จับเข่าคุยกับคุณ 'เบลล์ ขอบสนาม' และเกร็ดความรู้ด้านการตลาดออนไลน์

วันนี้เป็นวันพิเศษที่ผมอยากแชร์ประสบการณ์ดีๆ จากการได้พบกับบุคคลทรงคุณค่า (MVP) ในโลกออนไลน์ของประเทศไทยเลยล่ะครับ คนคนนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในไอดอลคนสำคัญที่ผมเคารพและนับถือ และผมก็ได้พบเขาตัวเป็นเรียบร้อยแล้วครับ

ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นผู้ชายสไตล์แมนมันส์และชอบดูฟุตบอลย่อมไม่มีใครไม่รู้จัก “เบลล์ ขอบสนาม” แต่ถ้าคุณยังไม่รู้จักว่าเขาคือใคร เขาคือผู้ที่มีคนติดตามในโลกออนไลน์ทั้งในส่วนของเฟซบุ้คและยูทูปมากกว่า “2 ล้านคน” (มากกว่าดาราบางคนเสียอีก) เป็นพิธีกรรายการกีฬา เกมส์ มีรายการในช่องยูทูปเป็นของตัวเองและเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ

สิ่งที่ทำให้คุณเบลล์มีความยอดเยี่ยมและเป็นจุดเริ่มต้นของชื่อเสียงก็คืองานพากย์บอลและพากย์คลิปวีดีโอเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลในหมวดหมู่ 10 อันดับต่างๆ เช่น 10 อันดับใบแดงกระฉ่อนโลก 10 อันดับนักเตะแมนยู เป็นต้น

ซึ่งลีลาการพากย์ที่เป็นเอกลักษณ์และความรู้ลึก รู้จริง เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลได้สร้างให้คุณเบลล์มีฐานแฟนคลับมากกว่า 2 ล้านคน และเขายังได้สร้างสรรค์ผลงานรายการอื่นนอกจากกีฬาฟุตบอล เช่น วาไรตี้ อีสปอร์ต วีดีโอเกมส์ ฯลฯ ที่มีเนื้อหาสาระที่น่าติดตามเป็นอย่างมาก

ผมเองจึงได้มีโอกาสพบกับคุณเบลล์ตัวเป็นๆ จากการเทียบเชิญให้เข้ามาร่วมงานด้านธุรกิจเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ ซึ่งผมได้ทำธุรกิจนี้ในระดับทวีปและคุณเบลล์ก็เป็นคนสำคัญที่ผมคงพลาดไม่ได้ที่จะร่วมงานกับเขา

และนี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการพูดคุยที่มีความรู้กับประโยชน์ โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ที่คุณเบลล์เป็นสุดยอดผู้รู้จริง รู้แจ้งคนหนึ่งเท่าที่ผมเคยรู้จักมาเลยล่ะครับ

1. โลกออนไลน์คือทุกสิ่ง 

มันคือความจริงที่ว่าโลกออนไลน์และโลกโซเชี่ยลมีเดียคือส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคนเรียบร้อยแล้วล่ะครับ ที่สำคัญคือคงไม่ผิดนักที่สื่อทีวีจะเสื่อมความนิยมนั้นเสื่อมความนิยมแทบทุกวัน เหตุผลก็คือทุกคนสามารถเลือกเสพย์สื่อที่ตัวเองชื่นชอบ สามารถเลือกดูรายการที่เกี่ยวกับชีวิตและธุรกิจของตัวเองได้ตามต้องการ ที่ไหน เมื่อไหร่ เวลาใดก็ได้ ตราบใดที่มือถือยังมีเน็ตให้ใช้อยู่ (ฮา) โดยสามารถเลือกดูจากยูทูป เฟซบุ้ค เน็ตฟลิกซ์ ฯลฯ ที่สำคัญคือไม่ค่อยมีโฆษณาเข้ามากวนใจมากนักอีกด้วย แถมยังมีผู้ผลิตรายการที่ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือเป็นดาราชื่อดัง ก็สามารถสร้างสรรค์รายการของตัวเองได้ นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งให้คนธรรมดากลายเป็นคนดังได้เลย

2. ยูทูเบอร์ที่มีชื่อเสียงควรใส่ใจเกี่ยวกับการเพิ่มเนื้อหาที่ฉีกแนวจากเนื้อหาหลัก

ยูทูเบอร์หรือผู้ผลิตรายการผ่านยูทูป (Youtube) ในปัจจุบันมีจำนวนมหาศาล เพราะใครๆ ก็สามารถผลิตรายการเป็นของตัวเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าคุณสามารถวัดผลความมีชื่อเสียงของยูทูเบอร์แต่ละคนได้จาก “จำนวนผู้ติดตาม” (Subscriber or Follower) ที่ยิ่งใครมีมากเท่าไหร่ ค่าตัวที่เหล่าแบรนด์สินค้าจะเลือกจ้างก็จะสูงมกขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาปัจจุบันก็คือทางยูทูปได้ทำการปรับ “กลไกบางอย่าง” (Algorithm) ทำให้ส่งผลกระทบต่อบรรดายูทูเบอร์หรือเจ้าของเพจชื่อดังมีประสิทธิภาพในการโพสต์เรื่องใดๆ ก็ตามและมีคนเห็นที่ต่ำลง 

ผลก็คือในเมื่อมีคนมองเห็นน้อยลง ทำให้การมีส่วนร่วม (Engagement) ของผู้คน เช่น ยอดไลค์ ยอดคนดู ยอดคนคอมเมนต์ ยอดคนแชร์ มีจำนวนลดต่ำลงอย่างมาก ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญในการได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์สินค้า พวกเขาจึงบ่นอุบกับเรื่องนี้ คุณเบลล์ได้ให้ความเห็นว่าจริงๆ แล้วบรรดายูทูเบอร์ชื่อดังยึดติดกับ “เนื้อหาเดิม” มากเกินไปต่างหาก แต่ไม่ได้เช็คว่าจริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะผู้ติดตาม “เริ่มเบื่อ” กับเนื้อหาไปแล้ว ที่สำคัญคือการมุ่งแต่จะคิดเนื้อหาใหม่ๆ ทั้งๆ ที่อยู่ในพื้นฐานเดิม เช่น ดังมาจากเรื่องฟุตบอล จึงพยายามคิดหาไอเดียเกี่ยวกับเรื่องฟุตบอลใหม่ๆ เพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้ติดตามรู้สึกเบื่ออยู่ดี ดังนั้นการฉีกแนวรายการจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะจะทำให้ได้เนื้อหาที่สดใหม่จริงๆ และทำให้ได้ผู้ติดตามใหม่กับผู้ติดตามเก่าไม่เบื่ออีกด้วย

3. ดาราหรือผู้มีชื่อเสียงมีแนวโน้มที่จะทำรายการผ่านโซเชี่ยลมีเดียเป็นของตนเองมากขึ้น

ในเมื่อช่องทีวีไม่ได้มีคนดูมากไปกว่าเดิม ทำให้แม้แตเหล่าดาราชื่อดังที่โตมาจากทีวีก็จำเป็นต้อง “หนีตาย” เช่นกัน ชั่วโมงนี้เผลอๆ คุณอาจจะลืมเหล่าพิธีกรชื่อดังไปเรียบร้อยแล้ว ยิ่งถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง พวกเขาไม่รู้จักแล้วด้วยซ้ำ คุณจึงเริ่มเห็นดาราเริ่มทำรายการผ่านโซเชี่ยลมีเดียเป็นของตัวเอง เช่น ดีเจเพชรจ้า ป๊อก-มาร์กี้ คูณสู่ขวัญ พี่เปิ้ล-นาคร เป็นต้น เพราะพวกเขาต้องการสร้างสรรค์ผลงานและใช้ความมีชื่อเสียงที่มีอยู่แล้วในฐานะดาราที่สามารถเพิ่มผู้ติดตามได้อย่างรวดเร็ว รายการมีความเป็นตัวตนมากกว่าและไม่มีโฆษณาจำนวนมากมารบกวนใจ ส่งผลให้วงการยูทูเบอร์ถ้าไม่มีการปรับปรุงคุณภาพก็อาจจะถูก “กวาดล้าง” (Disrupt) จากเหล่าดาราได้

4. คนดูชอบดู “ตัวตน” หรือชีวิตประจำวันของคนอื่นมากที่สุด

ในวงการยูทูเบอร์เองก็มีเรื่องแปลกประหลาด ซึ่งก็คือการมาของเหล่ายูทูเบอร์บางคนที่มีผู้ติดตามระดับหลายล้าน ทั้งๆ ที่เนื้อหาของรายการ “ไม่ได้มีอะไรเลย” นอกจาการลงวีดีโอเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่สามารถสร้างผู้ติดตามและมียอดคนดูต่อคลิประดับหลักล้านหรือหลักสิบล้านเลยทีเดียว เช่น เก๋ไก๋สไลเดอร์ แบร์ฮัก (Bearhug) เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างง่ายๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เช่นการมาของ “เน วัดดาว” ที่เนื้อหาในคลิปเป็นเรื่องเกี่ยวกับการท้าทายระหว่างแก๊ง เรียกได้ว่าเป็นยูทูเบอร์ที่ไม่ได้นำเสนออะไรนอกจากความเป็นตัวของตัวเองเลยล่ะครับ หมายความว่าบางทีการลองโพสต์อะไรที่เป็นตัวเองและดูไม่เฟค อาจเป็นเรื่องที่คนสนใจที่สุดเลยก็ว่าได้

5. การผลิตรายการควรวัดผลและวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานให้ละเอียด

เบื้องหลังคนทำงานผลิตรายการผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ดูเผินๆ อาจจะเหมือนกับเป็นเรื่องที่ง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาต้องทำงานหนักมากในการใช้เครื่องมือวัดผลประสิทธิภาพที่บ่งบอกรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการดูของคน เช่น จำนวนยอดวิว จำนวนคนที่ดูถึงครึ่งคลิป จำนวนคนที่ดูหมดคลิป จำนวนคนที่กดข้ามเนื้อหาไปจนจบ (แสดงว่าเนื้อหาหลักน่าเบื่อ) จำนวนอายุเฉลี่ยของคนดู ที่มาของคนดู เป็นต้น ซึ่งตัวเลขย่อมไม่โกหกใครอยู่แล้ว การใช้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขมาวิเคราะห์และปรับปรุงผลการทำงานจะเป็นเรื่องที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตรายการของคุณตรงใจกลุ่มเป็นหมายมากยิ่งขึ้น

จริงๆ แล้วเรามีเรื่องราวที่คุณกันมากมายเลยล่ะครับ ผมจึงคัดเนื้อๆ มาให้คุณอ่านและหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะงานด้านการตลาดออนไลน์ของคุณมากๆ ครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น