App War: แอปชนแอป หนังดีๆ ที่คุณต้องดู พร้อมมุมมองเชิงธุรกิจ

ตามที่ท่านผู้อ่านขาประจำของเว็ปไซท์เซลล์ร้อยล้าน “ทราบกันดี” ว่าตัวตนของเซลล์ร้อยล้านนั้นเป็นนักขาย Gen-Y ที่ดำรงตำแหน่ง “Managing Director” ของบริษัทสตาร์ทอัพอันดับหนึ่งแบบองค์กร (B2B) ซึ่งมีน้อยรายนักที่จะได้เงินระดมทุนจากนักลงทุนชั้นเลิศโดยมีมูลค่ารวมถึง “7 ล้านเหรียญสหรัฐ”(279 ล้านบาท)

เรื่องที่เกริ่นมานี้มีความเชื่อมโยงกับหัวข้อที่ผมได้กล่าวถึง “ภาพยนตร์ชั้นดี” ที่นักขายหรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ทุกคนต้องดู โดยเฉพาะคนที่มีความสนใจเกี่ยวกับธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ที่ถือว่าเป็นเทรนด์มาแรงในประเทศไทยและระดับนานาชาติทั่วโลก

ภาพยนตร์หรือหนังเรื่องนี้มีอะไรดี จึงทำให้ผมถึงขั้นต้องตั้งหัวข้อและเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดูมาโดยเฉพาะความสนุกสนานแบบมีสาระจากหนังที่ถูกสร้างมาจากสังคมของธุรกิจสตาร์ทอัพจนทำให้ผมถึงกับ “อิน” และยังคิดถึงจุดเริ่มต้นที่เคยทำธุรกิจสตาร์ทอัพมาอย่างกระท่อนกระแท่น

จนก้าวไปยังจุดสูงสุดของคนรุ่นใหม่ที่สามารถทำธุรกิจกับ CEO ชื่อดังอย่างเท่าเทียมกัน และเข้าสู่ความฝันขั้นแรกสุดของการเป็น “ยูนิคอร์น” (ว่าแต่มันคืออะไรล่ะ ม้าบินได้งั้นเหรอ ฮา)

จึงอยากจะขอแชร์และเชิญชวนทุกคนลองไปดูหนังเรื่องนี้นะครับ ผมบอกได้เลยว่าเป็นรองแค่หนังเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ที่มีนักแสดงเป็นเด็กรุ่นใหม่ และมีการ “หักเหลี่ยมเฉือนคม” อย่างมีสไตล์และรสชาติ ผมคิดว่าหลายๆ ท่านคงเคยดูมาแล้วแน่นอน ว่าแล้วก็มาดูสิ่งที่ผมได้รับและแนวคิดจากหนังเรื่องนี้กันเลยครับ

1. ธุรกิจสตาร์ทอัพคือความฝันของเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถทำได้จริง

อะไรคือความหมายของธุรกิจสตาร์ทอัพ ผมจะอธิบายให้ฟังแบบง่ายๆ เองครับ ธุรกิจนี้จะว่าไปก็ไม่ต่างกับธุรกิจที่ดำเนินการในรูปแบบบริษัท มีการจ้างงาน มีการขาย มีผลประกอบการที่เป็นกำไรและขาดทุน แต่สิ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงก็คือธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นสามารถนำเสนอต่อหน้านักลงทุน (Investor) โดยเฉพาะ “นางฟ้านักลงทุน” (Angel Investor) ที่พวกเขาจะใช้เงินทุนส่วนตัวหรือกองทุนแบบเอกชนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการขอทุนในรูปแบบ “การกู้ยืม” จากธนาคาร ซึงมีความยากกว่าเพราะความเสี่ยงในตัวธุรกิจ แถมยังมีเรื่อง “ดอกเบี้ยและการค้ำประกัน” จากการกู้ยืมเงิน เรียกได้ว่าถ้าคุณกู้แบงค์มาลงทุนเมื่อไหร่ คุณก็ยิ่งเสี่ยงต่อการ “ล้มละลาย” 

แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถทำให้ผู้ประกอบการ ซึ่งมีอายุไม่มาก มีประสบการณ์ค่อนข้างน้อย แต่คิดค้นและสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถ “เปลี่ยน” พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าและสะดวกสบายขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ ได้รับเงินลงทุนจากนางฟ้านักลงทุน ซึ่งพวกเขากล้าที่จะมาเสี่ยงกับคุณเช่นกัน ในกรณีที่บริษัทขาดทุนจนเจ๊ง ทุกอย่างที่ทำมาก็จะเป็น 0 แต่ไม่ติดลบและโดนฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่นางฟ้านักลงทุนจะต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลังด้วย

หลังจากที่ได้รับเงินทุนจากนางฟ้าเรียบร้อยแล้ว คุณจะมีเงินจำนวนมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุนเองว่าจะมอบเงินให้คุณมากแค่ไหน แล้วแต่ความสามารถกับศักยภาพของธุรกิจที่คิดค้นขึ้นมา สิ่งที่แลกเปลี่ยนกลับไปก็คือ “สัดส่วนหุ้น” ที่ขึ้นอยู่กับการต่อรองของนักลงทุน เมื่อได้เงินลงทุนมาแล้ว คุณก็จะสามารถขยายธุรกิจได้แบบก้าวกระโดด จ้างงาน จ้างคนได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทำการตลาดได้หลากหลาย ผลก็คือศักยภาพทางธุรกิจที่เหนือกว่าธุรกิจแบบ SME หลายสิบหลายร้อยเท่า แถมยังมีนักลงทุนคอยเป็น “พี่เลี้ยง” เป็นกุนซือทางธุรกิจและให้คำปรึกษาในทุกแง่ทุกมุมเพื่อไม่ให้คุณว่ายน้ำแบบเสี่ยงๆ อยู่คนเดียว

2. App War กล่าวถึงธุรกิจสตาร์ทอัพแบบ B2C (Business-to-Consumer)

ธุรกิจสตาร์ทอัพภายในหนังได้กล่าวถึงแอพพลิเคชั่น (Application) ที่ใช้ในการหาเพื่อนที่มีความชอบเหมือนๆ กัน อยากทำกิจกรรมคล้ายๆ กัน โดยที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น นัดตีแบต นัดเล่นเกมเลเซอรกัน ฯลฯ ซึ่งฝั่งพระเอกและนางเอกคิดค้นแอพพลิเคชั่นที่เหมือนกันอย่างกับแกะ จนทำให้ต้องมีการแข่งขันในเรื่องของคุณภาพและบริการ เพื่อนำเสนอให้กับนางฟ้านักลงทุนที่จะเลือกลงทุนกับธุรกิจที่ถูกคัดสรรเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ทำให้หนังเรื่องนี้มีความสนุกในแง่ของการหักเหลี่ยมเฉือนคมแบบโรแมนติกคอมมาดี้อีกด้วยครับ

ธุรกิจที่ทั้งสองทีมสร้างนั้น เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพประเภท B2C (Business-to-Consumer) ที่ต้องเน้นการดาวน์โหลดจากบุคคลที่หลากหลาย แข่งขันกันในเรื่องของจำนวนผู้ใช้ที่ใครได้รับความนิยมมากที่สุดก็จะเป็นฝ่ายชนะและได้รับเงินลงทุน เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องเน้นยอดการดาวน์โหลด ทำให้ความสำคัญของ “การตลาด” เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพื่อให้คนทั่วไปรับรู้และดาวน์โหลดไปใช้ “การขาย” จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงมา ธุรกิจสตาร์ทอัพแบบ B2C มีความน่าสนใจในตัวของมันเองในแง่ของจำนวนผู้ใช้และความง่ายต่อการเข้าถึง ขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่ถูกสร้างและคิดค้นมาในตัวของผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ

3. การระดมทุน (Crowdfunding) คือศัพท์และเป้าหมายของธุรกิจสตาร์ทอัพ

ในหนังจะกล่าวถึงการขอทุนจากนักลงทุน ช่วงแรกของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพอาจมาจากเงินทุนส่วนตัว เช่น เงินพ่อแม่ เงินเก็บทั้งชีวิต เงินจากนักลงทุน ฯลฯ เริ่มจากคนจำนวนน้อย อาจมีแตผู้ก่อตั้ง (Founder) และเพื่อนร่วมทีมเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เมื่อธุรกิจเติบโตไปได้ระดับหนึ่ง คุณสามารถเข้าสู่กระบวนการคัดสรรเพื่อขอทุนจากนักลงทุน (Crowdfunding) โดยจะแบ่งเป็นระดับต่างๆ เริ่มตั้งแต่ Batch, Series A, B, C และจุดสูงสุดของการระดมทุนคือ “ยูนิคอร์น” (Unicorn) หรือม้ายูนิคอร์นที่เป็นนิยามของบริษัทสตาร์ทอัพที่มีการระดมทุนไล่ระดับไปเรื่อยๆ จนมูลค่าการลงทุนมีมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การได้รับทุนตามขั้นตอนและได้รับคำแนะนำ ลงมือทำงาน ทำธุรกิจอย่างถูกวิธี จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน เงินทุนที่ได้รับมาทำให้สามารถจ้างทีมงานมืออาชีพค่าตัวสูงๆ ได้แบบเร่งด่วน สร้างความเย้ายวนและความรู้สึกร่วมได้โดยการฟาดค่าเหนื่อยหรือ “แจกหุ้น” (ESOP) ให้กับพนักงาน ซึ่งทำให้พวกเขา “รวย” เมื่อบริษัทได้รับการระดมทุนเพิ่ม พวกเขามีสิทธิ์ที่จะขายหุ้นหรือกอดหุ้นเอาไว้เพื่ออดเปรี้ยวไว้กินหวานก็ได้ ซึ่งอัตราเร่ง โอกาส กับเงินทุนมหาศาลจะทำให้บริษัทมีความน่าสนใจมากกว่าบริษัททั่วๆ ไป แม้แต่บริษัทมหาชนหลายๆ แห่งก็ไม่สามารถ “ให้ความฝัน” แก่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเอาชนะประสบการณ์และเวลาได้

บทความในวันนี้มีรายละเอียดและความลึกมากทีเดียว ผมจึงขอเขียนอีกครั้งในวันพรุ่งนี้นะครับ รับรองว่าโดนใจคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการแบบองค์กร ซึ่งสามารถแปลงร่างใหุ้ณเป็นม้ายูนิคอร์นได้แน่นอน

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น