วิธีเจรจากับเพื่อนร่วมงานเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

การปวดหัวกับงานก็ขึ้นชื่อว่าหนักแล้ว แต่การ “ปวดหัวกับคน” โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานนั้นถือว่าหนักกว่ามาก เพราะยังไงคุณก็ต้องเจอหน้าคนที่คุณไม่ชอบหรือเกิดความขัดแย้งก่อนหน้านี้นานแน่นอน เผลอๆ เจอหน้ากันทุกวันมากกว่าเมียของคุณด้วยซ้ำ (ฮา)

ดราม่าภายในองค์กร มักเกิดจากข้อผิดพลาดเรื่องการสื่อสาร หรือแม้แต่ความคิดและทัศนคติของแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนก็ถือว่า “ร้อยพ่อพันแม่” และมีความแตกต่างกันจากพื้นฐานโดยสิ้นเชิง เช่น เพศ การศึกษา อายุ ประสบการณ์ ฯลฯ

ปัญหาที่ไร้การแก้ไขจะลุกลามใหญ่โตไล่ตั้งแต่จากที่ไม่ชอบขี้หน้าก็กลายเป็นการนินทา จากนั้นก็เริ่มไม่ให้ความร่วมมือ แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น สร้างพรรคการเมืองหรือคนของตัวเองขึ้นมา สุดท้ายองค์กรก็ขาดความสามัคคีและไม่สามารถขับเคลื่อนให้องค์กรเดินหน้าไปถึงไหน องค์กรที่แก้ไขเรื่องความขัดแย้งไม่ได้มักมีผลเสียอันใหญ่หลวง

กลับมาที่ตัวคุณกันดีกว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” ยังคงเป็นคำพูดที่คลาสสิคเสมอ ปัญหานี้เกิดขึ้นกับทุกคนครับ คนที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้ก็เปรียบเสมือนคนที่ไม่ทำอะไรเลยนั่นเอง ผมจึงมีวิธีเจรจากับเพื่อนร่วมงานเมื่อคุณมีความขัดแย้งในเรื่องนี้เกิดขึ้นดังนี้ครับ

1. รวบรวมข้อมูลจนแน่ใจก่อนขอเจรจา

ความขัดแย้งที่แก้ไขไม่ได้คือความขัดแย้งลอยๆ ที่ปราศจากข้อมูล คุณจึงต้องแน่ใจว่ามีข้อมูลเพื่อขจัดข้อขัดแย้งหรือแก้ต่างเข้าใจผิด โดยเฉพาะข้อมูลที่มี “ลายลักษณ์อักษร” เช่น อีเมล์ แชทในไลน์ ข้อความ เอกสาร หรือแม้แต่บันทึกเสียง ฯลฯ เพื่อช่วยให้ความกระจ่างก่อนเข้าสู่การเจรจา

2. ใช้คนกลางเป็นตัวช่วย

คนกลางที่ดีที่สุดก็คือหัวหน้าของคุณและหัวหน้าของเขา ถ้าไม่แน่ใจว่าหัวหน้าจะมีความเป็นกลางหรือไม่ จงขอให้ฝ่ายบุคคลเข้าเป็นตัวกลางในการเจรจา และขอให้พวกเขาทำนัดเพื่อเคลียร์ข้อขัดแย้งร่วมกันต่อหน้า เพราะคนกลางจะช่วยประมวลผลข้อมูลเพื่อสรุปทางออกอย่างเป็นกลางมากที่สุด และทุกคนจะได้ยินยอมร่วมกัน

3. ถ้าผิดจริงให้ขอโทษ

ความขัดแย้งบางทีก็มาจากความเข้าใจผิดหรือข้อผิดพลาดของคุณเอง ไม่ควรหลอกตัวเองว่าไม่ผิด เพราะคนที่ทำผิดแต่ไม่รู้ว่าตัวเองผิดนี่คือสุดๆ ของความเป็นมนุษย์แล้วล่ะครับ จงเอ่ยปากขอโทษต่อหน้าทุกคนทันทีและสัญญาว่าจะไม่ก่อความผิดพลาดแบบนี้อีก คำขอโทษจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นแน่นอน

4. จงให้โอกาสคู่ขัดแย้งถ้าคุณเป็นฝ่ายถูก

บางทีคุณขอเจรจาเพราะเห็นว่าเพื่อนร่วมงานทำงานผิดพลาดจริง ไม่จำเป็นต้องไล่บี้พวกเขาให้จมดิน ไม่มีประโยชน์ที่จะทำให้พวกเขาเอ่ยปากขอโทษให้ได้ การให้โอกาสจึงเป็นสิ่งดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นและบ่งบอกถึงทักษะความเป็นผู้นำของคุณได้

5. ระมัดระวังการสื่อสารให้ดี

การสื่อสารคือสิ่งที่สร้างความเข้าใจผิดได้มากที่สุด จงหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ (ถึงแม้จะยากในการควบคุมก็ตามที) เลือกใช้คำพูดที่ไม่ทำร้ายจิตใจคู่สนทนา ใช้คำพูดที่อะลุ่มอะหล่วยหรืออ้อนๆ หน่อยก็มักจะได้รับความเห็นใจและสร้างความได้เปรียบในการเจรจา การใช้คำพูดที่แข็งเกินไปจะไม่ช่วยอะไรและสร้างความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก

6. พูดให้ชัดเจนว่าคุณต้องการอะไร และต่อรองจนได้ผลประโยชน์แบบวิน-วิน ร่วมกันให้ได้

การเจรจาจะต้องพูดให้ชัดว่าคุณต้องการอะไร หลักการเหมือนต่อรองราคากับลูกค้านั่นแหละครับ เช่น คุณต้องการสิ่งนี้ แต่คู่สนทนาให้ไม่ได้ จงหาทางออกว่าสิ่งไหนที่พวกเขาจะรับได้ และลองชั่งน้ำหนักดูว่าคุณสามารถรับสิ่งนั้นได้มากแค่ไหน แต่ถ้าคุณเสียผลประโยชน์มากจนเกินไป ไม่ผิดที่จะปฎิเสธพวกเขาอย่างนุ่มนวลครับ

นี่คือวิธีการเจรจาข้อขัดแย้งระหว่างคนทำงานด้วยกันจากผมครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น