Ponzi Scheme จุดกำเนิดของระบบแชร์ลูกโซ่

จากเหตุการณ์ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อมากกว่า 1,000 คน เรามาทำความเข้าใจความเป็นมาเกี่ยวกับระบบแชร์ลูกโซ่กันดีกว่า ระบบแชร์ลูกโซ่ถูกคิดค้นมานานเกือบ 100 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือฝรั่ง ตราบใดที่ระบบนี้ยังหลอกล่อคนอื่นด้วยผลตอบแทนจำนวนมหาศาล ก็มักจะมีธุรกิจแบบนี้เกิดขึ้นใหม่พร้อมกับเหยื่อรายใหม่ไม่รู้จักจบสิ้น 

เรื่องราวของนาย ชาร์ลส ปอนซี (Charles Ponzi) ไอ้หนุ่มชาวอิตาลี่ ผู้อพยพจากอิตาลี่ไปเมืองบอสตั้น รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1903 ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคเจ้าพ่อมาเฟียอิตาเลี่ยนอพยพไปขุดทองที่ประเทศอเมริกา เขาเป็นทั้งนักพนันและนักฉวยโอกาส ในปี 1920 เขาเป็นคนต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เก็งกำไรครั้งใหญ่ที่สุดแห่งยุคที่ทำให้ธนาคาร 6 แห่งต้องล้มละลาย

แผนการของปอนซี ไม่มีอะไรซับซ้อน เขาพบว่าคูปองตอบกลับไปรษณีย์ระหว่างประเทศ (International reply coupon) สามารถนำมาแลกเป็นเงินในสหรัฐอเมริกาได้มากกว่าที่แลกในยุโรป เขาตั้งบริษัทขึ้นมาทำธุรกิจหาประโยชน์จากตรงนี้โดยขายหุ้นบริษัทราคาหุ้นละ 10 เหรียญสหรัฐ และสัญญากับนักลงทุนว่าจะจ่ายเงินในอัตรา 50% ภายในเวลาเพียง 45 วัน และ 100% ภายใน 90 วัน ในไม่ช้าก็มีคนมากมายแห่กันมาซื้อหุ้นบริษัทของเขา

ปอนซี นำเงินของนักลงทุนรายใหม่มาจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้นักลงทุนรายเก่า เพียงไม่กี่เดือนทุกอย่างก็ล้มครืน แม้แต่เศรษฐีที่รวยที่สุด ผู้มีชื่อเสียง และผู้ที่ได้ชื่อว่าฉลาดที่สุดในบอสตั้นก็ยังโดนหลอกไปด้วย มูลค่าความเสียหายในยุคนั้นไม่ต่ำกว่า 20 ล้านดอลลาร์และถูกส่งไปประเทศฮ่อง “ก(ร)ง” ไปตามระเบียบ ชื่อของปอนซีในปัจจุบันถูกนำมาใช้เรียกบริษัทที่ทำธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme) แบบนี้เรื่อยมา

ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่ผ่านมาในบ้านเรา ในอดีตที่ผ่านมาเช่น “คดีแชร์แม่ชม้อย” “แชร์ชาร์เตอร์” เรื่อยมาจนถึงธุรกิจซื้ออาหารเสริมแลกกับทัวร์ญี่ปุ่นหมื่นบาทคงจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับใครหลายๆ คน

ซึ่งตัวธุรกิจแชร์ลูกโซ่จะเน้นการจ่ายผลประโยชน์ด้วยตัวเงินเป็นหลัก ไม่ได้เน้นการขายสินค้าหรือคุณค่าของสินค้า เน้นการหาสมาชิกพร้อมกับเก็บค่าสมาชิกในราคาที่สูงเพื่อนำเงินเหล่านั้นไปจ่ายให้กับแม่ข่ายด้านบน วนลูปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนจำนวนสมาชิกรายใหม่ๆ จ่ายค่าแรกเข้าไม่พอกับค่าใช้จ่ายให้กับคนด้านบน บริษัทฯ ก็จะเจ๊ง ปิดตัวหนี คนที่มาทีหลังก็หมดสิทธิ์ได้เงินลงทุนพร้อมกำไร กลับบ้านมือเปล่า เจ๊งไปตามระเบียบ

ถ้าคุณเป็นผู้เสียหาย การโยนความผิดให้คนคิดค้นระบบนี้หรือคนที่มาหลอกคุณอาจจะทำให้คุณรู้สึกดีกว่าไหม แต่มันน่าจะดีกว่าไหม ถ้าคุณหันกลับมาดูตัวเองว่าอะไรเป็นแรงจูงใจให้เราทำอะไรผิดพลาดแบบนั้น จะได้ป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกหลอกซ้ำอีก

ที่มา: หนังสือ เงินงอกเงย 100 ภารกิจพิชิตความมั่งคั่ง, Volume 1 By คาเรน แมคครีดี, ทิม ฟิลลิปส์, สตีฟ ชิปไซด์, ณงลักษณ์ จารุวัฒน์, พรนิภา กิจธนามงคลชัย

Leave your vote

-1 points
Upvote Downvote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น