ทำไมเชียงใหม่ถึงเป็นเมืองปราบเซียน?

จังหวัดเชียงใหม่ สุดยอดเมืองน่าเที่ยวชื่อก้องโลกจากการจัดอันดับโดยหลายๆ สำนัก เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสร้างรายได้ให้เกิดความคึกคักเป็นจำนวนมาก 

ดูเผินๆ แล้วน่าจะเป็นจังหวัดที่เหมาะกับการทำธุรกิจ เพราะมีองค์ประกอบของปัจจัยการเติบโตทางธุรกิจที่ครอบคลุมเกือบครบวงจร เช่น จำนวนประชากรทุกระดับที่มากมาย มีโรงเรียนดีๆ หลายแห่ง มีมหาวิทยาลัยชั้นนำในการผลิตคนเข้าสู่ตลาดงาน มีการคมนาคมที่พอใช้ได้ มีสนามบินนานาชาติ มีนิคมอุตสาหกรรมเล็กๆ มีบริษัทที่หลากหลาย มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศมากมาย มีห้างสรรพสินค้าผุดขึ้นอย่างกับกรุงเทพฯ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เป็นต้น 

แต่ปรากฎว่าสิ่งที่คิดนั้นไม่เป็นไปตามสิ่งที่เห็นเสมอไป นั่นคือ ธุรกิจในเชียงใหม่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยนายทุนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร บริการ ท่องเที่ยว เป็นจำนวนมาก แม้แต่ห้างสรรพสินค้าสเกลน้องๆ กรุงเทพ ย่าน Community Mall ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ปิดตัวลงไปอย่างมากมาย ม้วนเสื่อกลับบ้านกันหลายราย 

ต่อให้เชียงใหม่ในชั่วโมงนี้เป็นเมืองที่คึกคักจากการท่องเที่ยว แต่ก็ยังถูกขนานนามว่าเป็นเมืองปราบเซียนอยู่ดี ลองมาดูบทวิเคราะห์จากผมเองซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ในมุมมองของนักธุรกิจแบบ B2B กันดูนะครับว่ามีสาเหตุอะไรบ้าง

1. ธุรกิจเปิดใหม่ อยู่ได้ด้วยเงิน ถ้าไม่มีคนซื้อหรือไม่มีลูกค้า ก็ต้องเจ๊งเป็นธรรมดา

มีธุรกิจมากมายเกิดขึ้นในจังหวัดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านอาหารทั้งแบบแฟชั่นและไม่แฟชั่น แฟรนไชส์จากกรุงเทพ ฯลฯ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายรายยืนระยะไม่ได้เป็นเพราะจำนวน “ลูกค้า” ที่มีกำลังซื้อพอประมาณ เช่น กลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 40,000 ขึ้นไป ไม่ได้มีมากนัก เพราะจังหวัดนี้ไม่ค่อยมี “แหล่งงาน” ที่สามารถจ้างงานมนุษย์เงินเดือนค่าตัวสูง ในขณะที่อายุไม่มากนัก (ไม่เกิน 30) ได้

ผลก็คือหลายธุรกิจขาดลูกค้าที่เป็นคนเชียงใหม่เองที่สามารถซื้อกินซื้อใช้ในธุรกิจใหม่ได้ทุกวัน คนกำลังซื้อสูงมักจะมาจากกรุงเทพฯ ในช่วงท่องเที่ยว (ซึ่งเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนระดับสูง) กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ส่งผลให้บางธุรกิจสามารถยืนระยะได้แค่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเท่านั้น

การขาดกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง ทำให้หลายธุรกิจไม่สามารถขายสินค้าราคาพรีเมี่ยมได้ เพราะคนเชียงใหม่ที่ได้เงินเดือนแต่ยังไม่ถึงขั้น 50,000 ขึ้นไปทุกเดือน จำเป็นต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต การใช้จ่ายกับสินค้าและบริการระดับพรีเมี่ยม เช่น กาแฟสตาร์บั้คส์แก้วละ 150 ที่มนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพอาจจะกินได้ทุกวัน แต่คนเชียงใหม่อาจจะทำแบบนั้นไม่ได้ เป็นเพราะรายรับที่แตกต่างกันนั่นเอง

ถ้าไม่ขายแพง ก็ต้องลดคุณภาพและราคาลงมา แต่ก็ต้องเผชิญกับธุรกิจเจ้าถิ่นที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วและสามารถคุมต้นทุนการผลิตได้ ธุรกิจน้องใหม่ที่เข้ามาจะต้องต่อสู้กับคู่แข่งเจ้าถิ่นและหาหนทางแย่งลูกค้า (ที่มีอยู่จำกัด) ให้ได้ด้วย ส่งผลให้ความยากของการทำธุรกิจนั้นยากขึ้นไปอีก

2. เพราะไม่มีจำนวนบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ทำธุรกิจแบบ B2B และ B2C มากนัก

ธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ดำเนินธุรกิจในการขายสินค้าและบริการให้กับอีกบริษัทหรือองค์กรหนึ่ง หรือว่าทำการผลิตสินค้าและบริการให้กับกลุ่มลูกค้าทั่วไป ถือว่าเป็นธุรกิจแบบ B2B กับ B2C ซึ่งตัวสินค้าและบริการจะมุ่งเน้นให้อีกธุรกิจหนึ่งได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องเงินเสมอไป เช่น เพิ่มผลกำไร ลดต้นทุน ลดเวลา เพิ่มความสะดวกสบาย เป็นต้น ตัวอย่างธุรกิจแบบ B2B ที่คุ้นหูกัน เช่น ธุรกิจรับติดแอร์ภายในองค์กร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต่อเติมออฟฟิศ ธุรกิจพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์แบบองค์กร ธุรกิจผลิตแก้วน้ำให้ร้านขายน้ำ ธุรกิจไฟแนนซ์ประกันชีวิตแบบองค์กร เป็นต้น

ตัวอย่างธุรกิจ B2C ที่จ้างคนได้หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น เช่น กลุ่มเบียร์สิงห์ ผลิตเบียร์ให้คนไทยกิน จ้างพนักงานได้เป็นพันคน กลุ่มซีพี ที่ทำธุรกิจสเกลใหญ่ ต้องจ้างพนักงานมากมาย มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน เป็นต้น ยิ่งสเกลใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งสามารถสร้างแหล่งงานในหลายๆ ศาสตร์หลายแขนงได้มากขึ้น ทำให้ผลิตมนุษย์เงินเดือนที่มีกำลังซื้อได้มากขึ้น และคนกลุ่มนี้จะนำเงินไปซื้อสินค้าหรือบริการกับอีกธุรกิจหนึ่ง ทำให้เงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

การประกอบธุรกิจในรูปแบบบริษัทถือว่าเป็น “แหล่งงาน” ที่สำคัญที่สุดสำหรับการจ้างงาน “มนุษย์เงินเดือน” ที่มีรายได้ที่แน่นอน มีแนวโน้มในเรื่องของเงินเดือน โบนัส และค่าคอมมิชชั่นที่น่าจะเพิ่มขึ้นในทุกเดือนหรือทุกปี กลุ่มคนกลุ่มนี้คือชนชั้นกลางที่คอยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาพ มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง มีกำลังซื้อสูงในระดับหนึ่ง ทำให้สามารถใช้จ่ายกับสินค้าหรือบริการที่แพง ปานกลาง และถูกในระดับไล่เลี่ยกัน

ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่นั้นไม่ได้มีย่าน CBD (Central Business District) ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานขนาดกลางและขนาดใหญ่มากนักเหมือนในกรุงเทพฯ เช่นย่านสีลม อโศก รัชดา สาทร เป็นต้น เนื่องจากไม่ได้มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ B2B กับ B2C มากเพียงพอ ทำให้ไม่มีอาคารสำนักงานมากเท่าไหร่ ส่งผลให้ไม่ค่อยมีบริษัททำการว่าจ้างมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะการจ้างคนเชียงใหม่เองมากพอ ผลก็คือจังหวัดเชียงใหม่ขาดกลุ่มคนที่สามารถเป็นลูกค้าให้กับหลายๆ ธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย

3. การที่ไม่ค่อยมีธุรกิจแบบ B2B และ B2C สเกลขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทำให้ขาดกลุ่ม ‘มนุษย์เงินเดือน’ ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 ไปจนถึงหลักแสน 

บริษัทแบบ B2B และ B2C หลายแห่งในกรุงเทพขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงได้ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งบางอย่างอาจมีมูลค่าหลายล้าน สิบล้าน ร้อยล้าน ทำให้รายได้ที่เข้ามานั้นสามารถจ้างมนุษย์เงินเดือนที่มีความสามารถในเงินเดือนหลักหลายหมื่น หลักแสนได้หลายตำแหน่ง ส่งผลให้มีการสร้าง “ชนชั้นกลาง” ที่มีกำลังซื้อสูงพอประมาณ มีเงินในการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการของอีกธุรกิจหนึ่ง ธุรกิจเกิดใหม่ในกรุงเทพจึงมีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้ออยู่เสมอ ส่งผลให้หลายธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

แต่เชียงใหม่นั้นไม่ใช่ การขาดแหล่งงาน โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจแบบ B2B สเกลใหญ่ มูลค่าการซื้อขายหลายสิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน ทำให้ไม่มีรายรับมากพอที่จะจ้างมนุษย์เงินเดือนระดับสูงขึ้นมาได้ ในเมื่อมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ในเชียงใหม่มีรายได้ไม่มากนัก กำลังซื้อไม่มากพอที่จะจับจ่ายกับสินค้าบางอย่าง เช่น บ้าน รถ สินค้าแฟชั่น สินค้าราคาแพง เป็นต้น ทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ที่ลงทุนโดยคนเชียงใหม่หรือคนกรุงเทพก็ตาม ต้องขาดกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีกำลังซื้อไปอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้มีแต่ผู้ทำธุรกิจแต่ไม่มีลูกค้ามีเงิน เหตุผลในข้อนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ถูกเรียกว่าเมืองปราบเซียนยังไงล่ะครับ

4. โดนธุรกิจออนไลน์ทุบกระจาย

สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจซื้อมาขายไปทั่วไปขนาดเล็กหรือธุรกิจ SME อาจจะเกิดการถดถอยก็คือ “ธุรกิจออนไลน์” ที่อาจจะมีราคาถูกกว่า สามารถสั่งซื้อจากที่บ้านได้ ไม่ต้องเสียเวลาออกไปเดินห้างหรือตลาดนัด ก็เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่ทำให้ธุรกิจเปิดใหม่สเกลเล็กในจัดหวัดเชียงใหม่ต้องสูญเสียกลุ่มลูกค้าและส่วนแบ่งตลาด แถมยังมีค่าดำเนินการ ต้นทุน ภาษีที่ต้องชำระในแต่ละครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจที่ต้องพึ่งพา “หน้าร้าน” ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ที่ทำโดยคนกรุงเทพเอง และสามารถขายสินค้าได้ทั้งประเทศ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้ผู้ซื้อมองหาช่องทางออนไลน์ในการสั่งสินค้ามากขึ้น ธุรกิจหน้าร้าน เช่น ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายของ แฟชั่น ฯลฯ ถูกแย่งชิงตลาดไป เมื่อขาดลูกค้าก็ไม่มีกระแสเงินสดไหลเข้ามา ธุรกิจเหล่านี้จึงต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก

5. ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโต แต่คนที่ได้ผลประโยชน์จริงๆ ก็คือกลุ่มที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น

กล่าวคือ ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของ บริษัททำทัวร์ สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น แต่ธุรกิจเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบบริษัท ทำให้ไม่ได้มีการจ้างงานกับผู้ที่อยู่ในตลาดงานในรูปแบบพนักงานมากนัก ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ได้ผลิตคนที่มีกำลังซื้อสูงอย่างแท้จริง ผู้รับผลประโยชน์จะเป็นแค่กลุุ่มคนไม่กี่กลุ่ม เช่น เจ้าของกิจการ ส่วนที่เหลือคือรับผลประโยชน์แบบปลาซิวปลาสร้อย เช่น ลูกจ้างเสริฟอาหาร พนักงานทั่วไป เป็นต้น สรุปคือเงินในธุรกิจนี้ถูกหมุนอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม ไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากเท่าใดนัก

6. ภาวะสมองไหลของปัญญาชนจบใหม่ในการเข้าสู่ตลาดงานที่จังหวัดเชียงใหม่

จากข้อ 1 2 และ 3 ทำให้ปัญญาชนที่พึ่งจบใหม่ มีความทะเยอทะยาน ต้องการความก้าวหน้าและต้องการมีรายได้จากงานประจำต้องมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ไม่ก็ไปทำงานเมืองนอกไปเลย เพื่อแสวงหางานที่ตัวเองต้องการและมีรายได้ที่น่าพอใจ ไม่ว่าพวกเขาจะต้องต่อสู้กับเด็กมหาลัยดังในกรุงเทพก็ตาม แต่พวกเขาก็จะพยายามดิ้นรนหางานระดับสูงให้ได้ เพราะจากสาเหตุตามข้อ 1 2 และ 3 ที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้มีแหล่งงานมากนัก

คนกลุ่มนี้จึงหางานที่กรุงเทพและได้งาน ต้องทำงานที่กรุงเทพ ทำให้กรุงเทพสร้างคนที่มีกำลังซื้อพอสมควรใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา แถมพวกเขายังซื้อกินซื้อใช้ภายในกรุงเทพด้วย ทำให้ธุรกิจในกรุงเทพที่เกิดใหม่สามารถอยู่และสำเร็จได้เรื่อยๆ ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ก็กลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ค่อยมีงานดีๆ ให้เด็กจบใหม่ทำนั่นเอง

สรุปสั้นๆ ว่าสาเหตุหลักๆ มาจากการขาดแหล่งงานคุณภาพ สร้างคนมีรายได้จากงานประจำอย่างสม่ำเสมอด้วยเงินเดือนที่ดีไม่ได้ ทำให้ขาดกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง เมื่อไม่มีคนกลุ่มนี้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเกิดใหม่ที่ต้องแข่งกับเจ้าถิ่นนั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก เมื่อขาดกลุ่มลูกค้า ขาดกระแสเงินสด เชียงใหม่จึงเป็นเมืองปราบเซียนสำหรับหลายๆ คนไปโดยปริยาย

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น