วิธีเรียนรู้การขายนอกตำราสไตล์ Unorthodox มีอะไรบ้าง จากชีวิตประจำวัน (ใช้ได้ทันที 99%)

ถ้าท่านเป็นแฟนมวยหรือชอบเล่นเกมชกมวยก็คงคุ้นเคยกับคำว่า “Unorthodox” ซึ่งแปลตรงๆ ก็คือ “นอกตำรา” อารมณ์ประมาณต่อยมวยแบบไม่ตั้งการ์ดอะไรทำนองนั้น ซึ่งประสิทธิภาพก็คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเจ๋งจนสามารถ “คว้าแชมป์โลก” ได้เหมือนกัน การขายเองก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณอ่านแต่ตำราการขายจากกูรูเทพๆ บางครั้งอาจจะน่าเบื่อไปซักหน่อย มาลองหาอะไรที่มัน “นอกตำรา” แถมเรียนรู้ได้ในชีวิตประจำวันและสามารถเอาไปใช้ได้ทันที ไอเดียเด็ดๆ อยู่ที่นี่เลยครับผม

1. ลองสังเกต “นักโน้มน้าวที่ไม่ได้เป้นนักขาย” ใกล้ตัวคุณแล้วก็อปปี้ตาม

เพื่อนซี้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีทำอะไรแล้วคุณมักจะไปด้วย เพื่อนประเภทนี้บอกเลยว่าไม่ได้เป็นเซลล์หรือนักขายมาก่อนเลย แต่เรากลับตอบตกลงแทบทุกครั้งเวลามันชวนไปเที่ยว กินเหล้า หรือหาอะไรทำ ผมเองก็มีเพื่อนประเภทนี้เป็นลูกเถ้าแก่โรงสีข้าว ความน่าสนใจคือคนคนนี้เหตุผลอะไรถึงโน้มน้าวเราได้ หรือเขาสามารถสร้างความตื่นเต้นให้เรา ดึงดูด และมีความน่าเชื่อถือในเรื่องใจหรือคำพูดได้อย่างไร หรือรู้จักหาจุดเด่นอะไรมานำเสนอ ขอบอกเลยว่าเพื่อนประเภทนี้เรามักรู้สึกว่าหายาก นอกจากสนิทแล้วยังขึ้นชื่อเรื่อง “ความถึงไหนถึงกัน” “ใจใหญ่” ซึ่งเป็นคุณสมบัตินักขายนอกตำราที่ดีเลยก็ว่าได้

อีกเรื่องนึงคือลองศึกษาพ่อค้าแม่ค้า ร้านข้าว ร้านกาแฟ หรือร้านโชว์ห่วยที่เราไปซื้อเป็นประจำ (ของผมเมื่อก่อนคือร้านสตาร์บั้คส์) พวกเขามีวิธีพูดคุย สร้างบรรยากาศ หรือแม้แต่จำได้ว่าคุณชื่ออะไร ชอบดื่มอะไร ชอบกินอะไร บางทีแค่เห็นหน้าก็รู้ใจคุณและทำให้กินได้เลย ทำให้คุณรู้สึกพิเศษและอยากกลับไปอีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นแก่นแท้ของการสร้างความสัมพันธ์แบบยกระดับกับลูกค้าได้ดี สิ่งนั้นก็คือพลังแห่งการสังเกตครับผม

2. ลงมือ “ทดลองขาย” กับสถานการณ์ต่างๆ รอบตัว

ฝึกการพูดคุยแบบเป็นกันเองกับคนแปลกหน้า: ลองทักทายคนแปลกหน้าจากร้านกาแฟที่คุณไปประจำ หรือระหว่างนั่งรถตู้กลับบ้านแล้วรถติดนานๆ หาเรื่องชวนคุย (แบบมีกาละเทศะ) โดยมีเป้าหมายแค่การสร้างบทสนทนาเล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะคุยกับคุณ (ไม่จำเป็นต้องขายอะไร) เช่น ถามเกี่ยวกับการเดินทาง ดินฟ้าอากาศ หรือสังเกตอะไรที่น่าสนใจแล้วทักพวกเขาอย่างเป็นกันเอง เชื่อเถอะว่าคุณจะได้วิชาพูดคุยกับคนแปลกหน้าและฝึกใช้ไหวพริบได้แบบรื่นหู

ฝึก “การเจรจาต่อรอง” กับพ่อค้าแม่ค้า: ลองต่อรองราคาเล็กๆ น้อยๆ กับแม่ค้าในตลาดด้วยความสุภาพและรอยยิ้ม หรือลองต่อรองกับเพื่อนว่าใครจะจ่ายค่าเหล้าวันนี้ ต่อรองกับเมียว่าจะขอไปกินเหล้าแล้ววันพรุ่งนี้จะพาไปเที่ยว หรือใครจะเป็นคนขับรถไปส่งหลังกินเหล้าเสร็จ ทักษะการเจรจาต่อรองไม่ได้มีแค่เรื่องเงินเพียงเท่านั้น แต่ยังฝึกต่อรองจากเรื่องผลประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วย

ฝึก “การฟัง” แบบเข้าถึงใจ Active Listening: เวลาเพื่อนมาปรึกษาปัญหา ไม่ว่าจะเป็น เงิน งาน ความรัก ลองฝึกฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสิน ไม่ขัดจังหวะ และพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของเขาให้ได้มากที่สุด จากนั้นค่อยสะท้อนกลับไปว่าคุณเข้าใจสิ่งที่เขารู้สึกอย่างไร เรื่องนี้เอาไปใช้กับลูกค้าได้ง่ายมาก

3. สังเกต “ปฏิกิริยา” ของผู้คน

ดูว่าอะไรที่ทำให้คน “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ”: เมื่อเห็นโฆษณาในทีวี หรือสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ลองคิดว่าอะไรคือจุดเด่นที่ดึงดูดคุณ อะไรคือสิ่งที่คุณมองหา และอะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าบางอย่าง ทั้งๆ ที่ตอนแรกสนใจ ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นเรื่องพนักงานขาย สินค้า และโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งทำให้คุณเรียนรู้อิทธิพลการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

สังเกตภาษากายของผู้คน: เวลาคุณคุยกับใคร ลองสังเกตภาษากายของพวกเขา เช่น การสบตา การกอดอก การพยักหน้า หรือการยิ้ม สิ่งเหล่านี้บ่งบอกเกี่ยวกับความรู้สึกหรือความคิดของพวกเขา การฝึกสังเกตคนบ่อยๆ จะทำให้คุณอ่านจิตใจลูกค้าได้เก่งขึ้น

4. อ่าน “คน” จากสิ่งที่อยู่รอบตัว

ดูภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี: โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ หนังเกี่ยวกับการขาย หรือการเจรจาต่อรองหนักๆ หักเหลี่ยมเฉือนคม (แนะนำ The Godfather, Wolf of Wall Street, James Bond) และลองวิเคราะห์กลยุทธ์การพูดคุยของตัวละครแต่ละตัว ว่าทำไมตัวละครหนึ่งถึงสามารถโน้มน้าวอีกฝ่ายได้ หรือใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ นานา ได้อย่างไร จากนั้นจงก็อปปี้ซะ

อ่านนิยาย ชีวประวัติบุคคลที่มีชื่อเสีนง: การอ่านเรื่องราวของบุคคลต่างๆ ช่วยให้คุณเข้าใจแรงจูงใจ ความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ในบริบทที่หลากหลาย สามารถเอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ดี

การเรียนรู้การขายนอกตำราจากชีวิตประจำวันคือการเปลี่ยนทุกวันให้เป็นห้องเรียนครับ ด้วยความใส่ใจในการสังเกต การฝึกฝนเล็กๆ น้อยๆ และการวิเคราะห์ คุณจะค้นพบเทคนิคและแนวคิดการขายที่ลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพกว่าที่ตำราไหนจะสอนได้ครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts