ผลกระทบเชิงลบของ ‘Social Selling’ ที่กำลังมาแรงในยุคนี้

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ถ้าตัวคุณเองเป็นคนโปรไฟล์ดีในระดับหนึ่งในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะเฟซบุ้ค คุณคงสังเกตได้ว่ามีคนที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อนได้ส่งคำขอเข้ามาเป็น “เพื่อน” (Add Friend) กับคุณมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะผมเองก็เคยเขียนถึงสิ่งที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ นั่นคือการไปเป็นเพื่อนกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งมีชื่อเสียงก็ยิ่งดี คุณจะได้ศึกษาไลฟ์สไตล์ของพวกเขาว่าวันๆ เขาโพสต์อะไร มีแนวคิดอะไร ใช้ชีวิตแบบไหน ฯลฯ เรียกสั้นๆ ว่าเป็นการ “เผือก” ในทางสร้างสรรค์ก็ได้ (ฮา)

ผมเคยใช้วิธีนี้ในการขายของกับลูกค้าระดับ CEO มาแล้ว ด้วยการไปเป็นเพื่อนกับเขาเป็นเวลานาน จนรู้ว่าถึงจังหวะที่ผมมีผลประโยชน์ให้เขาได้แน่ๆ จึงทักทายผ่าน Inbox และได้รับคำตอบที่ดีจนกลายเป็นลูกค้า ที่สำคัญคือผมชื่นชอบนักธุรกิจท่านนี้เป็นทุนเดิม ซึ่งเขามักจะเขียนเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับชีวิตและธุรกิจอยู่เสมอ

แต่การกระทำด้วยวิธีนั้น ไม่ใช่ว่าจะได้ผลเสมอไป (ถ้าทำอย่างผิดวิธี) ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ (รอบ 1 ปีที่ผ่านมา) ตัวผมเองได้รับการติดต่อขอเป็นเพื่อนโดยเป็นบุคคลที่มีรูปและโปรไฟล์การทำงานใกล้เคียงกัน ทุกคนมีชื่อของบริษัทอุปโภคบริโภค (FMCG:Fast-Moving Consumer Goods) ยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก (ใบ้ให้ว่าเป็นบริษัทจากประเทศเนเธอร์แลนด์) โดยมีตำแหน่งหน้าที่การงานว่า “Digital Marketing/Connector” ครับ

ผมเองในฐานะเซลล์ร้อยล้าน จึงสัมผัสได้ถึงวิธีการขายแบบ “Social Selling” ซึ่งใช้ช่องทางอย่างโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ้ค (Facebook) หรือ ลิ้งก์อิน (Linkedin) ในการติดต่อหาคอนเน็กชั่นเป็นหลัก ผมจึงมองเห็นผลกระทบเชิงลบที่ค่อนข้างชัดเจน จึงขอแชร์เรื่องนี้ให้ทุกคนทราบ โดยเฉพาะคนที่ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กในการขายสมัยใหม่ เพื่อให้คุณทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จมากขึ้นครับ

1. การรุกล้ำความเป็นส่วนตัวด้วยการขายอย่างออกนอกหน้า

สิ่งที่พบได้อยู่บ่อยครั้งคือหลังจากที่รับพวกเขาเป็นเพื่อนเรียบร้อยแล้ว พวกเขาจะเริ่มกระบวนการขาย (เข้าใจว่าน่าจะถูกสอนมาจากสำนักเดียวกัน) ด้วยการ “Inbox” เข้ามาผ่าน Messenger ของเฟซบุ้ค ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ส่วนใหญ่จะส่งข้อความและภาพประชาสัมพันธ์ธุรกิจของพวกเขา เนื้อความจะเป็นเนื้อหาเชิญชวนให้คุณลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาที่จะมีคีย์เวิร์ดว่า “ฟรีและไม่มีค่าใช้จ่าย” เน้นการพูดถึงการตลาดแบบดิจิทัลเป็นหลัก (Digital Marketing)

ประเด็นก็คือการที่ไม่รู้จักและขาดการแนะนำตัวตั้งแต่แรก อาจทำให้ถูกมองว่าเป้นการขายอย่างออกนอกหน้าแบบชัดเจน ผลเสียถือเกิดขึ้นคือความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้รับสารและอาจมีความรู้สึกว่า “รุกล้ำในพื้นที่ส่วนตัว” เพราะเฟซบุ้คไม่ได้ออกแบบมาสำหรับสังคมแห่งการค้าขายและแสวงหาความร่ำรวยเพียงอย่าเดียว ถ้าไม่รู้จักกันมาก่อน นักขายกลุ่มนี้จะถูกจัดอยู่ในฐานะ “คนแปลกหน้า” สถานเดียว ทำให้การขายไม่ประสบความสำเร็จและไม่ได้รับการตอบรับจากผู้รับสาร เลวร้ายที่สุดคือโดนอันเฟรนด์และบล๊อกกันไปเลยทีเดียว การแนะนำตัวแบบมืออาชีพและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีก่อนตั้งแต่แรกจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ผู้มุ่งหวังเปลี่ยนคุณจากคนแปลกหน้า เป็น “คนรู้จัก” นั่นเอง

2. รูปและการโพสต์ในโปรไฟล์แต่ละคนมีเนื้อหาในเรื่องการทำธุรกิจของตัวเองมากเกินไป 

ผมทราบดีว่าแต่ละคนมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจและประสบความสำเร็จไปด้วยกันกับ “ต้นสังกัด” โดยโปรไฟล์แต่ละคนจะมีการโพสต์เรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะ “ความมุ่งมั่นส่วนตัว” คำคมต่างๆ การประชาสัมพันธ์เรื่องงานสัมมนา การโพสต์รูปเกี่ยวกับธุรกิจที่ตัวเองทำ ดูเผินๆ อาจจะไม่ได้โพสต์เรื่องการทำธุรกิจอย่างชัดเจน แต่จะมีบางโพสต์ทีมี “แฮชแท็ก” (Hashtag) ซึ่งบ่งบอกเกี่ยวกับธุรกิจและสำนักที่ตัวเองทำ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ที่ออกมามีลักษณะเชิญชวนและมีความมุ่งหวังบางอย่างเพื่อแสดงออกว่าตัวเองกำลังโฟกัสอยู่กับธุรกิจ

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้คิดอะไรมากก็คือพวกเขาอาจจะสนใจว่าคุณทำอะไรอยู่และมีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้คุณสามารถชักชวนพวกเขามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับบุคคลที่รู้สึกเฉยๆ เพราะตัวเองทำธุรกิจหรือว่ามีชีวิตที่ดีและพอเพียงอยู่แล้ว พวกเขาอาจไม่ให้ความสนใจกับสิ่งที่คุณโพสต์เลย ยิ่งถ้าไม่รู้จักกันมาก่อน การที่คุณเริ่มติดต่อทักทายด้วยสคริปที่มีความเป็น “เกมรุก” มากเกินไป ผลก็คือพวกเขาจะจัดคุณอยู่ในประเภทคนแปลกหน้าและไม่โต้ตอบใดๆ กับคุณทันที เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือลบเพื่อนกันเลยทีเดียว

3. ธุรกิจเครือข่าย (MLM) ที่ได้ผลจะต้องเน้นการทำความรู้จักกันต่อหน้ามาก่อนเป็นหลัก

การทำตลาดในรูปแบบ Social Selling นับว่าเป็นสิ่งใหม่ที่บริษัทนี้ (บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ยักษ์ใหญ่) ได้นำมาใช้กับนักธุรกิจเครือข่ายในสังกัด เพื่อให้ขีดความสามารถในการทำความรู้จักกับบุคคลใหม่ๆ ที่ไม่รู้จักมาก่อน โดยเฉพาะบุคคลคนละสังคม บุคคลไฮโปรไฟล์ (High-Profile) ต่างๆ เพื่อชักชวนพวกเขาเข้ามาทำธุรกิจ แต่การใช้โซเชี่ยลมีเดียก็มี “จุดตาย” คือเรื่องของการเจอหน้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของการขาย ผลก็คือการชักชวนนั้นทำได้ยากมากเพราะขาดเรื่องความน่าเชื่อถือ ถึงแม้ว่าจะมีลีด (Lead) มากมายก็ตาม

ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และต้องการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จตามตำราที่ต้นสังกัดสอน นับว่าเป็นเรื่องดีนะครับ การใช้วิธีการขายสมัยใหม่โดยมีเครื่องมือด้าน Social Media อย่างเฟซบุ้ค ลิ้งก์อิน ก็นับว่าเป็นเรื่องดีเช่นกัน แต่การขายนั้นต้องอย่าลืมแก่นแท้ของการขาย โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือ และไม่มีใครชอบโดนขาย ถ้าปรับเรื่องเหล่านี้ได้ ผมเชื่อว่านักขายกลุ่มนั้นจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้แน่นอน

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น