Superstar Syndrome ภัยซ่อนเร้นสำหรับคนที่ทำงานเก่งทุกคน

ผมเชื่อว่าหลายๆ คนไม่เคยได้ยินคำว่า Superstar Syndrome รวมถึงความหมายของมันมาก่อนอย่างแน่นอน คุณคงสงสัยว่านี่คืออาการที่เกี่ยวข้องกับ “โรคซูเปอร์สตาร์” หรืออย่างไร ถ้าใครเป็นโรคนี้คงได้เป็นดาราดังแบบณเดชกันแล้วล่ะมั้ง (ฮา)

จริงๆ แล้วคำนี้มีที่มานะครับ ถ้าใครติดตามแวดวงกีฬาน่าจะพอรู้จักอาการนี้กันอยู่บ้าง ผมขออธิบายเลยก็แล้วกัน อาการนี้คืออาการที่แปลเป็นไทยแบบบ้านๆ ก็คือ “วัวลืมตีน” ซึ่งมักจะเกิดกับนักกีฬาดาวรุ่ง เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล มวย ฯลฯ ที่อายุไม่ถึง 20 แต่ก็ดังคับโลก

ไม่ว่าจะมาจากการยกยอปอปั้นโดยสื่อหรือเกจิอาจารย์ต่างๆ ว่าหมอนี่จะเป็นซูเปอร์สตาร์ได้แน่ อายุแค่นี้ยังเก่งขนาดนี้ จึงทำให้ความสำเร็จและเงินทอง ชื่อเสียง ไหลมาเทมาจนเกิดอาการตั้งตัวไม่ทัน เริ่มทำตัวเป็นซูเปอร์สตาร์ ติดแอ๊ก ขี้เก๊ก หยิ่งยะโส อะไรทำนองนั้น

แล้วอาการนี้มันเกี่ยวกับการทำงานของคุณอย่างไร ที่ผมตั้งชื่อบทความว่า “ภัยซ่อนเร้น” เพราะมันเกิดขึ้นกับชีวิตของผมโดยตรงนั่นเอง และผมเชื่อว่าน่าจะกำลังเกิดกับคนรุ่นใหม่หลายๆ คนอยู่ในขณะนี้อีกด้วย อาการนี้มันเกือบทำลายอาชีพการงานของผมจนพังยับ

สาเหตุของโรคคือการที่คุณมีความมั่นใจในตัวเองและทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เช่นผมเก่งเรื่องการขายมาก จบใหม่มาไม่นานก็ปิดดีลใหญ่ๆ ได้เกือบร้อยล้าน ทำให้ทั้งบริษัทแซ่ซ้องผมตั้งแต่หัวหน้าไปจนถึง CEO กลายเป็นนักขายดาวรุ่งในชั่วข้ามคืนแซงหน้ารุ่นพี่ สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตผม มันจึงทำให้ผมมีความลำพองใจเป็นอย่างมาก

เมื่อผมเข้าสู่สถานะตัวท็อปหรือซูเปอร์สตาร์เร็วเกินไป มันจึงทำให้อีโก้ (Ego) ในตัวผมเติบโตขึ้นโดยไม่รู้ตัว เริ่มทำงานใหม่ด้วยความมั่นใจเกินเหตุ ใครจะพูดหรือแนะนำอะไร ถ้าไม่เก่งจริงหรือผมไม่ได้ยอมรับในฝีมือตั้งแต่แรกนั้น เสียงของพวกเขาก็จะไม่มีความหมาย

อาการต่อมาที่เริ่มส่งผลร้ายก็คือการทำงานด้วยอารมณ์ พอเกิดความเครียดก็ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ชักสีหน้าใส่รุ่นพี่หรือทะเลาะกันจนหัวหน้าต้องเข้ามาเคลียร์ จากที่เป็นเด็กน่ารักก็กลายเป็นพวกเลี้ยงไม่เชื่อง อาการหนักที่เกิดขึ้นสำหรับผมต่อมาก็คือ

“อาการซึ้งตัวเอง”

นั่นก็คือเริ่มคิดไปเองว่าทีมหรือเจ้านายน่าจะขาดผมไม่ได้ ผมมีความสำคัญ มียอดขายและมีอนาคต มีฝีมือ พวกเขาคงขาดผมไปไม่ได้ ผลก็คือเริ่มไม่ค่อยแคร์องค์กรเพราะว่าคงมีบริษัทอื่นอ้าแขนรับผมแน่ๆ บวกด้วยความทะเยอทะยานขั้นสุดที่อยากทำงานบริษัทระดับโลก มันจึงทำให้ผมไม่แคร์ว่าหัวหน้าจะคิดอย่างไร และเอาเวลาไปสมัครงานกับบริษัทฝรั่ง เพราะระดับผมต้องคู่ควรกับบริษัทระดับโลก ผมคือนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์

ผลก็คือได้งานอย่างไม่ต้องสงสัยเพราะผลงานเทพขนาดนี้ แต่สิ่งที่ผมขาดไปก็คือผมได้รับประสบการณ์ในการทำงานแบบ “ครึ่งๆ กลางๆ” ยังไม่ได้เรียนรู้อะไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยขนาดนั้น แล้วก็ไปทำบริษัทข้ามชาติซึ่งมีระบบที่เคร่งครัดทันที

แต่อาการ Superstar Syndrome มันก็ไม่ได้หายไปไหนนะครับ มันติดตามผมไปที่ทำงานใหม่ด้วย อาการขี้แอ๊กก็ตามมา ผมหลุดคำพูดบางอย่างไปจนรุ่นพี่หมั่นใส้ด้วยการโม้ว่าผมเจ๋งแค่ไหนกับการทำงานที่เก่าที่ทำยอดขายได้ร้อยล้าน แล้วการทำงานจริงๆ ก็เริ่มมีปัญหา

ผลก็คือไม่มีใครอยากสนับสนุนผมอีกต่อไป แม้แต่เจ้านายใหม่ก็รู้ดีว่าผมมีปัญหา เขาเอาผมมาปรับทัศนคติใหม่ก็แล้ว มีเหตุการณ์ที่ผมต้องกลับตัวก็แล้ว รู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว ผมมีปัญหากับที่ทำงานเพราะต้องบินกลับบ้านและหัวหน้าไม่อนุมัติ เขาจึงขู่ว่าถ้าผมกลับไทย ผมต้องลาออกและเขาคงต้องหาคนใหม่ ผมตัดสินใจอย่างไรคงไม่ต้องบอกนะครับ

ผมเลือกที่จะลาออกและย้ายไปทำงานบริษัทที่เล็กลง จากนั้นก็เริ่มกลายเป็น Job Hopper เปลี่ยนงานบ่อย กว่าจะกลับเนื้อกลับตัวได้ก็เรียกได้ว่าเรซูเม่ของผมเกือบเละและแทบไม่มีที่ยืน ดีที่ว่าผมแก้นิสัยนี้ได้ด้วยการปรับทัศนคติใหม่ ไม่เป็นพวกวัวลืมตีน สุภาพ นอบน้อม เรียนรู้แบบน้ำไม่เต็มแก้วตลอดเวลา เท่านี้ก็จะแก้ปัญหา Superstar Syndrome ได้ครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts