วิธีฝึกการพูดคุยที่ยอดเยี่ยม (บทความที่ 800)

บทความนี้สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันสำหรับทุกคนนะครับ ทักษะการคุยถือว่าเป็นการสร้างความประทับใจแรกพบ (First Impression) สร้างความเคารพนับถือ ที่สำคัญคือทำให้คนอื่นชื่นชอบและยินดีที่จะช่วยเหลือคุณไม่เว้นแม้กระทั่งการขาย ทักษะการคุยที่ดีนี่แหละครับที่ทำให้คนคนนึงกลายเป็นผู้นำประเทศได้เลยด้วยซ้ำ

มาดูวิธีการคุยจากประสบการณ์ของนักขายขั้นเทพที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับการดีลงานกับลูกค้าหลายๆ คน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่น่าสงสัยมั้ยครับว่าทำไมบางทีลูกค้าถึงไว้วางใจจนตัดสินใจซื้อในที่สุด สิ่งที่คุณกำลังอ่านในขณะนี้ถือว่าเป็นทักษะชีวิตที่ยอดเยี่ยมเลยก็ว่าได้ 

1. สังเกตคู่สนทนาก่อน

เป็นสิ่งแรกที่ควรทำว่าคนที่คุณกำลังจะคุยด้วยมีลักษณะท่าทางอย่างไร และที่สำคัญคือ “กำลังทำอะไรอยู่” เช่น ถ้าพวกเขากำลังติดธุระหรือคุยโทรศัพท์อยู่ก็ไม่ควรเข้าไปแทรกการสนทนา พูดง่ายๆ ก็คือควรรู้จักกาละเทศะ และควรสังเกตสถานที่ด้วยว่ามีความเหมาะสมในการพูดคุยมากแค่ไหน อารมณ์ประมาณคุณกำลังเข้าไปทักสาวที่คุณชอบเพื่อขอเบอร์และเริ่มต้นการคุย แต่พวกเธอกำลังคุยกับเพื่อนสาวมากกว่า 2 คนขึ้นไป การที่คุณเข้าไปในจังหวะนี้อาจจะทำให้ดูเสร่อได้ (ฮา) เคล็ดลับเพิ่มเติมคือการสังเกต “เปลือก” ของคู่สนทนาด้วยว่าพวกเขาแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างไร เช่น นาฬิกา กระเป๋าถือ แว่นตา การแต่งตัว รถที่ขับ ฯลฯ เพื่อเอาเป็นมุกในการคุยได้ด้วย

2. เริ่มเป็นฝ่ายถามคำถามก่อนเสมอ

การเริ่มต้นบทสนทนาที่ดีควรเป็นฝ่ายถามมากกว่าฝ่ายพูดก่อน เชื่อไหมครับว่าคนส่วนใหญ่มักชอบพูดเรื่องของตัวเอง ดังนั้นคุณจึงเอาสิ่งนี้มาเป็นตัวตั้งเพื่อให้คู่สนทนาเป็นฝ่ายพูดมากกว่าคุณ เพื่อให้พวกเขามีความรู้สึกที่ดีกับคุณตั้งแต่แรก การถามคำถามจึงเป็นสิ่งที่คุณควรเปิดก่อนเพื่อให้พวกเขาพูดก่อนคุณยังไงล่ะครับ คุณควรเริ่มต้นคำถามง่ายๆ (แต่ไม่โง่ๆ) และไม่ละลาบละล้วงจนเกินไป เช่น คุณถามเรื่องรถที่พวกเขาขับ นาฬิกาที่พวกเขาใส่ หรือธุรกิจที่พวกเขาทำ เป็นต้น ถ้าคุณคิดอะไรไม่ออกก็ลองถามไปว่า “อยากรู้จักคุณมากกว่านี้ ตอนนี้คุณทำอะไรอยู่ครับ” ก็ได้ รับรองว่าคุณจะได้ฟังเรื่องคร่าวๆ ของพวกเขา เช่น อาชีพ สถานะ ความรู้สึกนึกคิด เป็นต้น

3. ฟังให้มากกว่าพูด (และถามอย่างฉลาด)

ทักษะการฟังสำคัญกว่าการพูดด้วยซ้ำ วิธีการฟังเพื่อจับใจความเรียกว่า “Active Listening” นั่นคือการฟังอย่างจับใจความว่าพวกเขาสื่ออะไร จากนั้นก็ถามคำถามที่ต่อเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาพูด สกิลนี้เรียกว่า “Trance Word” การคิดตามพร้อมกับภาษากายโดยการพยักหน้าหงึกๆ และขยับตัวเข้าหาคู่สนทนาเล็กน้อย ตัวอย่าง Active Listening และ Trance Word เช่น

คุณ: “ผมอยากทราบว่าตอนนี้คุณทำธุรกิจอะไรอยู่ครับ”

คู่สนทนา: “ผมเป็นโปรกอล์ฟที่รับสอนบุคคลที่หัดเล่นและเด็กๆ ครับ” (เป็นโปรกอล์ฟและเป็นครูฝึก)

คุณ: Trance Word จากสิ่งที่คุณฟัง “โห เก่งมากๆ เลยนะครับ ถามเพิ่มเติมได้มั้ยครับว่าเป็นโปรกอล์ฟกว่าจะถึงจุดนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้างครับ และสอนเด็กๆ เหนื่อมั้ยครับ” (เป็นการถามปลายเปิดที่ต่อเนื่องจากสิ่งที่คุณฟังซึ่งคู่สนทนาคุณจะพูดรายละเอียดออกมาเยอะเลย)

4. อดทนฟังคู่สนทนาให้จบและพยายามอย่าพูดแทรกเป็นอันขาด

เป็นทักษะชั้นสูงเลยก็ว่าได้ ขนาดผมเองยังเผลอเลยในบางจังหวะ เวลาคู่สนทนากำลังคุยอยู่อย่าพึ่งรีบแทรกเป็นอันขาด ถ้าจะแทรกจริงๆ ควรพูดว่า “ขอแทรกหรือพูดเสริมนิดนึงได้มั้ยครับ” เพราะว่าสิ่งนี้คือปัจจัยหลักที่ทำให้คู่สนทนารู้สึกรำคาญและไม่อยากพูดต่อเลยก็ว่าได้ คุณถึงรู้สึกรำคาญเวลาเจอเพื่อนหรือเจอคนที่พูดแทรกเวลาคุณยังพูดไม่จบยังไงล่ะครับ คู่สนทนาเองก็เช่นเดียวกัน การปล่อยให้คู่สนทนาพูดมากขึ้นเท่าไหร่ย่อมทำให้คู่สนทนาไว้วางใจและรู้สึกสนุกเวลารู้สึกว่าคุณตั้งใจฟังมากขึ้นเท่านั้น เสน่ห์ของการคุยคือเรื่องนี้แหละครับ ไม่เชื่อก็ลองดูก๊วนเพื่อนคุณที่มักจะมีคนเงียบๆ ที่หมอนี่มักเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มและเป็นที่ชื่นชอบ

5. ทิ้งท้ายด้วยคำชมเชยและรอยยิ้ม

เวลาคุยกับใครและคิดว่าสมควรแก่การจบการสนทนาแล้ว อย่าลืมกล่าวชมเชยและขอบคุณที่ได้ร่วมสนทนากับพวกเขาด้วยประโยคง่ายๆ เช่น “ขอบคุณที่ได้คุยกันนะครับ” “คุยกับคุณสนุกมากครับ” เป็นต้น เชื่อมั้ยครับว่าในยุคนี้แทบไม่มีใครกล่าวขอบคุณซึ่งกันและกันเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นเสน่ห์ซึ่งคุณทำได้ง่ายมากและทำให้ความประทับใจเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ลืมเลยล่ะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น