คุณควรทำอย่างไร เมื่อต้องไล่พนักงานออกไป

เมื่อคุณได้ก้าวขึ้นมาเป็นอีกระดับหนึ่งของชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะได้เลื่อนขั้นเป็น “ผู้จัดการ” หรือเป็น “เจ้าของธุรกิจด้วยตนเอง คุณย่อมมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ในความดูแลของคุณ เรียกง่ายๆ ก็คือ “ลูกน้อง” นั่นแหละครับ

แน่นอนว่าลูกน้องแต่ละคนย่อมมีประสิทธิภาพการทำงานไม่เหมือนกัน บางคนก็เก่งมากจนไม่อยากปล่อยตัว ทำเงินให้คุณและบริษัทอย่างมหาศาล บางคนก็มีแต่ปัญหา ทำงานด้อยประสิทธิภาพ สอนงานไม่ได้ ทั้งๆ ที่คุณปฎิบัติกับลูกน้องแต่ละคนอย่างดีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการโค้ชชิ่ง การควบคุมกิจกรรมทางการขาย และมีความยุติธรรม

ซึ่งลูกน้องที่ด้อยประสิทธิภาพนั้น (เรียกง่ายๆ ว่าห่วย) นานๆ ไปย่อมมีผลต่อคุณเองและองค์กรอย่างมาก ไม่ว่าจะให้โอกาสกี่ครั้งก็ยังห่วยเหมือนเดิม เกินเยียวยาแล้ว คุณอาจจะต้องเลือกที่จะ ‘ไล่’ เขาออกไปเพื่อตัดเนื้อร้ายชิ้นนี้เสีย และรักษาบรรยากาศที่ดีในการทำงานหรือจ้างคนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาแทนตำแหน่งของพวกเขา

มาดูวิธีการว่าก่อนที่จะไล่พนักงานออกไปนั้น และยังรักษาความเป็นมืออาชีพ รวมถึงให้พวกเขา “ยอมรับ” ถึงสถานการณ์นั้นอย่างเต็มใจ คุณควรทำอย่างไร อ่านกันเลยครับ

1. รวบรวมข้อมูลการทำงานของพวกเขาที่มีตัวเลขวัดผลได้เพื่อบอกให้พวกเขาทราบถึงเหตุผลว่าทำไมคุณถึงต้องปลดเขาออก

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะไล่พนักงานขายที่ห่วยออกไป การที่จะเดินไปชี้หน้าไล่ออกคงจะไม่ดีและดูไร้เหตุผลสุดๆ แน่ คุณจะต้องรวบรวมข้อมูลการทำงานของเขาก่อน โดยเฉพาะ ‘กิจกรรมทางการขายที่วัดผลได้’ เช่น

– ยอดขายต่อเดือน ถ้าตัวเลขเป็น 0 หรือต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ก็เก็บเอาไว้เป็นหลักฐานก่อน เพราะบางทีสินค้าอาจจะขายยาก มองแต่ตัวเลขอย่างเดียวอาจจะไม่เวิร์ก

– กิจกรรมการทำนัดต่อสัปดาห์ ถ้ามีน้อยมากเช่น วันละ 1 นัด หรือไม่มีเลย อย่างนี้ถือว่ากิจกรรมการขายที่สำคัญ โดยเฉพาะทำนัดกับลูกค้าใหม่นั้นแทบไม่มีเลย อย่างนี้ถือว่านั่งหายใจทิ้งไปวันๆ

– รายงานการขายเกี่ยวกับจำนวนครั้งของการติดตามงาน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะนักขายบางคนอาจโมเมเรื่องไปป์ไลน์ (ลีดลูกค้าที่น่าจะขายได้) ขึ้นมา โดยรายละเอียดข้างในนั้นแทบไม่มีเลย ไม่เคยตามงาน เคยแค่เข้าไปนำเสนอครั้งเดียวแล้วไม่ได้ทำอะไรต่อ อย่างนี้ถือว่าไม่ตามงาน ทำงานห่วย ขายของไม่เป็น

– ความผิดอย่างอื่น เช่น ขาด ลา มาสาย อย่างนี้ถือว่าวัดผลได้ครับ

ความผิดร้ายแรง เช่น โกง ทุจริต ทะเลาะวิวาท ลักขโมย ดังในโซเชี่ยวแบบเลวๆ ฯลฯ อย่างนี้ต้องไล่ออกครับ

2. นัดคุยเพื่อบอกถึงเหตุผลที่ต้องปลดพวกเขาออกต่อหน้าเท่านั้น

การไล่คนออกแบบมืออาชีพ คุณจะต้องทำนัดต่อหน้าเท่านั้น ห้ามส่งข้อความหรือโทรศัพท์ไปบอกเด็ดขาด เพราะการทำแบบนั้นเท่ากับไม่ให้เกียรติการทำงาน คุณควรโทรไปหาพวกเขาเพื่อทำนัดคุยเรื่องการทำงานแบบตัวต่อตัว และจงรักษาความลับอย่าให้คนอื่นภายในทีมรับรู้เพื่อรักษา ‘หน้า’ ของเขา ตราบใดที่เขายังเป็นทีมงานของคุณอยู่ จนกว่าการบอกเหตุผลว่าทำไมถึงต้องไล่ออกนั้นสิ้นสุด

เมื่อได้พบหน้ากันแล้ว จงเริ่มเป็นฝ่ายถามคำถามเพื่อให้พนักงานคนนั้นเล่าถึงการทำงานปัจจุบันก่อน ถามพวกเขาว่าจนถึงเวลานี้แล้วรู้สึกยังไงกับการทำงานบ้าง เพื่อเก็บข้อมูลและประเมินพวกเขา จากนั้นให้แจ้ง “ข่าวร้าย” ให้พวกเขาทราบอย่างสุภาพ ว่าด้วยเรื่องการปลดพนักงานคนนั้นออกไป จงอย่ากลัวการ “ดราม่า” และจงค่อยๆ เล่าเหตุผลที่ต้องทำการปลดพวกเขา ด้วยข้อมูลที่รวบรวมมา โดยเฉพาะข้อมูลประสิทธิภาพการทำงานที่สามารถวัดผลได้ พยายามอย่าเอาความรู้สึกส่วนตัวมาปะปน เช่น “ผมไม่ชอบขี้หน้าคุณเท่าไหร่” อะไรทำนองนี้ เพราะเดี๋ยวจะเหมือนว่าคุณนั้นลำเอียง ไม่เป็นธรรม (ถึงแม้ว่าคุณจะคิดแบบนั้นจริงๆ ก็ตาม ฮา)

3. จงหลีกเลี่ยงการเจรจาทุกกรณี

เมื่อได้บอกกับคนที่คุณจะไล่ออกแล้ว จงแสดงความเห็นใจบ้าง แต่ไม่ควรให้ยืดเยื้อ เพราะคุณอาจจะเจอช็อตดราม่าบีบน้ำตา ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจหรือแม้แต่ต้องกลับมาให้โอกาสพวกเขาใหม่ ในเมื่อคุณจะตัดเนื้อร้ายออกไปแล้ว จงตัดจบและหลีกเลี่ยงการเจรจาทุกกรณี บอกให้ชัดเจนว่าคุณและเบื้องบนได้ตัดสินใจแล้ว จะไม่มีการต่อรองใดๆ อีก จากนั้นให้เดินออกจากห้องและแจ้งฝ่ายบุคคลให้ออกหนังสือชดเชยรายได้ในขั้นตอนถัดไป

4. เริ่มกระบวนการสรรหาพนักงานใหม่ทันที

เมื่อการไล่พนักงานออกนั้นจบลงแล้ว จงเริ่มหาพนักงานใหม่มาแทนที่เขาโดยทันที เพื่อจะได้ทำให้งานนั้นไม่มีสะดุด หรือกรณีที่ยังไม่สามารถหาคนมาแทนได้ในช่วงนี้ คุณอาจจะเป็นคนลงมือทำให้ก่อน หรือกระจายงานให้พนักงานคนอื่นภายในทีม ‘รับไม้’ ต่อจากคนเก่าก็ได้ จนกว่าจะได้คนใหม่เข้ามาแทน

ส่วนตัวผมเองก็มีประสบการณ์ไล่พนักงานออกน้อยมาก จึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งสำหรับการ ‘บอกลา’ ชีวิตคนที่ทำงานร่วมกันมา เปรียบได้กับการเลิกกับแฟนก็ย่อมได้ ย่อมมีความรู้สึกไม่สบายใจ ดังนั้นผมจึงเขียนวิธีการไล่คนออกแบบมืออาชีพให้ทุกคนได้อ่านกันครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น