ทำไมคุณถึงต้องทำแบรนดิ้งตัวเอง (Personal Branding)

พูดถึงคำว่าแบรนด์ (Brand) ต่อให้คุณเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้เรียนด้านการตลาดอะไรมา สมองคุณคงนึกถึงยี่ห้อสินค้า เช่น แอปเปิ้ล ไอโฟน โตโยต้า เบนซ์ เคเอฟซี สิงห์ ช้าง ม้า วัว ควาย (ฮา) ฯลฯ คุณคงแปลกใจว่าแบรนด์สินค้ามันเกี่ยวอะไรกับการทำงานของคุณ โดยเฉพาะคนที่ทำงานในองค์กร คิดแบบนั้นมั้ยล่ะครับ

ผมจึงขอตั้งคำถามให้คุณตระหนักคิดง่ายๆ ครับว่าถ้าตัวคุณ “เป็นแบรนด์สินค้า” คุณจะเปรียบตัวเองว่าเป็นแบรนด์อะไรที่อธิบายตัวตนของคุณได้มากที่สุด อย่างเช่นผมเองอาจจะมีคนรอบข้างบอกว่าเปรียบเสมือนแบรนด์ยี่ห้อ “มิสเตอร์นักขาย” เพราะหายใจเป็นเงินเป็นทองและโฟกัสแต่กิจกรรมด้านการขายเป็นหลัก เป็นต้น

การสร้างแบรนด์ให้กับตัวตนของคุณจะทำให้คุณมีผลงานการทำงานที่โดดเด่น เป็นที่น่าจดจำสำหรับผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะลูกค้ากับคู่ค้า ที่สำคัญคือมันไม่ใช่การ “หลอกตัวเอง” และเป็นการดึงจุดแข็งของบุคลิกกับลักษณะนิสัยของคุณออกมาในด้านบวก ทำให้คุณสนุกไปกับการเป็นตัวเองและทำผลงานได้ดีขึ้น

โลกนี้ไม่จำเป็นต้องเหมือนบุคคลต้นแบบไปทุกอย่าง คุณควรเอาสิ่งที่ดีที่สุดของคนที่คุณชื่นชอบมาประยุกต์ให้เข้ากับสไตล์ของตัวเองต่างหากถึงดีที่สุด แม้แต่นักฟุตบอลระดับโลกก็มีบุคลิกกับสไตล์การเล่นที่แตกต่างกัน เช่น โรนัลโด้กับเมสซี่ที่ต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นเหมือนกันคือยิงประตูเป็นกอบเป็นกำและพาทีมคว้าแชมป์

ผมจึงขอแชร์วิธีการทำแบรนดิ้งตัวเอง (Personal Branding) ในแบบฉบับของเซลล์ร้อยล้านที่มีข่าวดีว่าคุณจะเป็นใครไม่สำคัญ คุณสามารถดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างมีคุณค่า และไม่จำเป็นต้องเกิดมาหล่อสวยด้วย


1. คิดแบบนักการตลาดก่อนเสมอ

การตลาด มีหลักการ 4P ที่สำคัญคือ Product, Price, Place, Promotion และ อีก 1P ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ Packaging โดยการทำแบรนดิ้งตัวเองจะขอโฟกัสที่ 2 สิ่งจากหลักการตลาด คือ Product กับ Packaging

Product = คุณคือสินค้า

Packeging = “ภาพลักษณ์” ที่คนภายนอกเห็นแล้วรู้ว่าเป็นคุณ

คุณจะต้องคิดถึง 3 สิ่งที่เป็นหลักการตลาดเสมอคือ

– ทำอย่างไรให้โดดเด่น (Unique)

– ทำอย่างไรให้แตกต่าง (Differentiation)

– ทำอย่างไรให้ขายได้ (Selling): ซึ่งส่วนนี้คือผลรวมของการมีสิ่งที่โดดเด่นและแตกต่างแบบมีคุณค่าจนเกิดความรู้สึกเชิงบวกให้กับคนอื่น ไม่ใช่การทำตัวเด่นกับแตกต่างแบบผิดวิธีจนคนหมั่นใส้และรังเกียจ

ตัวอย่างของบุคคลที่มีการสร้างแบรนด์ตัวเองที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ถ้าผมให้คุณนึกถึงเดวิด เบคแฮม นักฟุตบอลระดับโลกชื่อดังชาวอังกฤษ คุณจะนึกถึงหนุ่มใหญ่วัย 40+ ที่หล่อ ดูดี ดูแลตัวเอง เป็นแฟชั่นนิสต้า เป็นแฟมิลี่แมน เป็นสุภาพบุรุษ เป็นตัน

2. วิธีการทำแบรนดิ้งตัวเอง (Personal Branding)

แล้วคุณล่ะครับ คุณจะนึกถึงอะไร ดังนั้นคุณจึงต้องวิเคราะห์ตัวเองออกมาแบบเดียวกับหลักการตลาดกับการขาย ตัวอย่างเช่น

กูนี่แหละเซลล์ร้อยล้าน

– เป็นคนชิลๆ ไม่คิดมาก เฮฮา

– เป็นคนบ้ากิจกรรมด้านการขายมาก

– เป็นคนอยากรวย อยากประสบความสำเร็จ

– เป็นคนกล้า มั่นใจ ไม่กลัว

– เป็นคนสไตล์อะลุ่มอล่วย (Compromise)

– เป็นคนหน้ายิ้ม + หน้าตาดี โหงวเฮ้งดี (คนอื่นบอกมา)

– เป็นคนชอบใส่สูทเวลาทำงานตลอดเวลา

ผมจึงนำมาขยำรวมกันเพื่อสร้างความโดดเด่น แตกต่าง และขายตัวเองได้ ดังนี้

“เซลล์ร้อยล้านผู้ที่ลงมือทำงานขายแบบมีวินัยทุกวัน มีความมั่นใจมากว่าจะปิดการขายกับบุคคลระดับ CEO ได้ทุกครั้ง หน้าตาเปื้อนยิ้มกับใส่สูทสีกรมท่าตลอดเวลาไปพบลูกค้า ใจดีกับลูกน้องมาก ไม่เคยด่ามีแต่แนะนำหรือสอนงานให้ตลอดเวลา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจนขายตัวเองและมีค่าตัวหลักล้านคือยอดขายที่ตามมาแบบถล่มทลาย ลูกทีมไม่ค่อยลาออก ไม่เคยมีความขัดแย้งหรือใช้การด่ากันเลยแม้แต่ครั้งเดียว”

ภาพลักษณ์ที่ผมสร้างขึ้นบวกกับจุดแข็งด้านการทำงานจะทำให้ผมเป็นผู้บริหารฝ่ายขายที่มีบริษัทอื่นๆ มาตอมหึ่งตลอดเวลา หรือแม้แต่การเขียนบทความให้คุณอ่านที่มี “ลายเซ็น” จากสำนวนการเขียนและเป็นการสร้างแบรนด์ให้ตัวผมได้อีกรูปแบบหนึ่งนั่นเองครับ

3. ทำไมคุณถึงต้องมีการทำแบรนดิ้งตัวเอง

– เพื่อบ่งบอกว่าเป็นตัวคุณ

– เพื่อการปูทางไปสู่การสร้างชื่อเสียงในอนาคต

– เพื่อบ่งบอกให้ผู้อื่นทราบว่าคุณมีความเป็นมืออาชีพ

– เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตัวเองมากขึ้น

4. เคล็ดลับเพิ่มเติมในการทำแบรนดิ้งตัวเอง

– สไตล์: คือสิ่งที่เป็นคุณอย่างแท้จริง ควรมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่เป็นคุณให้มากที่สุด ไม่ต้องคิดว่าต้องแต่งตัวตามหนังสือแฟชั่นจน “ไม่เป็นตัวของตัวเอง” บางทีแค่ชุดยูนิโคล่กับกางเกงสีเรียบๆ รองเท้าผ้าใบที่คุณชอบใส่ก็บ่งบอกสไตล์ของคุณได้แล้ว ตัวอย่างเช่นสตีฟ จ๊อบส์กับชุดแขนยาว กางเกงยีนส์ หรือพี่มาร์คแห่งเฟสบุ้คที่ชอบใส่ชุดสีเทา รองเท้าผ้าใบ ดีที่สุดคือ “เข้ากับงานที่คุณทำ” เช่น คุณเป็นนักขาย การแต่งการสไตล์นักธุรกิจจะดีที่สุด หรือนักการตลาดที่แต่งตัวสไตล์ “เด็กแนว” ก็เข้าท่าไปกับงานของคุณเช่นกัน

– สี: สีคือวิธีการง่ายๆ ในการสร้างการจดจำคุณ ไล่ตั้งแต่เสื้อผ้า หน้า ผม เช่น ผมของคุณมีสีทอง สีขาว สีดอกเลาเป็นเอกลักษณ์ เสื้อเชิ้ตที่ใส่สีเดียวกับตลอดเวลา ใส่สูทสีเดิมๆ ทุกครั้งที่พบลูกค้า เนคไทสีที่บ่งบอกความเป็นคุณ จะดีมากๆ ถ้าสีที่คุณมีนั้นเข้ากับการแต่งตัวและสีผิวของคุณที่สุด

– สิ่งของ: พูดง่ายๆ ก็คือ Accessories หรือเครื่องประดับที่คุณใส่มาเป็นประจำทุกวัน ดูมีความเป็นเอกลักษณ์ เช่น คุณรวิศ หาญอุตสาหะแห่งศรีจันทร์โอสถฯ ที่ใส่แว่นกรอบดำเป็นเอกลักษณ์ คุณตัน อิชิตันที่มีหมวกกัปตัน เป็นต้น


วิธีที่ผมแนะนำคุณจะทำให้คุณสร้างแบรนดิ้งตัวเองจากตัวตนของคุณผ่านอุปนิสัยและปัจจัยภายนอกอย่างการแต่งตัวเพื่อความแตกต่างได้เลยครับ

ขอบคุณที่มาเพิ่มเติม: https://scbsme.scb.co.th/seminar-detail/82

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น