ประเภทของอาชีพนักขายแต่ละแบบ

อาชีพนักขายในวงการธุรกิจ แน่นอนว่าไม่ได้มีแต่อาชีพนักขายแบบยืนขายของไปวันๆ หรือเป็นนักขายประเภทคอลเซนเตอร์ เพื่อให้คุณเข้าใจว่างานขายแต่ละประเภทมีอะไรกันบ้าง ผมจึงขออธิบายอย่างง่ายตามบทความด้านล่างนี้ครับ

1. Inside Sales

คือนักขายที่ทำงานภายในบริษัทเท่านั้น ตำแหน่งสายตรงเลยก็คือนักขายคอลเซนเตอร์ นักขายออนไลน์แพลทฟอร์มต่างๆ หรือนักขายผ่านโซเชี่ยลมีเดีย

งานหลักคือโทรพูดคุยหรือแชตติดต่อลูกค้าที่วิ่งเข้ามาหรือเป็นฝ่ายหาเองและปิดการขายผ่านเสียงตามสายหรือผ่านออนไลน์

2. Outside Sales

คือนักขายที่ต้องวิ่งออกตลาดไปพบลูกค้าแบบเจอหน้า นักขายที่ต้องออกบูท โทรนัดเพื่อไปเจอลูกค้าต่อหน้า ขายตามงานอีเวนต์ ถือว่าเป็นประเภทนี้ทั้งหมด หลักๆ ที่ต้องเจอหน้าเพราะสินค้ามีความซับซ้อนและจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์ การเจอหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจแบบ B2B ที่ใช้ระบบการขายแบบนี้

3. Retail Sales

คือนักขายที่ยืนขายตามหน้าร้าน หน้าที่หลักๆ คือคอยสอบถาม แนะนำสินค้า ตอบคำถาม สาธิต และปิดการขายให้ได้ มีอาวุธสำคัญที่ช่วยปิดการขายคือโปรโมชั่นที่ส่งมาจากฝ่ายการตลาด

4. Key Account Manager

คือนักขายที่ไม่ใช่นักบัญชีแต่อย่างใด (Accounts) และไม่ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย (ฮา) แต่ตำแหน่งนี้คือนักขายที่ต้องโฟกัสลูกค้าโคตรสำคัญรายใหญ่ที่เป็นคู่ค้าหรือซื้อซ้ำกันเวลานานๆ (Key Account) ซึ่งต้องคอยบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าทุกระดับอย่างใกล้ชิด นักขายกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องหาลูกค้าใหม่แต่จะโฟกัสทุกสิ่งทุกอย่างกับลูกค้าขาประจำเป็นหลัก (อนาคตเป็นเสือนอนกินได้ถ้าลูกค้าซื้อเรื่อยๆ) แต่โอกาสโดนไล่ออกก็มีสูงถ้าทำลูกค้าหลุด

5. Business Development Representative (Executive or Manager)

คือนักขายที่ต้องเน้นหาลูกค้าใหม่ เพื่อหาโอกาสสร้างลูกค้าใหม่ให้กลายเป็น Key Account ในภายหลัง เป็นตำแหน่งที่เน้นเกมรุกมากกว่าดูแลลูกค้าเก่า พูดง่ายๆ คือองค์กรไหนจ้างตำแหน่งนี้ก็หมายความว่าต้องการใช้นักขายกลุ่มนี้ในการรุกหาลูกค้าใหม่ให้มากขึ้น

6. Technical Sales (Presales)

คือนักขายที่ต้องมีความรู้ด้านเทคนิคชั้นสูงของสินค้าและโซลูชั่น ต้องมีความเข้าใจลูกค้าในเชิงเทคโนโลยีที่เก่งจนลูกค้ายอมรับ เน้นการสร้างสไลด์นำเสนอที่ออกแบบให้ตอบโจทย์ลูกค้าตามปัญหาที่ได้รับ หลักๆ มักอยู่ในวงการไอที วิศวกรรม การแพทย์ ฯลฯ

7. Account Executive

คือนักขายตำแหน่งเล็กกว่า Key Account Manager หลักๆ คือถูกส่งให้ไปดูแลหรือสร้างโอกาสในการขายให้กับฐานลูกค้าที่ไม่ได้เป็นตัวหลักเพื่อปั้นให้กลายเป็น Key Account ในภายหลัง

8. Channel Sales

คือนักขายที่เน้นดูแลลูกค้าประเภท “ช่องทางการขาย” หรือตัวแทนจำหน่าย หมายความว่ากลุ่มนี้ไม่ต้องไปขายลูกค้า “ปลายน้ำ” โดยตรง แต่เน้นขายกับพาร์ทเนอร์ เช่น ดีลเลอร์ ตัวแทนจำหน่าย ให้รับสินค้าและบริการแทนคุณเพื่อเอาไปขายต่อให้กับลูกค้าปลายน้ำหรือคนใช้จริงที่สนิทกับคู่ค้าในภายหลัง นักขายกลุ่มนี้ต้องเข้าไปสนับสนุนการขายช่วยให้พาร์ทเนอร์ขายให้ปลายน้ำได้ด้วยเช่นกัน

9. Freelance Sales or Sideline or Sales Agent or Lobbyist

คือนักขายที่ไม่ต้องจ้างแต่รับงานแบบมือปืนทำดีล มักเป็นนักขายระดับสูงมากประสบการณ์ที่มีคอนเนคชั่นเยอะ จึงสามารถเป็นผู้จัดหาสินค้าและบริการเพื่อกินหัวคิวหรือค่าคอมมิชชั่นแบบค่านายหน้าสำหรับการช่วยทำดีล กลุ่มนี้มักอยู่ในวงการขายสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น รถสปอร์ตมือสอง บ้านและที่ดิน โปรเจคราชการ เป็นต้น

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts