างสม่ำเสมอ ทำทุกวัน วันละ 15 นาทีก่อนเลิกงาน

3.3 ใส่ใจกับความละเอียดในเนื้องานการขายที่สำคัญจริงๆ เช่น รายละเอียดในใบเสนอราคา ความถูกต้องของข้อเสนอและผลประโยชน์ การร่างสัญญาต่างๆ ระหว่างคุณกับลูกค้าหรือคู่ค้า ฯลฯ

3.4 ทำงานอย่างเป็นวินัย ซึ่งคุณใช้ความสมบูรณ์แบบในการสร้างระบบการขายที่ดีสำหรับตัวคุณเองได้ เช่น เวลา 9-10 โมง เป็นเวลาโทรทำนัด ส่งเมลล์ และติดตามงาน 11 โมงถึง 6 โมงเย็น คือเวลาเข้าพบลูกค้าเท่านั้น และทำเซลล์รีพอร์ทก่อนกลับบ้าน 15 นาที ทำซ้ำๆ ทุกวัน อย่างนี้มีประโยชน์สุดๆ ยอดขายมาแน่นอน

3.5 ทำงานตามสโคปที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสิ้นก็เพียงพอแล้ว อันไหนลูกค้าไม่ได้บอกให้ทำ หรือไม่ได้มีอะไรสำคัญเป็นพิเศษก็อย่าทำเกินกว่านั้น เพราะบางทีอาจจะเสียเวลาเปล่า คุณควบคุมลูกค้าไม่ได้

3.6 มีแผนสำรองเสมอในการทำงาน เพื่อกันพลาดและยังสามารถแก้ไขได้ ถึงเวลาที่พลาดจริงๆ ก็ยอมรับไปว่าใครๆ ก็พลาดกันได้ ไม่มีอะไร 100% เมื่อทำผิดแล้วก็แก้ปัญหาได้

3.7 รู้จักปล่อยวางและจำไว้ว่าคุณไม่สามารถควบคุมใครได้ โดยเฉพาะลูกค้า คู่ค้า เพื่อนร่วมงานที่ตำแหน่งเท่ากับหรือใหญ่กว่าคุณ (คุณควบคุมเจ้าของบริษัทได้มั้ยล่ะครับ ฮา)

3.8 ตั้งเป้าหมายให้ยิ่งใหญ่ เอาความเคร่งเครียด จริงจังในเนื้องานเพื่อตั้งเป้าหมายให้สุด “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” และพุ่งเข้าหามันอย่างชาญฉลาด เพราะถ้าทำงานเพอร์เฟคแต่เป้าหมายงั้นๆ ทำไปก็เท่านั้นแหละ ผลลัพธ์ที่ได้จะเล็กน้อยมาก

3.9 ยอมรับความแตกต่างของคนอื่น เปิดใจให้กว้าง หากิจกรรมทำร่วมกัน เช่น Hangout สังสรรค์ เล่นกีฬา แต่ถ้าไม่ชอบขี้หน้าเพื่อนร่วมงานบางคนจริงๆ ก็เอาเวลาไปอยู่กับลูกค้าแทนนะครับ ช่วยได้แน่นอน แถมได้ยอดขายด้วยนะ (ฮา)

พูดคร่าวๆ ก็คือความสมบูรณ์แบบจะดีมากถ้าคุณทำงานและทำกิจกรรมการขายอย่างเป็นวินัย โดยเฉพาะ “กับลูกค้า” เป็นหลัก จงใช้เวลากับลูกค้ามากที่สุด คนเถรตรงและเคร่งเครียดอย่างคุณจะได้ไม่เสียเวลากับเพื่อนร่วมงานมาก ทำให้พวกเขาไม่อึดอัด แถมยังไม่ทำให้คุณเครียดมากเกินไป เพราะคุณทำงานแค่วันละ 8 ชั่วโมง

จำไว้นะครับว่าอะไรที่มันสมบูรณ์แบบจนเกินไป ทำอะไรมากจนเกินพอดี ส่วนใหญ่จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี แถมยังทำให้คุณเป็นคนที่เครียดและคิดไปเองอีกต่างหาก คนแบบนี้จะมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก เพราะการทำงานแบบองค์กรจะต้องทำงานกับคน ลูกค้าไม่ชอบคุณก็ไม่มียอด เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานไม่ชอบ คุณก็อาจจะต้องลาออกหรือโดนไล่ออก มาปรับทัศนคติกันใหม่กันดีกว่านะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น