ทำไม 'ระดับการศึกษา' ถึงไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จ

บทความนี้อาจจะฟังดูย้อนแย้งกับตัวผมเอง เนื่องจากตัวของเซลล์ร้อยล้านเองก็พึ่งได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อในระดับ Executive MBA ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาหมาดๆ นี่เอง ซึ่งก็หมายความว่าตัวผมเองก็เห็นความสำคัญของระดับการศึกษาเช่นกันครับ

ผมก็ขอ “นั่งยันนอนยัน” ตรงนี้เลยนะครับว่า ระดับการศึกษามีความสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะจบดอกเตอร์ปริญญาเอก จุฬา ฮาวาร์ด เอ็มไอที อะไรทำนองนั้นแล้วคุณจะโคตรรวยเป็นมหาเศรษฐี การศึกษาไม่ได้การันตีในส่วนนี้เลยว่าคุณจะสำเร็จ โดยเฉพาะถ้าคุณจะต้องทำงานเกี่ยวกับการขาย หรือทำอาชีพนักขาย

ไม่งั้นคนที่เรียนไม่จบหรืออาแปะเศรษฐีทำธุรกิจแถวบ้านคุณไม่รวยมาถึงป่านนี้กันหรอกครับ (ฮา) พวกเขาไม่ได้จบสูง บางคนเรียนไม่จบเลยด้วยซ้ำ หรือในปัจจุบันก็มีเศรษฐีออนไลน์อายุน้อยหลายคนที่รวยได้แบบคนสู้ชีวิต เพราะการทำธุรกิจและต้องมีการขายเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องแบบนี้ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยอีกต่างหาก

แต่การศึกษาระดับสูงก็ยังจำเป็นและสำคัญมากอยู่ดีนะครับ ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านบทความนี้แล้วจะไม่ตั้งใจเรียน เพราะการศึกษาที่ดีโดยเฉพาะจากสถาบันชั้นนำย่อมเป็นใบเบิกทางให้คุณได้โอกาสทำงานกับบริษัทที่ดี มีแต้มต่อเหนือคู่แข่งคนอื่น ขึ้นชื่อว่าเป็นการเรียนหนังสือ สิ่งที่ได้มาย่อมดีเสมอทั้งนั้นแหละครับ

ผมจึงขอแชร์เหตุผลว่าทำไมระดับการศึกษาถึงไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการขายหรืออาชีพนักขายของคุณ มาร่วมกันอ่านเหตุผลพร้อมกันได้เลยครับ

1. เพราะลูกค้าจะไม่มานั่งถามวุฒิการศึกษาของคุณ

เพราะอาชีพนักขายหรืออาชีพเซลล์เป็นอาชีพที่ต้องขายของต่อหน้าลูกค้า ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ หน้าตาเป็นอย่างไร จบจากที่ไหนมา ถ้าบริษัทต้นสังกัดฝึกอบรมคุณมาดี ลูกค้าย่อมไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวคุณ ยิ่งถ้าคุณแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือ ความเป็นมืออาชีพ ทำงานละเอียด รวดเร็ว เฉียบขาด ลูกค้าย่อมยอมจ่ายเงินให้คุณอย่างไม่ลังเล ที่สำคัญคือไม่มีลูกค้าหน้าไหนถามวุฒิการศึกษาของคุณว่าจบอะไรมา เคยทำงานที่ไหนมาก่อนจ่ายเงินคุณแน่นอนครับ แล้วลูกค้าก็ไม่ได้ตัดสินใจซื้อเพียงแค่คุณจบจุฬาฯ มา หรือว่าจบราชภัฎฯ แต่ทำงานได้ดีลูกค้าก็ย่อมจ่ายเงินให้คุณอยู่ดี เห็นไหมครับว่าการศึกษาแทบไม่มีผลอะไรต่อการขายเลย ไม่ว่าจะเป็น B2B หรือ B2C

2. เพราะทักษะการขายไม่มีสอนในระดับมหาวิทยาลัย

ถ้าให้คุณนึกถึงคณะหรือใบปริญญาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจก็คงหนีไม่พ้นคณะบริหารธุรกิจ คณะบัญชี การตลาด ไฟแนนซ์ อะไรทำนองนี้ แต่แปลกไหมครับที่ทุกมหาวิทยาลัยในไทยไม่มีคณะเกี่ยวกับ “การขาย” เลย ไม่มีตำราเล่มใดที่ถูกเขียนเป็นทฤษฎีการขายได้เหมือนกับหลักการตลาด ในเมื่อมันไม่มีสอนแล้วคุณจะได้เรียนรู้ศาสตร์นี้ได้อย่างไร หมายความว่าเมื่อเรียนจบออกไปแล้วทุกคนก็มีทักษะการขายแทบจะเป็นศูนย์

คนที่ได้เปรียบนิดหน่อยก็อาจจะเป็นพวกลูกที่ทางบ้านมีธุรกิจ หรือเคยทำธุรกิจขายตรง ขายของ ขายน้ำปั่นสมัยเรียนเพียงเท่านั้น ถ้ามหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดคณะ “การขายศาสตร์” “เซลล์ศาสตร์” อะไรทำนองนี้ ผมก็คงตอบได้ว่าระดับการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการขายมีความสำคัญต่อกันอย่างไรมากกว่านี้ครับ ดังนั้นทักษะการขาย

3. เพราะคำว่าคอนเนคชั่นคือสิ่งที่สำคัญกว่า สำหรับการขาย

สิ่งที่เหนือกว่าระดับการศึกษาก็คือคอนเนคชั่นนี่แหละครับ คอนเนคชั่นที่ว่านี้ก็ไล่ตั้งแต่คนที่สืบสายเลือดเดียวกัน เช่น คุณอาจจะเกิดมาโชคดี บ้านรวย มีกิจการใหญ่โต อย่างนี้ถือว่ามีคอนเนคชั่นดีตั้งแต่เกิดแล้ว หรือว่ามีคุณครู ผู้ใหญ่ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน เถ้าแก่ ฯลฯ ที่ดีจึงคอยช่วยเหลือหน้าที่การงานของคุณ ซึ่งถ้าตัวคุณห่วยเองก็คงไม่มีใครอยากเข้าหา แต่ถ้าทำงานได้ดี ขยันขันแข็ง บวกกับโชคและดวงบ้างนิดหน่อย คุณอาจได้คอนเนคชั่นที่ดีซึ่งสามารถช่วยเหลือการขายของคุณให้ร่ำรวยได้

ที่สำคัญไปกว่านั้นสำหรับนักขายก็คือการหาคอนเนคชั่นซึ่งก็คือ “ลูกค้า” ของคุณนั่นเอง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 0 จากการที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเพื่อโทรทำนัด เมื่อรู้จักกันเรียบร้อยแล้ว สิ่งนี้แหละครับที่เป็นคอนเนคชั่นที่สำคัญที่สุดของคุณ แถมยังทำให้คุณได้เงินอีกด้วย คอนเนคชั่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดของนักขายและนักธุรกิจก็คือลูกค้า ซึ่งก็อีกนั่นแหละที่มหาลัยหรือสถาบันของคุณไม่มีสอนหรือไม่สามารถให้ได้ คุณเองจะต้องลงมือทำในฐานะนักขายทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาครับ ประสบการณ์ของนักขายขั้นเทพคือการสะสมคอนเนคชั่นดีๆ เอาไว้มากที่สุดนั่นเอง

การศึกษา เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าคุณเลือกทางเดินของตัวเองให้เป็นนักขายหรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ใบเบิกทางที่สำคัญที่สุดของคุณก็คือลูกค้านั่นเองครับ จงโฟกัสไปที่สิ่งที่คุณควรทำก่อน แล้วคุณก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมาครับ 

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น