ความเสี่ยงของการเปลี่ยนงานบ่อยเกินไป

การเปลี่ยนงาน เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของชีวิตการทำงานครับ แทบทุกคนล้วนเคยเปลี่ยนงานมาแล้วแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะตามความสมัครใจหรือถูกบีบบังคับโดยผู้ว่าจ้างก็ตาม

คุณคงเคยได้ยินว่าผู้ใหญ่หรือรุ่นใหญ่วัยทำงานสมัยก่อนมักจะบอกกับคนรุ่นคุณเสมอ (โดยเฉพาะคน Gen-Y) ลงมา ว่าเมื่อได้งานแล้ว จงอย่าเปลี่ยนงานบ่อยเพราะจะทำให้ “เสียประวัติ” การทำงานได้ คุณควรมีความจงรักภักดีและทุ่มเทให้กับการทำงาน ถึงจะได้รางวัลตอบแทนเป็นความไว้วางใจ เงินเดือนเพิ่มขึ้น มีตำแหน่งงานดีขึ้น

แต่สมัยนี้ ซึ่งเป็นยุคออนไลน์ที่โลกหมุนเร็วจนแทบจะตามไม่ทัน สื่อต่างๆ รอบตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งช่องทางด้านโซเชี่ยลมีเดียอย่างเฟซบุ้ค (Facebook) หรืออินสตาแกรม (Instagram) ที่เป็นช่องทางในการแชร์รูปภาพหรือชีวิตดีๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นอายุน้อยที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มีบ้าน มีเบนซ์ขับ มีธุรกิจที่สร้างมาด้วยตนเอง พวกเขาย่อมกลายเป็น “ไอดอล” หรือต้นแบบที่เด็กรุ่นเดียวกับเขาย่อมอยากจะเป็น

จึงทำให้สังคมการทำงานแบบลูกจ้างเกิด “แรงกระเพื่อม” โดยเฉพาะเรื่องของศรัทธากับการทำานในองค์กรเป็นระยะเวลานานๆ แถมมีหลายเคสที่แชร์กันในโลกออนไลน์ อย่างเว็บไซท์พันทิป ที่บอกถึงเทคนิคการเพิ่มเงินเดือนตัวเองอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในวิธีเหล่านั้นก็คือ “การเปลี่ยนงานบ่อยๆ” เพื่ออัพเงินเดือนนั่นเอง

ยิ่งถ้าคุณเป็นเด็กที่มาจากสังคมที่พอมีอันจะกิน ต้นทุนดีหน่อย คุณคงไม่แคร์และไม่ใส่ใจอะไรมาก จึงคิดจะเปลี่ยนงานแล้วก็เปลี่ยนทันที แถมบางคนยังได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจริงอีกด้วย แต่หารู้ไม่ว่าการทำแบบนี้บ่อยๆ ย่อมเกิดความเสี่ยงที่ผมกำลังจะเขียนถึง ณ บัดนี้เลยครับ

1. การพัฒนาการของการทำงานจะด้อยประสิทธิภาพลงอย่างมาก

การเปลี่ยนงานบ่อยๆ อย่างไร้เหตุผลตามสมควร เช่น ถูกไล่ออก เจ้านายห่วย งานไม่ตรงสาย ฯลฯ ยังเป็นเหตุผลที่พอฟังขึ้นและสมควรว่าการเปลี่ยนงานจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ (ถ้าดวงดีนะ ฮา) แต่ถ้าเป็นเพราะคุณทำงานไม่ได้เรื่องเอง นิสัยแย่ ไม่รับผิดชอบ เลยหาเรื่องเปลี่ยนงาน หรือเจอข้อเสนอใหม่ก็รีบเปลี่ยนงานต่อไปอีก ผมขอเรียกสภาวะนี้ว่า “Job Hopper” ซึ่งปัญหาก็คือพัฒนาการในเรื่องฝีมือการทำงาน การเผชิญกับสภาวะวิกฤตและสภาวะได้เปรียบเหนือคู่แข่งจะสูญเสียไปเพราะอยู่กับบริษัทได้ไม่นานพอ โดยเฉพาะสายงานขายที่ต้องใช้เวลาในการสร้างลีดลูกค้าใหม่ ปั้นลูกค้า ไปจนถึงปิดการขายจนลูกค้าไว้ใจ ซึ่งบางทีอยู่แค่ 1 ไม่ถึง 2 ปี อาจไม่นานพอ

2. เมื่ออายุเข้าใกล้เลข 3 แต่มีประวัติเปลี่ยนงานบ่อย คุณจะมีโอกาสได้งานดีๆ ยากขึ้นมาก

ลองเช็คตัวเองดูว่าเรซูเม่ของคุณตอนอายุ 30 มีประวัติการเปลี่ยนงานมากกว่า 5 แห่งขึ้นไปหรือไม่ ถ้ามากกว่านั้น คุณจะถูกฝ่าย HR ไม่ว่าจะเป็นบริษัทระดับโลกหรือบริษัทธรรมดา “ตัดสิน” ว่าคุณเป็นพวก Job Hopper ทันที อาจโดนคัดทิ้งตั้งแต่ส่งใบสมัครด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าคุณไม่ได้ย้ายงานบ่อยเพราะเจ๋งหรือเป็นตัวเทพ ไปที่ไหนก็ทำผลงานสุดยอดจนกลายเป็นจอมพเนจร มีแต่บริษัททุ่มตัวซื้อคุณไปแบบนักบอล คุณก็เลิกหวังได้เลยว่าตอนอายุ 30 และต้องการสมัครตำแหน่งผู้จัดการขึ้นไปแล้วจะได้งานดี ตำแหน่งดี เงินดี เพราะตำแหน่งผู้จัดการขึ้นไปต้องการบุคคลที่มีโปรไฟล์การทำงานที่พิสูจน์ถึงการไม่เปลี่ยนงานบ่อยเกินไป มีความจงรักภักดีกับองค์กรอยู่บ้างนั่นเองครับ

3. คุณมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนล้มเหลวในการเป็นลูกจ้างมืออาชีพ

ผมไม่ได้บอกว่าการเป็นคนที่เปลี่ยนงานบ่อยๆ จะเป็นคนล้มเหลวในชีวิตนะครับ เพราะพวกเขาอาจจะคิดได้และกลับไปทำธุรกิจเป็นของตัวเองจนประสบความสำเร็จก็อาจจะมีความเป็นไปได้ แต่ในสายงานแบบลูกจ้างมืออาชีพ บริษัทยักษ์ใหญ่หรือองค์กรมหาชน ย่อมมีขั้นตอนการคัดคนที่ดีจริงๆ ประวัติสวยหรู พิสูจน์ผลงานได้ มีฝีมือจริง และคนที่ถูกคัดเลือกนั้นมักจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในสายงานแบบลูกจ้าง ได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าคนทั่วไปมาก มีผลประโยชน์และสวัสดิการที่ดี มีความมั่นคงในชีวิตค่อนข้างสูง พวกเขาย่อมไม่ชายตาแลคนที่มีผลงานงั้นๆ แถมยังมีประวัติเปลี่ยนงานบ่อยแน่นอน

ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากที่จะเปลี่ยนงานบ่อย เพราะการเปลี่ยนงานก็มีความเสี่ยงในตัวมันเองอยู่แล้ว การเปลี่ยนงานไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตราบใดที่คุณยังทำงานไม่ได้เรื่องและไม่รู้ตัวเหมือนเดิม จึงขอย้ำถึงความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนงานบ่อยอีกครั้ง และขอให้พวกคุณจงตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น