วิธีกำจัด Burnout Syndrome

คุณเคยมีความรู้สึก “หมดไฟ” โดยเฉพาะงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันกันบ้างไหมครับ ผมเชื่อว่าแทบทุกคนที่ทำงานเป็นพนักงานประจำคงเคยเจอสภาวะแบบนี้ไม่ว่าจะพึ่งจบใหม่หรือทำงานมานานก็สามารถมีอาการแบบนี้ได้ทั้งนั้น

ข้อบ่งชี้ของคนที่กำลัง Burnout คือไล่ตั้งแต่

– เกลียดวันจันทร์ (ฮา)
– ขี้เกียจทำงาน ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนโคตรขยันและสู้งาน เช่น ขี้เกียจโทรหาลูกค้า
– รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองไม่ได้เรื่องเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะเวลาไปส่องเฟซบุ้คชาวบ้าน
– เริ่มติดซีรีย์หรือรายการในยูทูปอย่างหนักจนกระทบกับเวลางาน
– เบื่องานที่รู้สึกซ้ำซากและจำเจ ไม่ท้าทาย
– ถูกมอบหมายงานที่มีความกดดัน มีเส้นตาย งานหนัก ทำงานหามรุ่งหามค่ำ
– เจ้านายห่วย ใช้คุณทำงานเยี่ยงทาส
– รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่เหมาะสมกับสไตล์ของตนเอง เช่น อยู่บริษัทเก่าเป็นพระเอก เพื่อนเยอะ เจ้านายดี พอมาอยู่ที่ใหม่กลับปรับตัวยาก
– นอนหลับดึกและขี้เกียจตื่นตอนเช้า ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนตอกบัตรแต่เช้าหรือฝ่ารถติดก็ไม่หวั่น
– มีปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาทางบ้าน ผัวมีชู้ แม่ป่วย พ่อเสียชีวิต ส่งน้องเรียน ฯลฯ

ถ้าคุณมีอาการตามที่กล่าวมา คุณกำลังตกอยู่ในสภาวะ Burnout Syndrome อย่างแน่นอน ซึ่งผลกระทบเชิงลบจะไล่ตั้งแต่มีผลงานที่ตกต่ำลง เริ่มส่งงานช้า โดนเจ้านายเรียกเข้าห้องเย็น โดนประเมินผลงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และร้ายแรงสุดๆ ก็คือถูกปลดออกจากงานเลยด้วยซ้ำ

และในสภาวะโควิดแบบนี้ ผมเชื่อว่าเหตุการณ์นี้ยิ่งทวีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อพวกเราได้ไม่มากก็น้อย ผมจึงมีวิธีรักษาสภาวะ Burnout Syndrome ซึ่งต้องบอกเลยว่าเวิร์คมากๆ เพราะผมเองก็ผ่านมันมาแล้วเช่นกันครับ

1. ยอมรับอาการนี้และระบายความรู้สึกให้กับคนที่ไว้ใจได้

ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีสำหรับการยอมรับตัวเองว่าคุณกำลังมีอาการแบบนี้ เพราะถ้ามัวแต่ปฎิเสธตัวเองว่าไม่มีอะไร แค่เบื่อชั่วคราว อาการของคุณก็จะยิ่งแย่มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายกว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว ดึงตัวเองขึ้นมายากมาก วิธีคือการเล่าให้คนรอบข้างที่ไว้ใจได้ เช่น แฟน เพื่อนสนิท ผู้ใหญ่ที่ทำงานเก่งๆ ฯลฯ เพื่อให้พวกเขาเป็นกำลังใจให้คุณหรือหาทางช่วยเหลือ และที่สำคัญคือการได้ระบายจะทำให้คุณเริ่มมีความคิดที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป

2. ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างชาญฉลาด

เมื่อเข้าใจตัวเองแล้วว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ก็ถึงเวลาลองเขียนเป้าหมายส่วนตัวว่าคุณจะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร แนะนำให้ลองแก้ปัญหาที่ง่ายไปหายากก่อน เช่น คุณเครียดจากการทำงานมาก จึงแก้ปัญหาด้วยการหากิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานและสนุกทำ หรือถ้าไม่ค่อยมีกำลังใจในการทำงานก็ลองหาหนังดีๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจขึ้นมาดู เป็นต้น นอกจากนี้จำเป็นต้องรับคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวที่เก่งเรื่องงานและการแก้ปัญหา พร้อมกับติดตามผลของการแก้ปัญหาอย่างสม่ำเสมอด้วย

3. จงลุกไปออกกำลังกายเดี๋ยวนี้

เพราะการออกกำลังกายจะทำให้คุณรู้สึกดีกับตัวเอง จงหาเวลาไปออกให้ได้ ยิ่งถ้าคุณมีข้ออ้างว่าไม่ค่อยมีเวลาก็ยิ่งดี เพราะผมจะแนะนำให้คุณลงมือทำแบบฮาร์ดคอร์ เช่น คุณเลิกงานประมาณสองทุ่ม ไปฟิตเนสก็คงไม่ทัน จงลองเอาชุดออกกำลังกายมาเปลี่ยนในห้องน้ำแล้ววิ่งลงจากที่จอดรถไปสวนสาธารณะหรือข้างถนนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีข้อแม้ครับ เพราะการวิ่งไปเปิดเพลงชิลๆ ฟังไป จะทำให้คุณอยู่กับตัวเองและไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับเรื่องงาน พอสุขภาพดีขึ้น หุ่นดีขึ้น คุณจะมีพลังงานเพิ่มขึ้น

4. พักการเล่นโซเชี่ยลและลองเปลี่ยนไปดูหนังใน Netflix แทน

เชื่อหรือไม่ว่าโซเชี่ยลอย่างเฟซบุ้คและ IG คือตัวบ่อนทำลายความคิดของคุณเมื่อตกอยู่ในสภาวะ Burnout Syndrome แบบสุดๆ เพราะคุณจะมองเห็นชีวิตเพื่อนที่ได้ดิบได้ดี มีแต่ความสุข รวย อวดชีวิตดี๊ดี แต่คุณกลับมีชีวิตที่ไม่ได้เรื่อง มันจะเป็นตัวบ่อนทำลายจิตใจคุณไปเรื่อยๆ ต่อให้คุณยินดีกับเพื่อนก็เถอะ จงเล่นให้น้อยที่สุดและเอาเวลาไปดูสิ่งที่สนุก มีสาระ หรือสิ่งที่ชอบจากยูทูป Netflix Blockdit อะไรพวกนี้จะดีกว่า บอกตรงๆ นะครับว่าเฟซบุ้คนอกจากบทความหรือเพจดีๆ แล้ว คุณจะเห็นแต่ชีวิตชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ก็อวดสิ่งที่ทำอยู่เท่านั้นเองครับ

5. หาโอกาสเปลี่ยนงานที่ท้าทายและเป็นบริษัทในฝันจริงๆ

เป็นหนทางสุดท้ายแต่ก็ตื่นเต้นมิใช่น้อย ไล่ตั้งแต่คุณอัพเดทเรซูเม่ใหม่หมด คุณก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่าตัวเองก็มีค่านี่หว่า จงมองหางานดีๆ หรืองานในฝัน ถึงแม้ว่ามันจะยากตามเว็บไซท์หางานชั้นนำ จากนั้นก็ระดมยิงเรซูเม่ไปเรื่อยๆ เพราะยังไงคุณก็ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว ความตื่นเต้นก็คือถูกเรียกสัมภาษณ์นี่แหละครับ งานใหม่อาจจะทำให้คุณเปลี่ยนน้ำและเป็นปลากระดี่ (เพราะได้น้ำ) ซึ่งถ้าที่ใหม่ดี มีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น และเป็นองค์กรที่คุณอยากทำงานจริงๆ คุณจะมีความสุขและหายจากอาการนี้ทันที

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts