วิธีการทำสไลด์นำเสนอทางธุรกิจแบบมืออาชีพ

สไลด์นำเสนอ (Presentation File) ในยุคนี้ มักจะเป็น “อาวุธคู่กาย” ของบรรดานักขายแบบองค์กร (B2B) เลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่าถ้าขาดสิ่งนี้ไป หรือลืมพกคอมพิวเตอร์ไปหาลูกค้าด้วยก็แทบจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ มือสั่น ปากสั่น สูญเสียความมั่นใจกันเลยทีเดียว

นักขายหลายๆ คนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสไลด์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการทำสไลด์ให้สวยงาม น่าสนใจ มีลูกเล่นแปลกๆ ใหม่ๆ มากนัก แล้วไม่เกี่ยวว่าเป็นเพราะไม่ใช่อยู่ในยุคของเด็กรุ่นใหม่อีกด้วย จะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็มีปัญหาเรื่องการทำสไลด์ไม่แพ้กันแน่นอน

บางคนบอกว่า อย่าว่าแต่ทำสไลด์แบบมีเทคนิคอนิเมชั่นสีฉูดฉาดเลย เอาแค่ทำยังไงให้เนื้อหาของสไลด์มีความสมบูรณ์ในด้านของเนื้อหาและความน่าสนใจก็ “คางเหลือง” แล้ว โดยเฉพาะนักขายหรือเจ้าของธุรกิจที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการทำสไลด์มาก่อน

ผมจึงขอแชร์วิธีการทำสไลด์ที่ง่ายและสร้างความน่าสนใจให้กับลูกค้าแบบมืออาชีพมาฝากกันครับ


1. สไลด์ 3-5 หน้าแรกควรแนะนำถึงสิ่งที่ธุรกิจของคุณทำเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

เป็นสไลด์ “เปิดหัว” เมื่อถามคำถามจากลูกค้าเรียบร้อยแล้ว เสียบคอมปุ๊บก็เริ่มเล่าได้เลยว่าคุณจะช่วยพวกเขาจากบริการและสินค้าสรุปโดยรวมจากสไลด์สามถึงห้าหน้านั้นได้อย่างไร (Who are we?) สิ่งที่ต้องมีและชัดเจนก็คือสไลด์ที่บอกว่าธุรกิจของคุณนั้นทำอะไร มีบริการหรือความเชี่ยวชาญในด้านไหน โดยอาจจะเสริมด้วยประวัติหรือผลงานของบริษัทแบบหล่อ แต่ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดทุกหน้าจนเกินไป

2. มีสไลด์ที่เตรียมไว้สำหรับปัญหาหรือสถานการณ์ในปัจจุบันที่ปราศจากสินค้าและบริการของคุณ

เป็นสไลด์ที่ทำให้การถามคำถามในตอนแรกนั้นง่ายขึ้น โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวกับธุรกิจหรือชีวิตของลูกค้า โดยข้อมูลในหน้านี้จะประกอบด้วยสถานการณ์ในปัจจบันที่มีแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือมาประกอบ เพื่อทำให้ลูกค้าตระหนักถึงปัจจุบันว่าพวกเขาควรเห็นความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงธุรกิจหรือชีวิตในขณะนี้ว่าต้องใช้สินค้าหรือบริการบางอย่างในการแก้ปัญหาให้กับพวกเขา ถ้าอ่านแล้วดูงงๆ ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังดังนี้ครับ

สินค้า: ซอฟท์แวร์ด้านการตลาดออนไลน์สำหรับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง

สถานการณ์จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้: ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคไม่ได้ดูทีวีหรืออ่านหนังสือพิมพ์เท่าไหร่แล้ว จากข้อมูลด้านการตลาดปัจจุบันบ่งชี้ว่าคนทั่วไปใช้มือถือมากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง และเสพสื่อจากในยูทูปหรือบทความในเฟซบุ้ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เป็นหลัก ทำให้การลงโฆษณาในทีวีหรือหนังสือพิมพ์นั้นไม่มีประสิทธิภาพเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป แถมยังวัดผลเหมือนช่องทางด้านโซเชี่ยลมีเดียไม่ได้ด้วย

สไลด์หน้านี้จะทำให้คุณนำเสนอในฐานะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด พร้อมกับทำให้ลูกค้าตระหนักและตอกย้ำหลังจากที่ถามคำถามไปแล้วว่าปกติพวกเขาลงโฆษณาในช่องทางไหนอยู่บ้าง ซึ่งถ้าคำตอบเป็นในส่วนของพวกทีวีหรือหนังสือพิมพ์อยู่ สิ่งเหล่านี้จะเข้าทางคุณที่เตรียมสไลด์ไว้เล่าสถานการณ์ด้านการลงโฆษณาการตลาดปัจจุบัน ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นคุณและเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหามากยิ่งขึ้น

3. สไลด์ที่ประกอบด้วยสินค้าและบริการหลักของบริษัท พร้อมเคล็ดลับ

หน้านี้คงไม่ยากเกินความสามารถของพวกคุณจนเกินไป สินค้าและบริการไหนที่คุณขาย คุณสามารถ “ยัด” ลงสไลด์สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณขายได้เลย เพียงแต่ผมขอมอบเคล็ดลับง่ายๆ ก็คือ “จำนวนบรรทัด” โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติ (Feature) ควรมีจำนวนไม่เกิน 6 บรรทัด เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ตัวหนังสือที่มากจนตาลายเกินไป และควรลงรูปภาพประกอบ เพื่อให้สไลด์นำเสนอมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ถ้าเป็นไปได้สำหรับการนำเสนอสินค้าที่ต้องการวีดีโอเคลื่อนไหว คุณสามารถแนบไฟล์วีดีโอลงสไลด์เพื่อเปิดให้ลูกค้าดูได้เลย

4. เน้นโทนสีเรียบๆ ตัวหนังสือตัดกับภาพพื้นหลังของสไลด์อย่างชัดเจน

สไลด์ที่มีความน่าเชื่อถือไม่ได้หมายความว่าจะต้องใส่สีสันมากมายจนเกินพอดี แถมยังฝืนความสามารถของคนที่ไม่ได้ถนัดการทำสไลด์อีกด้วย วิธีง่ายๆ ที่ควรทำคือการใช้สไลด์พื้นหลังสีขาว ตัวหนังสือสีดำ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายตาที่สุด อ่านง่าย และไปเน้นเรื่องรูปภาพที่น่าสนใจ เช่น ตัวสินค้า ผลงานที่ผ่านมา เป็นต้น ขอบอกเลยครับว่าเรื่องสีสันของสไลด์นั้นแทบไม่ได้ทำให้ลูกค้าอยากซื้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ถ้าพวกเขาไม่มีความต้องการ

5. ควรมีสไลด์ที่เสริมความน่าเชื่อถือด้านตัวเลข (ถ้าเป็นไปได้)

สำหรับการขายสินค้าที่อยู่ในรูปแบบโซลูชั่น (Solution) และตัวสินค้าหรือบริการสามารถคำนวนตัวเลขที่มีประโยชน์กับลูกค้าได้ (Return of Investment) เช่น การเพิ่มผลกำไรหลังใช้สินค้า การประหยัดค่าใช้จ่ายหลังติดตั้งโซลูชั่น การลดจำนวนพนักงานหลังจากเริ่มใช้งาน เป็นต้น ซึ่งคุณสามารถใช้เคสจากลูกค้าจริงประกอบการนำเสนอได้ เรื่องนี้จะเสริมความน่าเชื่อถือหลังจากที่นำเสนอเกี่ยวกับสินค้าและบริการมากทีสุด เพราะข้อมูลตัวเลขที่ผ่านการคำนวนมาแล้วจะทำให้ลูกค้าเห็นภาพที่ชัดขึ้น และเกิดเป็นความต้องการมากที่สุด

6. ควรมีสไลด์ที่ประกอบไปด้วยกรณีศึกษาทางธุรกิจ (Business Case)

บางทีสินค้าของคุณอาจไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเลข (ROI) แต่คุณสามารถเล่า Business Case ในรูปแบบต่างๆ โดยอ้างอิงจากข้อมูลของลูกค้าจริง เช่น คุณทำบริษัทด้านระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งกรณีศึกษาจากห้างแห่งหนึ่งที่เป็นลูกค้าคุณ (สามารถรักษาความลับเรื่องชื่อลูกค้าได้) ได้ทำการติดตั้งระบบของคุณจากตอนแรกที่คิดว่ามีความเสี่ยงด้านการลงทุน แต่หลังจากติดตั้งไปแล้วก็สามารถแก้ปัญหาหรือตรวจจับภัยอันตรายในรูปแบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ลูกค้าอุ่นใจและไว้วางใจ เป็นต้น

7. ควรมีสไลด์เกี่ยวกับงบประมาณการลงทุนคร่าวๆ

เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการทราบงบประมาณ ซึ่งถ้าพวกเขาถามนั่นก็หมายถึง “ข่าวดี” เพราะพวกเขาเริ่มมีความต้องการและอยากเห็น “ความเป็นไปได้” โดยคุณสามารถใส่ข้อมูลราคาแบบ “Pricelist” ที่บวกกำไรมาเรียบร้อยแล้ว หรือที่เรียกว่า “ราคาเผื่อต่อ” แต่อย่าให้สูงเกินตลาดมากนัก ไม่งั้นพวกเขาอาจจะมีข้อมูลของคู่แข่งอยู่ในมือมาเปรียบเทียบ ทำให้รู้สึกตกใจและ “ถีบคุณออกไป” จนความต้องการลดลงอย่างน่าเสียดาย


นี่คือวิธีการทำสไลด์แบบมืออาชีพที่ผมแทบไม่ได้พูดถึงเรื่องสีสันหรือการออกแบบอะไรทำนองนั้นเลย สไลด์ที่ยอดเยี่ยมคือสไลด์ที่พร้อมด้วยข้อมูลเชิงธุรกิจอย่างครบถ้วน เพื่อให้การเลือกนำเสนอกับลูกค้านั้นตรงกับพวกเขามากที่สุดนั่นเอง

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น