วิธีสร้าง Unique Selling Point หรือจุดขาย

ขึ้นชื่อว่าธุรกิจ คงไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าอย่างแน่นอน ไม่ว่าคนคนนั้นจะผลิตสินค้าได้เจ๋งแค่ไหน หรือเป็นหนึ่งในใต้หล้า ทำได้คนเดียวบนโลก เชื่อเถอะครับว่าผู้นั้นคงอยู่ในสถานะยืนหนึ่งได้ไม่นาน เพราะอีกซักพักก็จะมีคำว่า “คู่แข่ง” ปรากฎตัวเข้ามาสู้ในสงครามธุรกิจ

คุณย่อมค้นพบว่าสินค้าหรือบริการเจ๋งๆ ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ซึ่งก็มีมือถือเกาหลี จีน เข้ามาแย่งตลาดได้ หรือจะเป็นโคตรรถไฟฟ้าอย่างเทสล่า เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานโตโยต้าหรือเบนซ์ก็ทำได้เหมือนกัน แล้วอย่างนี้จะมีอะไรอยู่ค้ำฟ้าตลอดไปอีกล่ะครับ จะทำอะไรก็มีคู่แข่งที่ไม่ปล่อยให้คุณรวยคนเดียวโผล่ขึ้นมา

ดังนั้นในสงครามการค้า การสร้างจุดขาย (Unique Selling Point) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันหมายถึงจุดที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อคุณเลยก็ว่าได้ ต่อให้สินค้าของคุณเจ๋งแค่ไหนแต่สร้างจุดขายไม่ได้ ผมบอกเลยว่าเรื่องนี้เรื่องเดียวนั้นทำให้หลายๆ ธุรกิจถึงขั้นเจ๊งไปเลยครับ

1. คุณสมบัติที่แตกต่างจากคู่แข่ง (และเจ๋งจริง)

ถ้าสินค้าเหมือนๆ กันในตลาด จงสร้างคุณสมบัติพิเศษหรือโดดเด่นขึ้นมาให้ได้ เช่น เครื่องจักรสเปคพอๆ กัน แต่คุณเพิ่มคุณสมบัติเรื่องพละกำลังหรือความเร็วที่เหนือกว่า (ยิ่งมากยิ่งดี) สินค้าที่เป็นของกินซึ่งรสชาติพอๆ กัน คุณเพิ่มคุณสมบัติเรื่องแพคเกจจิ้งที่ดูดีกว่า เป็นต้น

2. มีบริการบางอย่างที่ “ให้” ได้เหนือกว่าคู่แข่ง

ถ้าคุณไม่ได้มีเงินทุนที่จะสร้างความแตกต่าง โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นแค่ผู้ขาย ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้คิดค้นนวัตกรรมใดๆ อย่าพึ่งเสียใจไปครับ คุณสามารถเพิ่มคุณสมบัติที่เรียกได้ว่า “การบริการ” ให้มีความเฉียบขาด โดดเด่นกว่าคู่แข่ง ผมอยากให้คุณใช้กรณีศึกษาจากบริษัท JIB Computer ที่มุ่งเน้นเรื่องงานบริการ สินค้าคุณภาพ ส่งของไว จนถึงวันนี้ก็สยายปีกทำธุรกิจ E-Commerce และส่งมอบของได้ตามเวลาที่กำหนด นี่คือการใช้เรื่องบริการมาเป็นจุดขายของธุรกิจคุณ

3. ออกแบบโซลูชั่นให้ลูกค้าแบบ Tailor-Made

งาน Tailor-Made หรืองานที่ทำให้กับลูกค้าเฉพาะบุคคล ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดขายที่เรียกได้ว่าเป็น “ช่างฝีมือ” ของลูกค้าและไม่มีใครลอกเลียนแบบได้เลยล่ะครับ คุณคิดว่าลูกค้าจะเปลี่ยนช่างตัดผม ช่างตัดสูท หรือร้านอาหารที่ตัวเองชอบกินเหรอครับ ดังนั้นถ้าคุณขายสินค้าและบริการที่เป็นรูปแบบโซลูชั่นตอบโจทย์ให้กับลูกค้า เช่น การรับเหมาติดตั้งระบบ ไอที งานออกแบบ ฯลฯ คุณจะมีความแตกต่างกับคู่แข่งก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจลูกค้าและความสามารถของคุณล้วนๆ เลย

4. ใช้ตัวเองเป็นจุดขาย

ก็นั่นแหละครับท่านผู้ชม ยิ่งยุคนี้ชัดเจนมากกับธุรกิจที่ทำการตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์ และใช้เรื่อง Personal Marketing หรือพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือปั้นตัวเองให้ดัง มีจุดขาย สร้างตัวตนให้เป็นคนมีชื่อเสียง เช่น บังฮาซัน พิมรี่พาย ฯลฯ ซึ่งพวกเขาประสบความสำเร็จในการขายสินค้าที่เอาตรงๆ นะครับว่าหลายๆ อย่างซื้อเพราะคนขายด้วยซ้ำ ส่วนธุรกิจ B2B ก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างตัวตนให้มีความน่าเชื่อถือ ทำงานฉับไว เป็นมืออาชีพ อาจจะมีจุดเด่นที่มาจากความสามารถเป็นหลักนั่นเองครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts