มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน คุณควรทำอย่างไร

ขึ้นชื่อว่าการทำงาน ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เพราะทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วย “อารมณ์” เป็นสำคัญ ในบางครั้ง การทำงานด้วยอารมณ์อาจนำไปสู่ “ความขัดแย้ง” ในการทำงานก็เป็นได้ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้ถือว่าเป็นปกติของสังคมแห่งการทำงานครับ

เนื่องจากอาชีพเซลล์ เป็นอาชีพที่มีความกดดันสูง ทั้งยังต้องแข่งกับเวลา และยังต้องทำงานให้ละเอียด เพืื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ทันท่วงที จึงทำให้พวกเขาอาจจะ “หลุด” ไปบ้าง เช่น การสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม ทีมงาน ฝ่ายเอกสาร ฝ่ายช่าง ฝ่ายระบบ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการขาย จึงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งขึ้นมา

คุณลองถามตัวเองนะครับว่าเคยมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารหรือตอบสนองเกี่ยวกับงานหรือไม่ ถ้ามี คุณสบายใจได้เลยครับว่าองค์กรไหนหรือธุรกิจแบบใดที่มีการทำงานเป็นทีม แม้แต่ดารานักแสดง นักกีฬา นักดนตรี ย่อมมีข้อผิดพลาดเรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่แล้วครับ ไม่มีสิแปลก เพราะคนนะครับ ไม่ใช่หุ่นยนต์ ถึงไม่มีคำว่า “อารมณ์” เข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุมาจากตัวคุณหรือว่าคนอื่นก็แล้วแต่ จงอย่ามองข้ามปัญหาและควรโฟกัสกับการแก้ปัญหาเพื่อนร่วมงานให้ตรงจุด อย่างน้อยที่สุดควรมีความพยายามและลงมือทำ ผลที่ตามมาย่อมเป็นผลดีต่อการทำงานของคุณแน่นอนครับ


1. ถามตัวเองก่อนว่าคุณมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นหรือไม่

ก่อนอื่นอย่าพึ่งโทษสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น เพื่อนร่วมงานทำงานไม่ได้เรื่อง มีส่วนทำให้งานผิดพลาด ไม่รับผิดชอบ ผลิตภัณฑ์ไม่ดี เจ้านายห่วย ฯลฯ แต่จงถามตัวเองว่าคุณเองก็มีส่วนที่ทำให้เกิดการผิดใจกันหรือไม่ เช่น คุณใช้อารมณ์ส่วนตัวในการเร่งงานจากเพื่อนร่วมทีมมากเกินไป คุณควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ จึงทำให้เกิดการ “ชักสีหน้า” แววตา น้ำเสียง คุณกดดันจากการทำงาน จึงเผลอระเบิดใส่เพื่อนร่วมทีม เป็นต้น

สังเกตไหมครับว่าหลายสาเหตุก็อาจจะมาจาก “อารมณ์” ของคุณเองนั่นแหละ ที่ทำให้สีหน้า แววตา ท่าทาง การสื่อสารของคุณนั้นไม่ดี ทำให้คนรับสารจากคุณอาจจะ “เข้าใจผิด” และเกิดการผิดใจกันขึ้น บางทีพวกเขาอาจจะไม่พูดต่อหน้า แต่ผูกใจเจ็บ เริ่มไม่ชอบคุณ ไปจนถึง “เกลียดขี้หน้า” คุณลับหลังก็ได้ แถมยังมีสิทธิ์ “ก่อหวอด” เริ่มนินทาและตั้งกลุ่มที่ไม่ชอบคุณขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณทำงานลำบากแถมยังไม่มีคนชอบโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

แต่ถ้าคุณแน่ใจว่าไม่ได้เป็นตัวปัญหาเลย จงลองวิเคราะห์ดีๆ ว่าเป็นเพราะคนอื่นเข้าใจผิดไปเองหรือปล่าว หรือเป็นเพราะว่าคุณนั้นทำงานไม่ได้เรื่อง ขัดหูขัดตาคนอื่น พูดอะไรไม่ระวัง เรื่องพวกนี้จงลองโทษตัวเองเอาไว้ก่อน เพื่อให้ตัวคุณนั้นพร้อมที่จะเข้าไป “ปรับความเข้าใจ” กับคู่กรณีได้นั่นเองครับ

2. จงเข้าไปขอโทษอย่างจริงใจ หาโอกาสปรับความเข้าใจ ถึงแม้ว่าคุณไม่แน่ใจว่าตัวเองนั้นผิดรึปล่าว

เมื่อทราบดีแล้วถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งวิเคราะห์สิ่งที่ผิดพลาด จงหาเวลาและโอกาสที่ค่อนข้างส่วนตัวในการเดินเข้าไป “ขอโทษ” อย่างจริงใจ อาจจะออกตัวไปก่อนว่า “ผมอาจจะผิดที่…” และกล่าวขอโทษด้วยความสุภาพ พร้อมกับพูดว่าอะไรที่ทำให้คนอื่นผิดใจ คุณไม่ได้ตั้งใจที่จะมีเจตนาแบบนั้น ถ้าทำผิดพลาดหรือล่วงเกินผู้ได ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

เมื่อคุณกล่าวขอโทษแล้ว จงถามคำถามเพื่อค้นหาสิ่งที่ติดค้างในใจของเพื่อนร่วมงาน พวกเขามีโอกาสจะคายสิ่งที่ซ่อนอยู่ เช่น จริงๆ แล้วอาจจะหวังดี อยากเตือนคุณเกี่ยวกับสิ่งที่คุณอาจจะทำพลาดแล้วไม่เข้าตาพวกเขาก็เป็นได้ หรือแม้แต่นิสัยบางอย่างที่คุณอาจจะทำตัวไม่ได้เรื่อง แล้วพวกเขาอยากให้คุณปรับปรุงในส่วนนี้นั่นเอง คุณจะได้รับสิ่งที่ดีมากเลยล่ะครับ แต่มีข้อแม้ว่าคุณต้องลงมือปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นด้วย ไม่มีใครไม่หวังดีกับคุณหรอก

3. ถ้าไม่ดีขึ้น จงโฟกัสที่การทำงานของตัวเองเป็นหลัก

เป็นธรรมดาที่คุณยอมทำทุกอย่างแล้ว แต่คนที่ไม่ชอบขี้หน้าคุณก็ยังอยากมีปัญหากับคุณเหมือนเดิม ถ้าคุณลงมือแก้ไขทุกอย่าง เช่น ขอโทษ ปรับปรุงตัว ปรับความเข้าใจแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น ผมขอแนะนำให้คุณไม่จำเป็นต้อง “เก็บปัญหาที่มีกับเพื่อนร่วมงานมาใส่ใจ” แต่อย่างใด อาจจะรู้สึกอึดอัดไปบ้าง แต่ผมขอลองให้คุณโฟกัสที่งานเป็นหลัก โดยเฉพาะงานขาย ไม่มีประโยชน์อะไรที่คุณจะมัวใส่ใจเพื่อนร่วมงานที่มีปัญหามากเกินเหตุ คนที่จะทำให้เป้าหมายของคุณสำเร็จลุล่วงไปได้ก็คือลูกค้านั่นเอง

ถ้าคุณเป็นนักขาย จงเอาเวลาทำงานไปอยู่กับ “ลูกค้า” ให้ได้มากที่สุด คุณจะยิ่งออกห่าง “เสียงนกเสียงกา” มากขึ้น แถมยัง “เข้าใกล้” ความสำเร็จมากกว่าใคร ในขณะที่เพื่อนร่วมงานของคุณกำลังนั่งนินทาอยู่นั้น คุณก็ได้ยอดขายแซงพวกเขาไปไกลลิบแล้ว ถ้าคุณเข้าถึง “หัวหน้า” หรือ “เจ้าของบริษัท” ในการนำเสนอตัวเอง (เรียกง่ายๆ ว่าเสนอหน้า) โดยเฉพาะผลงานที่คุณทำสำเร็จ คุณจะเริ่มกลายเป็นลูกรัก เสียงนกเสียงกาจะเริ่มกลายเป็นเสียง “หมาเห่า” ไปในทันที 555+ รู้ตัวอีกทีตัวคุณก็ไปไกลลิบแล้วครับ พวกนั้นก็มองคุณตาปริบๆ

4. จง “อยู่เป็น”

ฟังดูเหมือนนักการเมืองนะครับ ข้อนี้ (ฮา) บางทีปัญหาการกระทบกระทั่งอาจมาจาก “การเมืองภายใน” องค์กร จงอ่านกระแสของการเมืองดีๆ แนะนำให้อยู่ “ฝ่ายที่ชนะ” เป็นหลัก เช่น ฝ่ายนายจ้าง เพราะฝ่ายลูกจ้างอาจจะไม่มีอำนาจมากนัก พยายามอย่าเข้าไปร่วมวงนินทา โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมงานรุ่นใหญ่ที่อยู่มานาน เพราะกลุ่มนี้มีอำนาจในระดับนึง สามารถสร้างความแตกแยกให้กับองค์กร เช่น รอยร้าวเล็กๆ การก่อหวอด การใส่เกียร์ว่างไม่ทำงาน การใช้อำนาจกดดันคนระดับล่าง ทำให้เกิดการลาออก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถ้าคุณไม่ใหญ่พอ จงหลีกหนีให้ห่างเลยนะครับ เดี๋ยวเก้าอี้คุณจะร้อนเอา แต่ถ้าคุณเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัท จงไล่พนักงานแบบที่ว่านี้แล้วเอาสายเลือดใหม่ขึ้นมาแทนเลยนะครับ ก่อนที่จะกลายเป็น “มะเร็งร้าย” กัดกินบริษัทคุณมากกว่านี้


ผมเชื่อว่าการทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่ดี และจะดีมากๆ ถ้าคุณมองเห็นปัญหาพร้อมแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ถ้าปัญหานั้นเกินเยียวยา ผมแนะนำให้คุณโฟกัสที่งานกับตัวเองเป็นหลัก โดยเฉพาะลูกค้า แล้วปัญหาพวกนั้นจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยล่ะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น