วิธีเรียนรู้จากความล้มเหลวเพื่อกลายเป็นสุดยอดนักขาย

 

ผมมักจะไม่เคยพูดถึง “ความล้มเหลว” ซักเท่าไหร่ เวลาเขียนบทความก็มักจะพูดถึงแต่วิธีการทำให้ตนเองนั้นเป็นนักขายหรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่ผมเองสมัยเป็นวัยรุ่นนั้น (เหรอ) ก็เคยเป็นผู้เสพติดความล้มเหลวมาก่อน เรียกได้ว่าเจอมาเยอะ เจ็บมาเยอะ กว่าจะมีทุกวันนี้ได้

 

จึงทำให้ผมรู้ว่าแท้จริงแล้วความล้มเหลวนี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผมกลายเป็นสุดยอดนักขายอย่างทุกวันนี้ เรียกได้ว่าหยิบจับหรือคุยธุรกิจอะไรก็เป็นเงินไปทองไปหมด (ไม่ได้โม้นะครับ ฮา) 

 

ผมจึงอยากถ่ายทอดบทความนี้เพื่อให้คุณลองเรียนรู้ความผิดพลาดที่ผ่านมาตลอดทั้งปี 2019 แล้วคุณจะก้าวหน้าขึ้นกลายเป็นสุดยอดนักขายแห่งปี 2020 ได้อย่างแน่นอนครับ

1. เอาแต่โทษคนอื่น

 

การโทษคนอื่นหรือสิ่งรอบตัวเวลาที่ขายไม่ได้ถือว่าเป็นเหตุผล “สิ้นคิด” ที่สุดเลยก็ว่าได้ เช่น โทษว่าขายไม่ดีเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าห่วย สินค้าไม่ได้เรื่อง ไม่มีงานบริการหลังการขายที่ดีพอ บริษัทไม่ดัง ฯลฯ เอาเป็นว่า “คนขี้แพ้” (Loser) มักจะอ้างแบบนี้โดยไม่วิเคราะห์เหตุและผลให้ดีก่อน เผลอๆ ไอ้ที่ขายไม่ได้นั้นเป็นเพราะ “ตัวเองห่วยเอง” มากกว่า ดังนั้นคุณจึงควรเลิกโทษตัวเองและหันมาดูว่าที่ขายไม่ได้นั้นเป็นเพราะคุณทำงานเต็มที่ก่อนแล้วหรือยัง จากนั้นให้มาดูตั้งแต่เรื่องลูกค้า สินค้า งานบริการ การทำงานให้มีความเป็นมืออาชีพ ลองวิเคราะห์ให้ละเอียดทีละข้อแล้วค่อยๆ แก้ไขขั้นตอนการขายให้ดีขึ้นครับ

 

2. แพ้คู่แข่งเพราะคำว่าใต้โต๊ะ

 

นักขายหลายคนเวลาถูกประกาศว่าแพ้งาน ส่วนใหญ่ก็ก้มหน้าก้มตาด้วยความผิดหวังและหาเหตุผลแปลกๆ ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ด้วยการบอกว่า “คู่แข่งโกงหรือเล่นใต้โต๊ะ” ซึ่งก็เป็นการโทษคนอื่นอีกตามเคย จริงๆ การไปกล่าวหาคู่แข่งแบบนั้นทั้งๆ ที่พวกเขาอาจชนะด้วยวิธีที่ใสสะอาดจะทำให้ภาพลักษณ์ของคุณดูแย่ คุณจึงควรวิเคราะห์จากความผิดพลาดนี้ว่าจริงๆ แล้วที่แพ้นั้นเกิดจากคุณไม่ได้เข้าพบลูกค้าเป็นคนแรกต่างหาก หรือว่าการทำงานที่ผ่านมาไม่เคยเข้าพบ “ผู้มีอำนาจตัดสินใจตัวจริง” เลยด้วยซ้ำ คุณจึงต้องกินน้ำใต้ศอกคู่แข่งอยู่เป็นประจำยังไงล่ะครับ จงแก้ไขเรื่องลูกค้าที่มีอำนาจตัดสินใจและหาคนซื้อตัวจริงให้เจอ

 

3. สินค้ามีราคาแพงกว่าคู่แข่ง

 

ผมก็ไม่รู้นะครับว่าทำไมนักขายที่ล้มเหลวมักอ้างอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นเพราะคู่แข่งถูกกว่า จงมองให้ออกว่าถ้าราคาสินค้าคุณแพงกว่าคู่แข่งจริงๆ แสดงว่าคุณภาพหรืองานบริการก็ควรจะต้องดีกว่า แต่ถ้าดีกว่าแล้วลูกค้าก็ยังไม่ซื้อ แสดงว่าคุณควรเข้าพบลูกค้าที่มีเงินมากกว่านี้ แก้ไขเรื่องนี้ได้ด้วยการมองหาลูกค้าที่มีเงินเอาไว้ก่อนและเน้นเรื่องคุณภาพกับงานบริการประกอบกับราคา คุณจะกลายเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ปิดการขายกับลูกค้าได้มากขึ้นแน่นอน

 

4. ลูกน้อง หัวหน้าหรือทีมงานไม่ได้เรื่อง

 

ลองมองดูให้ถี่ถ้วนว่าทีมงานของคุณทำงานไม่ได้เรื่องหรือมีส่วนทำให้การขายของคุณล้มเหลวจริงหรือไม่ ถ้าจริงอย่างที่พูดก็ควรแจ้งให้หัวหน้ารู้ หรือถ้าหัวหน้าไม่ได้เรื่องอีกก็ควรเตรียมเนื้อหาความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเพื่อรายงานต่อนายเหนือหัวที่แท้จริง (โดยเฉพาะระดับเจ้าของฯ) เพราะเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร คุณจึงมีสิทธิ์ได้เป็นผู้กุมอำนาจการต่อรองและจัดระเบียบการทำงานในทีมขึ้นใหม่ แต่เรื่องนี้ถ้าแก้ยากมากจริงๆ การลาออกไปทำงานที่อื่นก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ และจงควรมองการทำงานของตัวเองด้วยว่าเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานหรือทำนิสัยไม่ได้เรื่องจนคนอื่นเกลียดหรือเปล่า ถ้าคิดว่าใช่ก็ปรับปรุงนิสัยของตัวเองนะครับ รับรองว่าดีขึ้นแน่ๆ

 

5. ลูกค้าไม่ซื้อและปฎิเสธ

 

เป็นความล้มเหลวสุดท้ายที่คุณควรเรียนรู้จากปากลูกค้าให้มากที่สุด เวลาโดนปฎิเสธก็อย่ามัวแต่ทำหน้าเป็นหมาหงอยหรือชักสีหน้าไม่พอใจ จงเป็นฝ่ายถามพวกเขาว่าเหตุผลที่ลูกค้าไม่ตัดสินใจซื้อมีอะไรบ้าง เพื่อให้คุณได้ปรับปรุงข้อเสนอหรือคุณภาพงานบริการให้ดีขึ้น เชื่อผมมั้ยครับว่าเหตุผลที่ลูกค้าบอกทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา คุณสมบัติ งานบริการ ฯลฯ คือสิ่งที่คุณสามารถนำไปเรียนรู้และปรับปรุงข้อเสนอครั้งถัดไปได้ดีขึ้น เผลอๆ ลูกค้าสามารถเปลี่ยนใจมาซื้อคุณได้ถ้าคุณกล้าขอโอกาสแก้ตัวอีกครั้งด้วยซ้ำครับ

นี่คือวิธีเรียนรู้อดีตจากความล้มเหลวเพื่อความก้าวหน้าในการเป็นนักขายที่ยอดเยี่ยมครับ

 

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น