มาร่วมฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในสภาวะ COVID-19 ไปกับผม

ผมเชื่อว่าสถานการณ์ในวันนี้คงเข้าขั้นวิกฤตกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันนี้ (16 มีนาคม 2020) ผมอยู่ที่โตรอนโต้ ประเทศแคนาดาครับ ก็ต้องบอกว่าเมืองฝรั่งมีความตื่นตัวและตกอยู่ในสภาวะวิกฤตไม่ต่างจากบ้านเราเท่าใดนัก ข่าวด่วนทุกวันจากนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด (Justin Trudeu) ซึ่งแม้แต่ภรรยาของท่านเองก็ติดเชื้อด้วยเช่นกัน

ผมได้อ่านบทวิเคราะห์ธุรกิจจากเพื่อนร่วมชั้นในสถาบันศศินทร์นำโดย Deloitte และ KPMG ก็ต้องบอกว่าเป็นข่าวร้ายของปีนี้ (อย่างเร็วที่สุดภายในไตรมาศที่ 3) ภาพรวมธุรกิจแทบทั้งหมดทั้ง B2B, B2C จะต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

เอาง่ายๆ ก็คือสายการบินแห่งชาติบ้านเราจะขาดรายได้มหาศาลแล้วครับ นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาช่วงไฮซีซั่น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องก็ไล่ตั้งแต่โรงแรม ที่พัก ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ไปจนถึงธุรกิจ B2B ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ B2C เช่น ธุรกิจส่งอาหารสดเข้าร้านอาหาร ธุรกิจการตลาด ออแกไนซ์ จัดอีเวนต์ ฯลฯ เป็นลูกโซ่ขนาดใหญ่

กลับมาที่เรื่องใกล้ตัวในอาชีพนักขายอย่างเราๆ แค่ออกไปนอกออฟฟิศหรือนอกบ้านก็ต้องลุ้นสุดตัวว่าจะออกไปเสี่ยงจนติดโรค COVID-19 จากที่ไหนอีก เพราะลำพังตามสำนักงานออฟฟิศหรือหน่วยงานต่างๆ แม้แต่มหาวิทยาลัยในตอนนี้ก็ถือว่าไม่ปลอดภัยแล้วครับ

จะมีทางไหนอีกมั้ยที่คุณจะฟันฝ่าสภาวะวิกฤตระดับโลกไปด้วยกัน จับมือผมไว้แน่นๆ แล้วอ่านบทความของผมในฐานะนักขายแบบมืออาชีพกันนะครับ ทุกความมืดมิดย่อมมีแสงสว่างอยู่เสมอ

1. เริ่มต้นวางแผนสำหรับสภาวะวิกฤตเดี๋ยวนี้เลย

การวางแผนคือสิ่งที่คอยกำหนดทิศทางของบริษัท สำหรับคนที่เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร ผมมีคำแนะนำในช่วงสภาวะวิกฤตดังนี้ครับ

– วางแผนการรับมือเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน (Work From Home)

– วางแผนให้นักขายเข้าเยี่ยมลูกค้า (ถ้าเป็นไปได้) เพื่อเข้าไปเป็น “เพื่อน” กับลูกค้าในสภาะวิกฤต

– กิจกรรมแสดงความห่วงใยลูกค้าโดยฝ่ายบริการหลังการขาย ถ้าไม่มี ให้ใช้ฝ่ายขายเป็นผู้ทำ

– ลดการจ้างพนักงานใหม่ในช่วงเวลานี้เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงด้านการลงทุน

– กำหนดการทำงานใหม่ให้กับทีมขาย

– เจรจากับเจ้าหนี้และลูกหนี้โดยเฉพาะเรื่องการรับชำระเงิน

สำหรับนักขายหรือพนักงานบริษัท ผมมีคำแนะนำในสภาวะวิกฤต ดังนี้ครับ

– กำหนดการทำงานกับลูกค้าด้วยการเข้าเยี่ยมเป็นหลักโดยไม่ขายของ

– เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ด้วยการประชุมทางไกลผ่านวีดีโอคอลล์

– สามารถทำนัดกับลูกค้าถ้าไม่สามารถเจอหน้าได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีแทน

– พยายามสร้างไปป์ไลน์หรือโอกาสในการได้เงินเป็นหลักและจงดูแลไปจนกว่าจะพ้นช่วงวิกฤต

– มองหางานพิเศษหรือรายได้เสริมในกรณีที่บริษัทน่าจะมีแนวโน้มขาดทุนหนักเพื่อการมีงานทำหลังการเลิกจ้าง

– อดทน ขยัน ประหยัด ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

2. คุณต้องสามารถทำนัดลูกค้าได้ผ่านระบบ Video Conference เพื่อสร้างโอกาสในการขาย

สำหรับนักขายที่ไม่สามารถเข้าพบลูกค้าได้แล้ว ผมขอแนะนำเครื่องมือที่ทำให้คุณปลอดภัย ประหยัดเวลา และทำให้ลูกค้าสบายใจมากขึ้นด้วยการใช้เครื่องมือการประชุมผ่านวีดีโอให้ได้ จริงๆ แล้วมันอยู่ใกล้ตัวคุณมากเลยล่ะครับ แค่มีไลน์ลูกค้าแล้วกดโทรหาแบบมีวีดีโอเห็นหน้ากัน หรือจะใช้โปรแกรมที่สะดวกมากขึ้นหน่อย เช่น Google Hangout ที่สามารถทำนัดผ่านปฎิทินและอีเมล์ได้ หรือใช้ Zoom, Facetime, Bluejeans, Skype, ฯลฯ ก็เป็นโปรแกรมที่สามารถใช้ได้เหมือนกันแล้วแต่ลูกค้า ที่สำคัญคือฟรี แรกๆ อาจจะไม่ชินแต่ใช้ไปซักพักแล้วคุณจะชอบครับ ผมใช้บ่อยมากๆ เวลาต้องประชุมกับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ ที่สำคัญคือทำให้คุณยังขายของได้อีกต่างหาก

3. การเข้าเยี่ยมลูกค้าเป็นระยะๆ จะช่วยสร้างโอกาสในการขายให้คุณได้ และฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

นี่คือการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างแท้จริง การติดต่อและเข้าเยี่ยมลูกค้าเพื่อแสดงความห่วงใยอยู่เสมอจะแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้หน้าเงินเพียงอย่างเดียว แต่คุณคือเพื่อนแท้ที่อยู่ข้างลูกค้าเมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤตไปด้วยกัน ถ้าลูกค้าบอกว่าไม่มีเงินหรือไม่มีงบฯ จงอย่าขายของโดยเด็ดขาด แต่จงให้การบริการที่เพิ่มขึ้น เช่น ตรวจเช็คระบบฟรี ส่งทีมเข้ามาดูแลหลังการขายมากขึ้น หรือถ้าลูกค้าต้องการใช้สินค้า เป็นไปได้ที่จะให้ราคาพิเศษกับลูกค้าเกรดเอและต้องแน่ใจว่าตัวคุณยังเหลือกำไรเพื่อให้องค์กรคุณอยู่รอด เพียงเท่านี้ก็ได้ใจลูกค้ามากแล้วล่ะครับ

4. การประชุมทีมภายในยังมีความสำคัญ แต่ต้องทำภายใต้ระบบ Work from home 

ผมไม่ได้หมายความว่าการสั่งให้พนักงานทำงานที่บ้านแล้วประสิทธิภาพจะห่วยลงนะครับ จริงอยู่ที่การประชุมภายในโดยเฉพาะการประชุมทีมขายก็มีความสำคัญ และการประชุมที่ดีที่สุดคือการประชุมกันแบบเจอหน้า ความพยายามในการนัดประชุมผ่านวีดีโอจะทำให้ประสิทธิภาพหลังจากการประชุมนั้นยังคงอยู่ จงลองพยายามปรับตัวและลองให้ทุกคนในองค์กรใช้ระบบนี้ให้เป็นนะครับ แรกๆ อาจจะยุ่งยากเสียหน่อย แต่รับรองว่าใช้ไปซักพักแล้วจะติดใจแน่นอนครับ

นี่คือแผนการฝ่าสภาวะวิกฤต COVID-19 จากผมครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น