ใครที่เกลียดการขาย กรุณาอ่านบทความนี้

บทความนี้มาจากคำถามหลังไมค์ ใจความว่า “พึ่งได้เริ่มต้นงานขาย รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ก็ไม่ได้มีประสบการณ์และคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถนัด” จนถึงความรู้สึกที่ “เข้าขั้นเกลียด” ซึ่งผมเข้าใจดีครับว่าคงไม่มีใครเกิดมาแล้ว “รักงานขาย” มาตั้งแต่เกิด ผมเชื่อว่าบทความนี้จะเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเกลียดการขายจนคุณปิดโอกาสแห่งชีวิตที่จะประสบความสำเร็จไปตลอดกาล

0. ถามตัวเองก่อนว่าทำไมเกลียดงานขาย

คำตอบที่ได้คงมีหลายสาเหตุ เช่น ไม่ชอบตื๊อคน ไม่ชอบคุย เกลียดการฮาร์ดเซลล์หรือโน้มน้าวใจคน เป็นต้น หรือไม่ก็เคยมีประสบการณ์เลวร้ายเวลาเจอนักขายมาก่อน โดนหลอก โดนกดดันให้ซื้อ ฯลฯ จึงทำให้เกลียดงานขายไปโดยปริยาย

1. ทุกคนเกิดมาเพื่อขายตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว

จริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้ตัวก็เท่านั้น ลองคิดดูว่าสมัยเด็กเท่าที่คุณจำความได้ คุณเองมักจะ “ขายตัวเองให้คนอื่นเชื่อถือหรือรัก” โดยไม่รู้ตัว เช่น ทำตัวดี จริงใจ ถึงไหนถึงกัน กับเพื่อนในห้อง หรือให้คำมั่นสัญญากับพ่อแม่ว่าจะตั้งใจเรียนแล้วลงมือทำได้จริงจนได้รับความเชื่อใจ แม้กระทั่งตอนสมัครงานก็ต้อง “ขายความสามารถ” ให้นายจ้างเชื่อมั่น เป็นต้น สรุปก็คือทุกคนมีทักษะในการขายตัวเองจนทำให้อยู่ร่วมกับสังคมได้กันอยู่แล้ว

2. หมดยุคแล้วกับการขายแบบตื๊อ กดดัน และฮาร์ดเซลล์

จริงอยู่ที่การขายแบบใช้ลูกตื๊อ ฮาร์ดเซลล์ ยังเวิร์กสำหรับบางธุรกิจ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่คุณเกลียดการขายก็คือวิธีการขายแบบนี้นี่แหละครับ ดังนั้นคุณจะแคร์ไปทำไมในเมื่อการขายในยุคนี้เน้นเรื่องความน่าเชื่อถือ ความเชี่ยวชาญขั้นสูง และทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์เป็นหลัก

เรียกว่าขายแบบไม่ขายเลยก็ว่าได้ ผมแนะนำให้คุณทำอาชีพการขายที่เกี่ยวกับ “ความเชี่ยวชาญ” เป็นหลัก เช่น ช่างซ่อม นักกฎหมาย ที่ปรึกษาด้านการขาย นักออกแบบ ฯลฯ ซึ่งอาชีพเหล่านี้ต้องขายและทำธุรกิจทั้งนั้น ต่างกันคือแทบไม่ต้องขายเลยเพราะอาชีพเชี่ยวชาญเหล่านี้เน้นการแก้ปัญหาให้ลูกค้าเป็นหลัก ยังไงล่ะครับ

3. การขายคือการมอบสิ่งดีๆ และช่วยเหลือลูกค้ามากกว่า

เพียงแค่ลองคิดตามจากที่ฝังหัวว่าการขายเป็นเรื่องของความโลภ หวังจะเอาเงินลูกค้าอย่างเดียว (เพราะคุณอาจจะโดนหลอกมาก่อน) มาเป็นการมอบสิ่งดีๆ ที่คุณเชื่อมั่นว่าจะทำให้ชีวิตหรือธุรกิจลูกค้าดีขึ้นจากสินค้า ความสามารถ และบริการที่มี หรือช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับลูกค้าตรงๆ จนทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น คุณจะเข้าใจเลยว่าการขายมันคืองานที่เน้นให้คุณค่าและส่งต่อผู้คนมากกว่าความโลภ หลอกลวง หรือหวังแต่เงินชาวบ้าน ถูกมั้ยล่ะครับ

4. ไม่มีใครไม่เคยโดนปฎิเสธ

นี่ก็เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนไม่ชอบงานขายเพราะต้องโดนปฎิเสธจนหน้าชา บางคนรู้สึกว่ามันต่ำต้อย ไม่มีเกียรติ ซึ่งคุณคิดไปเองทั้งนั้นครับ บุคคลระดับโลก นายกรัฐมนตรี ดารา เซเลป แม้แต่คนที่รวยและทรงอำนาจที่สุดในโลกก็ยังเคยโดนปฎิเสธกันทั้งนั้น คุณจึงมั่นใจได้เลยว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามากและไม่มีอะไรต้องกลัวเลยนี่หว่าในเมื่อทำอะไรนอกจากขายของมันก็โดนปฎิเสธกันทั้งนั้นแหละ

5. ยกระดับจุดแข็งในด้านอื่นนอกจากการพูด

การเป็นคนที่พูดไม่เก่งหรือเข้าสังคมไม่เป็นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณไม่ชอบการขาย เพราะคุณคิดว่างานนี้มันต้องโน้มน้าวคน คุยเก่ง เฟรนลี่ ซึ่งในหลายๆ ธุรกิจก็จำเป็นต้องมีความสามารถด้านการพูดและฟัง แต่ในเมื่อคุณเปลี่ยนสันดานตัวเองไม่ได้ ชอบเก็บตัว เงียบขรึม จงมองหาจุดแข็งในด้านอื่นที่เสริมกับงานขายที่ไม่ต้องใช้ปากมากนัก

นั่นก็คือการขายฝีมือ ขายความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหา เช่น การขายสายงานการเงิน บัญชี งานซ่อมแซม วิศวกรรม ฯลฯ ซึ่งลูกค้าคงไม่ชอบคนปากดีแต่ชอบคนที่เก่งจริงและพิสูจน์ผลลัพธ์ได้จริงถึงจะซื้อครับ ปากดีแค่ไหนแต่เนื้องานห่วยก็ไปไม่รอดสำหรับสายงานผู้เชี่ยวชาญ

6. หาตัวแทนหรือหาพาร์ทเนอร์ที่เก่งเรื่องขาย

ไม่จำเป็นว่าคุณต้องเอาแต่ออกไปขายของก็ได้ การทำธุรกิจหรือทำการขายมีอีกหลายรูปแบบที่คุณสามารถหาคู่ค้า พาร์ทเนอร์ ตัวแทน ที่เก่งการขายมากกว่าคุณมาช่วยเป็นตัวแทนจำหน่ายนั่นเอง หรือแม้กระทั่งการหาหุ้นส่วน เพื่อนร่วมงาน ที่มีความสามารถด้านการขายและสนุกกับงานขายมากกว่ามาช่วยงานคุณก็เป็นอีกไอเดียที่ยอดเยี่ยม

7. ลองเปลี่ยนอาชีพอื่นที่คุณถนัดจริงๆ

ผมไม่ได้บังคับให้คุณต้องทำงานขาย ถ้าหัวมันไม่ไป ใจมันไม่ต้องการจริงๆ การมองหาจุดแข็งและหางานที่เหมาะสมกับคุณจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเรื่องการบังคับโดยไม่เต็มใจหรือไม่สมัครใจก็จะทำให้คุณทำงานได้ไม่ดี

8. มองหาครูฝึก ผู้เชี่ยวชาญ หรือโค้ชด้านการขายมาพัฒนาตัวเอง

การเข้าร่วมสัมมนาด้านการขายกับกูรูที่เก่งจริง หรือทำงานร่วมกับท็อปเซลล์และคบค้าสมาคมกับเพื่อน นักธุรกิจ รุ่นใหญ่ ที่มีทักษะด้านการขายและสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับคุณได้ก็จะทำให้ทัศนคติและทักษะการขายของคุณพัฒนาได้แบบก้าวกระโดด

9. ประเมินตัวเองเสมอว่าเรายังไปในสายงานนี้ได้อีกแค่ไหน

การประเมินก็เปรียบได้กับการออกกำลังกายเอา 6 Packs ซึ่งถ้าคุณติดตามผลอย่างสม่ำเสมอและพบว่าผลลัพธ์นั้นดีขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น ทักษะดีขึ้น สิ่งนี้คงชี้ให้เห็นว่าคุณทำได้ดีและพัฒนาขึ้นมาก แต่ถ้าตัวเลขมันสะท้อนออกมาว่าไปไม่ถึงไหน ไม่มีการพัฒนา ทั้งๆ ที่พยายามทำทุกอย่างแล้ว งานด้านอื่นอาจเหมาะสมกับคุณมากกว่าครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts