Micromanagement มะเร็งร้ายในสังคมคนทำงาน

คุณเคยประสบเหตุการณ์แบบนี้มั้ยครับ เจอหัวหน้า เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน พ่อแม่พี่น้องที่จู้จี้ขี้บ่นทำอะไรก็ไม่ถูกใจสักอย่างจนอยากจะตะโกนใส่หน้าแบบน่ารัก ๆ ว่า “มึงมาทำเองมั้ย” (ฮา) ซึ่งบางครั้งคนนั้นก็จะตอบกลับมาว่า “ถ้ามีเวลาทำเองได้หมดกูก็ทำไปละ” มั้ยครับ? น่าจะเคยเจอกันมาบ้างไม่มากก็น้อยใช่มั้ย

ตัวผมเองเคยเจอสมัยทำงานเป็นนักขายยุคแรกๆ กับองค์กรมหาชนที่มี ‘รุ่นใหญ่’ อยู่เต็มไปหมด ผมเคยโดนเจ้านายจอมเฮี้ยบที่คอยสอดส่องการทำงานของผมอยู่ตลอดเวลา ไล่ตั้งแต่การออกไปพบลูกค้าที่ต้องรายงานตัวตลอด การเบิกเงินค่าน้ำมันที่ต้องจดเลขไมล์ทุกครั้งเพื่อไม่ให้โมเมได้ หรือแม้แต่เรื่องที่เสียเวลาอย่างการเรียกตัวให้เข้าออฟฟิศหลังจากพบลูกค้าเสร็จในช่วงบ่ายทุกวัน เพื่อกลับมานั่งทำงานทั้งๆ ที่ใกล้จะเลิกงานแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึก ‘อึดอัด’ และก็ไม่เข้าใจว่าจะมีประโยชน์อะไร แถมยังทำให้ผมเสียเวลาในการทำงานอีกต่างหาก

แน่นอนว่าจะตั้งคำถามกับเจ้านายก็ไม่ได้ ขืนถามอะไรแบบนั้นไปก็ย่อมโดนเจ้านาย ‘สวนกลับ’ เผลอๆ จะหมดอนาคตก็เป็นได้ ทำเป็นเล่นไป ผมจึงได้เรียนรู้และศึกษาว่าการเข้าไปแทรกแซงการทำงานและมีกฎยิบย่อยมากจนเกินไปอาจจะทำให้ลูกน้องทำงานได้แย่ลง ขวัญและกำลังใจตกต่ำ เลวร้ายที่สุดก็ถึงขั้น ‘ลาออก’ และตราหน้าคุณว่าเป็น ‘เจ้านายที่ห่วย’ แบบไม่เผาผีเลยก็เป็นได้ (ฮา)

ผมจึงขอแชร์ความรู้เรื่อง ‘Micromanagement’ ที่เป็นสาเหตุของการทำงานภายในทีมที่แย่ลง และคนระดับเจ้านาย ผู้จัดการ ผู้บริหาร เจ้าของ ฯลฯ มักไม่รู้ตัวว่าทำสิ่งนี้ไปจึงเกิดผลเสียกับทีมงาน มาอ่านกันเลยครับ

Micromanagement คืออะไรเอ่ย? 

คือการที่คนที่มีบทบาทในการบริหาร หรือ ผู้จัดการ เข้ามามีบทบาทในการควบคุมแทรกแซงการทำงานของทีมหน้างานมากจนเกินไป เช่น การควบคุมขั้นตอนงานต่างๆ ในแบบที่ละเอียดยิบย่อยมากๆ (ระดับ Micro-Level Operation) เช่น ทุกครั้งที่คุณวางแผนออกไปหาลูกค้าก็ต้องเช็คหรือให้คุณรายงานตัวเสมอว่าไปจริงไหม ต้องเข้าออฟฟิศหลังจากพบลูกค้าเสร็จทุกครั้ง หรือต้องทำรายงานการเดินทางออกไปพบลูกค้าแบบละเอียดยิบระดับระยะทางกี่กิโล เพื่อคำนวนค่าน้ำมัน ฯลฯ จนทำให้เกิดความอึดอัด ขาดอิสระภาพในการบริหารจัดการงานของทีม

ผลลัพธ์ก็คือ เกิดการดื้อเงียบ (Quiet Rebellious) การขาดอิสระในเชิงความคิดสร้างสรรค์ (Lack of Creativity) ภายในทีมงาน และที่สำคัญก็คือการขาดความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง (Inability to make independent decision) ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีผลในเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงานและความสัมพันธ์ของทีมงานในทั้งระดับภาพย่อย และภาพรวมเลยทีเดียว

Micromanagement เกิดขึ้นเพราะอะไรล่ะ? 

สาเหตุหลัก ๆ มี 2 อย่างครับ คือ

1. การขาดความเชื่อมั่นในทีมงาน (Lack of Trust) ทำให้คุณต้องเข้าแทรกแซงและจับตาดูการทำงานของลูกน้องมากจนเกินเหตุ ส่งผลให้มีการออกกฎยุบยั่บเต็มไปหมด

2. ความกังวล (Anxiety) จากการมีแนวความคิดในลักษณะของความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist Mindset) ของคนทีมีบทบาทในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเจ้านายของคุณหรือตัวคุณเองในตำแหน่งหัวหน้างาน

ซึ่งสาเหตุทั้ง 2 อย่างนี้แหละครับที่เป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสั่ง การควบคุมขั้นตอนการทำงาน การวางกรอบ ออกกฏเกณฑ์ การวัดผลต่างๆ กับทีมหน้างาน (เช่นทีมขาย) และทำให้เกิดผลลัพธ์ในแง่ลบต่อองค์กรกับประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมตามที่เกริ่นไว้ตอนแรก

แล้วจะป้องกันการเกิด Micromanagement ยังไงดี? 

ด้วยส่วนหนึ่งของสาเหตุการเกิด Micromanagement คือ

1. การขาดความเชื่อมั่นในทีมงาน (Lack of Trust) วิธีการป้องกันแก้ไขที่ง่ายก็คือ คุณควรหาคนที่คุณไว้วางใจ (Trust) ในเรื่องของฝีมือและการทำงานมาร่วมทีมตั้งแต่แรก เช่น ลูกน้องคนสนิทที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย ตั้งใจทำงานและการทำกิจกรรมภายในองค์กรที่มีส่วนช่วยในการสร้างความเชื่อใจ (Build Trust) เช่น กิจกรรมท่องเที่ยวภายในทีม กิจกรรมแข่งกีฬาภายในองค์กร กิจกรรมสันทนาการโดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นต้น

2. ความคิดในลักษณะของความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist Mindset) วิธีการป้องกันแก้ไขคือ การประยุกต์กฏ 95% ซึ่งหลักๆ ก็คือถ้างานมีประสิทธิภาพที่น่าพอใจประมาณร้อยละ 95 ก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้และการใช้วิธีการพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการ ทำงาน (Process) เป็นระยะๆ เพื่อลดความกังวล (Anxiety) ของการมี ความคิดในลักษณะของความสมบูรณ์แบบ  รวมถึงการมีวินัยและยึดถือต่อหน้าที่การทำงานของแต่ละคนและการแบ่งงาน (Delegation) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงข้ามบทบาทหน้าที่ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือการเปิดใจรับฟังความคิดเห็น การประเมินผลการทำงาน (Performance Review) โดยให้ทีมงานเป็นผู้ประเมิน ‘ตนเอง’ เกี่ยวกับการทำงานของตัวเองเพื่อให้เกิดการรู้ถึงปัญหา หาต้นตอ และแก้ไขไปพร้อมๆ กัน

สังคมยุคนี้มีเด็กรุ่นใหม่ที่ถูกป้อนเข้าสู่ตลาดงานเป็นจำนวนมาก การเข้าไปสร้างกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการทำงานของพวกเขามากจนเกินไปอาจเกิดผลเสียจนถึงขั้นเสียพวกเขาไปก็เป็นได้ คุณควรมีความยืดหยุ่นและไว้วางใจพวกเขา ถ้ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นค่อยลุกมาแก้ก็ยังไม่สายครับ

แรงบันดาลใจเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/natthanapol.thammavaraporn/posts/1893547084018137

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น