สาเหตุที่งานขายเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมสูง

เมื่อวานนี้ผมได้อ่านบทความของทาง “Adecco” โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ผู้ให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร ได้ทำการสำรวจข้อมูลบริษัทต่างๆ ในสายอาชีพต่าง ๆ กว่า 800 ตำแหน่งจากบริษัทชั้นนำมากกว่า 3,000 บริษัท พบว่า 5 อาชีพที่ตลาดต้องการสูงที่สุด มีดังนี้

1. พนักงานขายและพัฒนาธุรกิจ

2. วิศวกร

3. ไอที

4. บัญชี

5. ธุรการ

ที่มา: 

https://money.kapook.com/view205191.html

ถ้าคุณเป็นนักขายและกำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็อาจจะ “กระดี้กระด้า” เป็นพิเศษว่าคุณกำลังทำงานอยู่ในสิ่งที่ตลาดงานต้องการ ดูทรงแล้วคงตกงานยากแหงๆ แต่บางคนคงเลิกคิ้วสงสัยว่าสายงานที่ตัวเองทำอยู่นั้นมีความต้องการจากนายจ้างมากขนาดนั้นเชียวเหรอ

แล้วทำไมการจัดอันดับนี้ถึงไม่มีสายงานแพทย์ พยาบาล เภสัช ทันตะ อะไรทำนองนี้รวมอยู่ด้วย เป็นเพราะว่าการสำรวจข้อมูลมาจากภาคธุรกิจเท่านั้น และสายงานแพทย์นี้ไม่บอกก็รู้ว่าปั้นคนมาเท่าไหร่ก็ไม่พอครับ จบมาแล้วมีงานทำแหงๆ อยู่แล้ว ไม่น่าถามกันเลยเนอะ (ฮา)

ถึงตรงนี้ผมกล้าพูดเลยครับว่าสายงานขายเป็นงานที่ตลาดงานภาคธุรกิจมีความต้องการสูงจริงๆ ผมจะอธิบายให้คุณฟังเองครับว่าอาชีพนี้มีค่ามากที่สุดสำหรับองค์กรภาคเอกชนได้อย่างไร ตามนี้เลยครับ

1. เพราะเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจมาจากการขายเป็นหลัก

ขึ้นชื่อว่าเอกชน ธุรกิจใดๆ ก็ตามแต่ที่คุณไล่สมัครงานเพื่อเข้าสู่ตลาดงานมีเป้าหมายสูงสุดในเรื่องการแสวงหาผลกำไร ดังนั้น สิ่งที่ทำให้ธุรกิจมีกำไรก็คือ “ยอดขาย” นั่นเอง ถ้ายอดขายมีตัวเลขสูงกว่า “ต้นทุน” สิ่งที่ธุรกิจได้มาก็คือ “ผลกำไร” เพื่อเอาไว้จ่ายเงินเดือน จ้างพนักงานเสริมทีม แจกสวัสดิการดีๆ หรือแม้แต่การจ่ายโบนัสให้กับคุณ ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาจากยอดขายและผลกำไรนั่นเอง ธุรกิจที่ขาดยอดขาย อย่าว่าแต่ค่าคอมมิชชั่นเลยครับ เผลอๆ บริษัทไม่ได้กำไร คุณเองจะถูกเด้งเอาง่ายๆ ดังนั้นนักขายก็เปรียบเสมือนกองหน้าที่บริษัทลงทุนแล้วสามารถหวังผลถึงสายเลือดหล่อเลี้ยงบริษัทนั่นก็คือยอดขาย

2. ธุรกิจจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีการขาย

ทุกสิ่งทุกอย่างที่บริษัทได้ทำมา ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมระดับโลก งานวิจัยระดับสุดยอด ผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณขั้นเทพ อาหารรสชาติดีเลิศ ฯลฯ ถ้าคุณไม่ได้เน้นขายหรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้มียอดขาย เช่น การตลาด ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีสินค้าหรือบริการที่ดีแต่ขายไม่ได้ก็เท่านั้นครับ รอเจ๊งได้เลย นักขายจึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญเพื่อช่วยนำสิ่งที่บริษัทได้พัฒนามาแล้วมีคนซื้อ คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งถ้าธุรกิจนั้นมีสินค้าหรือบริการที่ขายยาก มีความสลับซับซ้อน มีมูลค่าสูง สิ่งนี้จะช่วยพิสูจน์ฝีมือของนักขายซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะได้รับค่าตอบแทนมหาศาล เป็นที่ต้องการตัวของบริษัทหลายๆ แห่งที่ทำธุรกิจคล้ายๆ กัน บริษัทจะยินดีที่จะจ่ายผลตอบแทนตามระดับฝีมือของคุณ

3. เป็นหน่วยรบที่เอาไว้ใช้ต่อกรกับคู่แข่ง

การทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม แทบทุกภาคธุรกิจจะมีคู่แข่งของกันและกันอยู่เสมอ ไม่มีธุรกิจใดอยู่ค้ำฟ้าตลอดกาล เมื่อใดที่ธุรกิจนั้นมีแนวโน้มดี มีการเติบโตที่ดี คนที่มีเงินทุนและอยากเข้ามาแย่งเค้กที่ชื่อว่า “ผลประโยชน์” ก็จะกระโดดเข้ามาร่วมวงด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจระดับโลกหรือระดับหมู่บ้านก็ตาม ไม่เชื่อดูเซเว่นแถวบ้านคุณก็ได้ครับ สาขาไหนปังก็มักจะมีอีกสาขามาเปิดใกล้ๆ เสมอ (ฮา) ดังนั้นธุรกิจไหนทีมีทีมขายที่แข็งแกร่งกว่าก็มีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่า อย่างน้อยก็มีฐานลูกค้าที่ดีกว่า แถมยังมีโอกาสแย่งตลาดคู่แข่งได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทีมขายที่ดีจะช่วยรักษาลูกค้าให้คงอยู่กับบริษัทได้ตลอดไป และทำให้บริษัทเปิดใหม่สามารถแย่งตลาดจากขาใหญ่ได้ด้วย

4. ธุรกิจแบบองค์กร (B2B) นักขายคือบุคลากรที่สำคัญที่สุด

ธุรกิจแบบ B2B จะทำการซื้อขายกับธุรกิจแบบ B2B ด้วยกัน จึงไม่จำเป็นต้องทำการตลาดเช่นการโฆษณาแต่อย่างใด เพราะจำนวนลูกค้ามีอยู่จำกัด บางธุรกิจมีไม่ถึง 50 เจ้าด้วยซ้ำ เช่น ธุรกิจไอทีที่ติดตั้งระบบให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ดังนั้นทีมขายหรือนักขายจึงมีความสำคัญมากที่สุด มากกว่าตำแหน่งใดๆ ในองค์กรด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะสามารถออกตลาดไปพบลูกค้าเพื่อทำให้ลูกค้ารู้จักบริษัทโดยไม่ต้องพึ่งการตลาดแล้ว พวกเขายังสามารถสร้างโอกาสทางการขายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ต่อให้บริษัทไม่ได้มีทีมวิศวกรเก่งๆ ก็ตาม ขอให้ขายให้ได้ก่อน ถึงทีมงานไม่พอก็ยังมีทางไป เช่น นำงานไปให้ซัพพลายเออร์รายอื่นช่วยทำและแบ่งผลกำไรอีกทาง เป็นต้น

5. นักขายมือทองที่ขายแบบสมัยใหม่มีไม่มากในตลาด

การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีและอายุของคนทำงานมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (อายุ 50 ขึ้นไป) ที่พึ่งพาการขายแบบอาศัยความสัมพันธ์ คอนเนคชั่น อาจสู้นักขายรุ่นใหม่ที่มีเครื่องมือด้านโซเชี่ยลมีเดียในการหาลูกค้าไม่ได้แล้ว แถมตัวลูกค้าเองก็เป็นคนรุ่นใหม่ เช่นคนรุ่น Gen-X (อายุ 40-50) ก็ได้กลายเป็นผู้บริหารแล้ว พวกเขามุ่งเน้นการขายแบบมืออาชีพและชอบนักขายที่เป็นที่ปรึกษา ใช้เวลาได้ดี นำเสนอเฉียบคมเชิงธุรกิจมากกว่าเหล่าลูกค้ารุ่นเก่าที่กว่าจะขายได้ต้องพาไปเลี้ยงเหล้า ไปอ่างอบนวด ตีกอล์ฟ อะไรทำนองนั้น ถือว่าเป็นกิจกรรมยุคไดโนเสาร์ที่ยุคนี้มันไม่ค่อยเวิร์กแล้วล่ะครับ

นักขายรุ่นใหม่ที่เข้าใจระบบการขายและทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ ถามคำถาม นำเสนอ วางตัวในฐานะ “ที่ปรึกษา” ซึ่งมีความเข้าใจธุรกิจของลูกค้าอย่างแท้จริงจึงเป็นบุคลากรที่องค์กรต้องการตัวมากกว่า ที่สำคัญคือ “หายาก” ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ นักขายที่ผ่านงานขายจากองค์กรระดับโลกหรือองค์กรที่มีระบบการขายที่ดีจึงเป็นของมีค่า หายาก แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen-Y กับ Gen-Z (อายุ 35 ปีลงมา) มีความสนใจด้านงานขายมากขึ้นและได้โอกาสที่ดีในการร่วมงานกับบริษัทที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นต้น

นี่คือเหตุผลว่าทำไมอาชีพนักขายถึงเป็นที่ต้องการตัวสูงสุดในยุคนี้ครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น